พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง
เรื่อง การประสานงาน สนับสนุนข้อมูล และการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการ
และสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานคณบดี ชั้น 5 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การประสานงาน สนับสนุนข้อมูล และการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็นคณะทำงานร่วมกันเต่อยอดโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษของประเทศไทย (Thai National Antidotes Program) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยากลุ่มนี้ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) อันเป็นความร่วมมือที่สำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางการสาธารณสุขตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations)
ผู้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การประสานงาน สนับสนุนข้อมูล และการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ
ให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่
โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานและประธานในพิธี
ที่มาของความร่วมมือ
ศูนย์พิษวิทยา ภายใต้ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับหน่วยงานภายในประเทศ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมพิษวิทยาคลินิก ในการดำเนินงาน “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษในประเทศไทยและช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับพิษหรือถูกงูพิษกัดสามารถเข้าถึงยาได้อย่างสะดวก เหมาะสม ทันการณ์ และลดอัตราตายของผู้ป่วย ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศในการจัดสรรยาได้ ทำให้โครงการนี้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
ต่อมา ผลการดำเนินงานของโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษได้ถูกนำเสนอในการประชุมของ WHO SEARO เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าหลักการบริหารจัดการยาต้านพิษของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่มีนโยบายให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดหายาและเวชภัณฑ์บางชนิดร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มยาที่หายาก เช่น ยากำพร้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยาและภาระงบประมาณการจัดซื้อยาของแต่ละประเทศลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรง โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถให้ความช่วยเหลือแบ่งปันยาต้านพิษให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนยาเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะพิษมาก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น การให้ความช่วยเหลือด้าน Methylene blue ในไต้หวัน (ปี 2011) การให้ความช่วยเหลือด้าน Calcium disodium edetate and dimercaprol ในเมียนมาร์ (ปี 2013) การให้ความช่วยเหลือด้าน Dimercaprol ในอินเดีย (ปี 2014) การให้ความช่วยเหลือด้าน Botulism ในไนจีเรีย (ปี 2018) การให้ความช่วยเหลือด้าน Botulism antitoxin ในเวียดนาม (ปี 2020) และการให้ความช่วยเหลือด้าน Calcium disodium edetate ในมาเลเซีย (ปี 2020)
การจัดตั้งโครงการ iCAPS
องค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นชอบที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยาต้านพิษของภูมิภาคนี้ และขยายผลจากโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษนี้ไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคมาประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ (Informal expert consultation on coordinated procurement of antidotes in the South-East Asia Regionเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ทำให้มีการจัดตั้ง “โครงการบริหารจัดการและสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “Initiative for Coordinated Antidote Procurement in South-East Asia Region (iCAPS)” เพื่อดำเนินการจัดหายาต้านพิษใน 2 ลักษณะ คือ
1) การจัดหายาและส่งยาต้านพิษเพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน (Emergency response pathway) ร่วมกันจัดซื้อ จัดหายาเพื่อเตรียมให้พร้อมใช้ในภาวะปกติ (Annual procurement pathway) โดยศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการหลักร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และ WHO SEARO
ภายหลังจากจัดตั้งโครงการ iCAPS หน่วยงานในประเทศที่ร่วมทำงานนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระดับนานาชาติ ร่วมหาแนวทางการทำงาน กำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยได้มีการประสานหน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมทำให้ปัจจุบันการดำเนินงานโครงการ iCAPS เป็นความร่วมมือระหว่าง WHO SEARO กับหน่วยงานของประเทศไทย 5 หน่วยงาน
บทบาทของทั้ง 6 หน่วยงานในความร่วมมือครั้งนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการความร่วมมือจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี จึงได้จัดทำช่องทางการติดต่อและประสานงานมายังโครงการ iCAPS เพื่อแจ้งและขอจัดสรรยาต้านพิษทั้งภาวะฉุกเฉินและปกติ ได้ที่ เว็บไซต์ https://www.rama.mahidol.ac.th/icaps/
รายการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษในความร่วมมือครั้งนี้