ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย คือ ควรกินในระยะสั้นเท่าที่จำเป็นและควรเลือกซื้อยาจากร้านที่มีมาตรฐานหรือร้านขาย ยา ที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา
หน้าแรก
ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย
A A
-+=
ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาแก้ปวด ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตัวยาสามัญประจำบ้านและได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยากลุ่มโอปิออยด์ เนื่องจากตัวยาเหล่านี้สามารถบรรเทาอาการปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและยาแก้ปวดบางตัวยังออกฤทธิ์ช่วยลดไข้ได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ยาแก้ปวดจะเป็ตยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่การใช้ยาแก้ปวดที่ผิดวิธีหรือการกินยาแก้ปวดมากเกินจำเป็นก็อาจสร้างผลเสียต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คาดคิด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ยาจึงควรศึกษาวิธีใช้ยาแก้ปวดอย่างเหมาะสม มาดูกันว่า ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาแก้ปวด มีกี่ชนิด ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ?

ยาแก้ปวดมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดโดยแต่ละตัวยามีคุณสมบัติในการออกฤทธิ์เพื่อการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ยาพาราเซตามอล (Paracetamal) และยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการแก้ปวด ลดไข้และลดบวมในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยยาพาราเซตามอลและยาแอสไพรินนับเป็นยาแก้ปวดชนิดต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมเนื่องจากหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป และราคาไม่แพง
  • ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาบรรเทาปวดชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์แรงกว่ายาพาราเซตามอลจึงเหมาะกับการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ยังช่วยลดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ลดรอยแผลปวดบวม ฟกช้ำ ลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายรวมถึงช่วยลดไข้และปวดประจำเดือน โดยยา NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน ไพรอกซิแคม ไดโคลฟีแนค เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 
  • ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เป็นยาแก้ปวดชนิดรุนแรงทำให้มียาบางชนิดในกลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของยาเสพติดให้โทษและต้องใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ได้แก่ ยา Codeine Fentanyl Morphine Pethidine Oxycodone ยาแก้ปวดในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช่วยลดสัญญาณความเจ็บปวดจากระบบประสาทและปฏิกิริยาของสมองต่อความเจ็บปวด ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางไปถึงรุนแรงทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น การบรรเทาอาการปวดหลังการผ่าตัดความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง อาการท้องเสียหรือไออย่างรุนแรง 

วิธีการใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกต้อง

ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย คือ การกินยาแก้ปวดควรกินในระยะสั้นเท่าที่จำเป็น สำหรับยาแก้ปวดที่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาพาราเซตามอลและยาแอสไพรินควรเลือกซื้อยาจากร้านที่มีมาตรฐานหรือซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น รวมถึงควรใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกต้อง ดังนี้

  • ควรกินยาแก้ปวดตามข้อบ่งชี้บนเอกสารกำกับยาหรือกินยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • ไม่ควรกินยาแก้ปวดเกินกว่าที่กำหนด เช่น ผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของตับปกติไม่ควรกินยาพาราเซตามอล เกินวันละ 8 เม็ด (ส่วนประกอบตัวยา 500 มิลลิกรัม/เม็ด) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียดก่อนใช้ยาแก้ปวดทุกชนิด
  • ควรเว้นระยะห่างของมื้อยาอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับหรือไตได้ 
  • ห้ามกินยาร่วมกับการสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพราะจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นและเพิ่มโอกาสต่อการเกิดภาวะตับล้มเหลว
  • ยาแก้ปวดใช้สำหรับรักษาหรือบรรเทาอาการปวด ไม่ได้ใช้สำหรับป้องกัน ดังนั้นห้ามกินยาแก้ปวดกันเอาไว้ก่อนมีอาการเพราะเป็นการใช้ยาเกินจำเป็น และอาจทำให้ใช้ยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ในกรณีที่ลืมกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลสามารถกินยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ และเว้นช่วงระหว่างมื้อยาประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงกินยาเม็ดถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย คือ ควรกินในระยะสั้นเท่าที่จำเป็นและควรเลือกซื้อยาจากร้านที่มีมาตรฐานหรือร้านขาย ยา ที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา

อันตรายจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินจำเป็น

ยาแก้ปวด ยาบรรเทาปวดลดไข้ที่ดูเหมือนเป็นยาสามัญทั่วไปและไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้ ยา แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดที่แนะนำก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกายได้ ดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีเหงื่อออกเยอะมากกว่าปกติ 
  • หลังกินยาแก้ปวดในกลุ่มยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน เกินขนาดภายในช่วง 24-48 ชั่วโมง มักพบเอนไซม์ทรานซามิเนส (Transaminase) เพิ่มสูงขึ้นในเลือดซึ่งเป็นเอนไซม์ที่บ่งชี้ว่าเกิดการอักเสบบาดเจ็บที่บริเวณตับ อาจทำให้ตับเสื่อมสภาพในระยะยาวหรือมีภาวะตับวายได้
  • ไตเสื่อมสภาพและทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการบวม ปัสสาวะออกน้อย 
  • การกินยาแก้ปวดเกินขนาดอาจทำให้เกิดแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง แสบท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ 
  • อาการในระยะที่มีการใช้ยาเกินขนาดในปริมาณมากหรือใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดมาเป็นเวลานานจะส่งผลให้ตับอักเสบ มีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับและอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ ยาแก้ปวด

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับหรือโรคไตควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรเพื่อเลือกใช้ชนิดยาแก้ปวดและปริมาณที่เหมาะสมงเพื่อความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ ไตหรือทำให้สุขภาพของตับหรือไตแย่ลง
  • ระมัดระวังไม่ใช้ยาแก้ปวดกับคนที่แพ้ยาชนิดนั้น ๆ หลังจากใช้ยาแล้วพบอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นคันหรือผื่นแดงขึ้นตามตัว รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีอาการบวมตามส่วนต่าง ๆ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ปัสสาวะออกน้อย ให้หยุดใช้ยาและควรปรึกษาแพทย์ทันที 
  • ระมัดระวังการใช้ตัวยาแก้ปวดซ้ำซ้อนโดยไม่ตั้งใจเพราะอาจทำให้ได้รับปริมาณตัวยาเกินกำหนด เช่น การกินยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับยาอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของยาแก้ปวดหรือยาบรรเทาอาการของโรคไข้หวัด 
  • ยาแก้ปวดบางชนิดมีฤทธิ์กัดกร่อนกระเพาะอาหารหรือทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารจึงไม่ควรกินยาขณะท้องว่าง เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน ไพร็อกซีแคม และผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารควรใช้ยากลุ่มนี้อย่างระมัดระวัง
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์ด้วยตัวเองเนื่องจากมียาบางชนิดที่จัดเป็นสารเสพติดให้โทษแก่ร่างกาย เช่น ยามอร์ฟีน ยาทรามาดอล (Tramadol) อาจทำให้เกิดการใช้ยาเกินขนาดและมีภาวะเสพติดยาได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ตลอดไปจนถึงทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลวเฉียบพลันจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ 

สรุป

ยาแก้ปวด ยาบรรเทาปวด มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ยาพาราเซตามอล และยาแอสไพรินที่ออกฤทธิ์แก้ปวดได้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ผู้ป่วยสามารถหาซื้อยาได้จากร้านค้าหรือร้านขายยาทั่วไป ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ที่ออกฤทธิ์บรรเทาปวด ลดอาการอักเสบในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร และยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ที่ออกฤทธิ์รุนแรงและต้องควบคุมการใช้มากเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาแก้ปวดผู้ป่วยควรศึกษาวิธีกินยาอย่างเหมาะสม กินยาแก้ปวดตามข้อบ่งชี้บนฉลากยาและคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ไม่กินยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็นหรือกินยาแก้ปวดกันเอาไว้ล่วงหน้า เพราะอาจเสี่ยงทำให้ได้รับตัวยาเกินขนาดจนส่งผลให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาแก้ปวด เช่น เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร มีอาการปวดท้อง แสบท้อง ตับและไตอักเสบ และในระยะรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ข้อมูลจาก

ภญ.นันทพร เล็กพิทยา 

หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/

Website Rama mahidol : https://www.rama.mahidol.ac.th/

Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคภูมิแพ้ตา อาการเรื้อรังที่ไม่ควรละเลย
โรคภูมิแพ้ตามีอาการคัน แดง น้ำตาไหล หากปล่อยไว้อาจเรื้อรังและส่งผลต่อการมองเห็น ควรดูแลและรักษาเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน
บทความสุขภาพ
07-11-2024

0

ผดผื่นคัน หน้าร้อน ทำให้ระคายเคืองผิว ควรดูแลผิวให้สะอาด เลือกใส่เสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
ผดผื่นคัน มักเกิดในหน้าร้อน ทำให้ระคายเคืองผิว ควรดูแลผิวให้สะอาด เลือกใส่เสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
บทความสุขภาพ
06-11-2024

4

ภาวะไตเสื่อมจากโรคเบาหวานเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงทำลายไต ควรควบคุมระดับน้ำตาลและตรวจสุขภาพไตเป็นประจำเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
บทความสุขภาพ
05-11-2024

8

โรคกระดูกพรุน คืออะไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงเป็น
รู้สัญญาณเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เช่น น้ำหนักน้อย ขาดแคลเซียม และไม่ออกกำลังกาย ควรตรวจสุขภาพกระดูกและปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเสื่อมก่อนวัย
บทความสุขภาพ
05-11-2024

4