การแพ้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา

Bulletin (July - September 1998 Vol.6 No.3)  

          ยางพารา (Para rubber tree, Hevea brasiliensis) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันยางธรรมชาติ (natural rubber latex) ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆมากมายหลายชนิดเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ในทางด้านการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลชนิดต่างๆ ตลอดจนวัสดุที่ใช้ในสำนักงานและบ้านเรือนทั่วไป (ตารางที่ 1) การใช้ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้คนทั่วไปมีโอกาสสัมผัสกับยางพารามากขึ้นด้วย ปัญหาต่อสุขภาพที่มีรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การแพ้ยางพารา

             ถุงมือก็เป็นผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เราใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มือต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคชนิดต่างๆ ท่านทราบหรือไม่ว่าถุงมือเหล่านี้ สามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ พวกที่ทำงานทางการแพทย์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้มากกว่า ซึ่งอาการแพ้ดังกล่าวมีตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อย เช่น มีผื่นคันไปจนถึงก่อให้เกิดอาการช็อคได้ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วอาการแพ้รุนแรงมักเกิดเฉพาะกลุ่มคนที่สัมผัสกับยางธรรมชาติเป็นเวลานานเท่านั้น มีการรายงานกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับอาการแพ้ที่เกิดจากการใช้ถุงมือ ซึ่งจะพบว่าส่วนมาก เป็นบุคลากรทางด้านการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ (ตารางที่ 2) การศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 1-6 ของประชากรอเมริกันทั่วไป และร้อยละ 8-12 ของผู้ที่สัมผัสกับยาง (latex) เป็นประจำ ได้รับการ sensitized ต่อยางแล้ว และร้อยละ 54 ของกลุ่มคนที่ sensitized แล้วมีอาการหรืออาการแสดงของหืดที่เกิดจากยาง (latex asthma) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2-5 ของประชากรอเมริกันทั้งหมด

จากการศึกษาพบว่าปัญหาการแพ้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติไม่ได้เกิดจากยางสังเคราะห์ (synthetic rubber) ทั้งนี้เชื่อว่าทั้งสารเคมีที่ผสมลงไปในขั้นตอนการผลิตและโปรตีน บางชนิดที่อยู่ในยางพาราเอง เป็นสาเหตุของอาการแพ้ที่เกิดขึ้น อาการแพ้ดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ

  1. Irritant contact dermatitis เป็นการแพ้ที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ถุงมือเป็นประจำ ผิวหนังบริเวณที่สัมผัส จะเกิดอาการระคายเคือง แห้ง และคัน
  2. Allergic contact dermatitis (delayed hypersensitivity) การแพ้ชนิดนี้เกิดจากสารเคมีที่ใช้ผสมลงไปในขั้นตอนการผลิต อาการจะเกิดขึ้นใน 24-48 ชั่วโมงหลังสัมผัส อาการที่เกิดขึ้นได้แก่ มีผื่นคัน ซึ่งต่อไปอาจจะเป็นตุ่มพองและ ขยายวงกว้างกว่าบริเวณที่สัมผัส
  3. Latex allergy (immediate hypersensitivity) เป็นการแพ้ชนิดที่อันตราย เชื่อว่าเกิดจากการกระตุ้นของโปรตีนที่อยู่ในยางพาราเอง อาการจะเกิดเร็วในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมง เริ่มจากการมีผิวหนังแดงๆ หรือผื่นคล้ายลมพิษ คัน บางรายมีผลต่อระบบทางเดินหายใจคือ มีน้ำมูกไหล ไอ จาม ระคายเคืองในคอ ในรายที่รุนแรงจะมีอาการหายใจลำบาก หอบหืด และช็อคได้ ซึ่งอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจะเหมือนการได้รับพิษจากผึ้งต่อย
ในแง่ของการรักษามักเป็นการรักษาตามอาการคือ ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสควรใช้สบู่อ่อนและล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้antihistamineรับประทานหรือฉีดในกรณีที่เป็นมาก บริเวณผิวหนังที่เป็นผื่นคันให้ทาด้วยครีมที่ประกอบด้วยtopical corticosteroid ในรายที่มีอาการรุนแรงคือ มีอาการหอบหืด หรือ ช็อค ให้ทำการรักษาเหมือนหอบหืดและภาวะช็อคทั่วๆไป
 
การป้องกันจะให้ผลดีกว่าในกรณีที่ทราบแน่ชัดว่ามีอาการแพ้ยางธรรมชาติ ซึ่งจะทราบได้จากประวัติการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติร่วมกับการทำ skin test และสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองแพ้ยางธรรมชาติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการทดสอบให้แน่ชัด สำหรับแนวทางการป้องกันมีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยางธรรมชาติเช่น ใช้ถุงมือที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ถุงมือจากยางธรรมชาติ ไม่ควรใช้น้ำมันหรือโลชั่นทามือเพราะน้ำมันจะทำลาย barrier integrity ของถุงมือทำให้โอกาสสัมผัสกับโปรตีนจากยางธรรมชาติมีมากขึ้น ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้หลังจากถอดถุงมือแล้วให้ล้างมือด้วยสบู่อ่อนๆ และเช็ดให้แห้ง
2. ควรตระหนักถึงอาการจากการแพ้ยางธรรมชาติด้วย ถ้ามีอาการต่อไปนี้คือ ผิวหนังแดง มีผื่นขึ้น คัน หรือผื่นลมพิษ มีน้ำมูกไหล หายใจลำบาก หรือหอบหืด
3. ในคนงานที่ต้องสัมผัสกับยางธรรมชาติ ควรมีการให้ความรู้ในการป้องกัน และมีการเปลี่ยน ventilation filter และ vacuum bag ในพื้นที่ที่มีการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิต
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
  1. The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). Alert preventing allergic reaction to natural nubber latex in the workplace. DHHS (NIOSH) Publication. http:// www.cdc.gov/niosh/homepage.html, 1997.
  2. U.S. Food and Drug Administration. Natural rubber latex allergy. FDA Medical Bulletin. http:// www.fda.gov/medbull/natural.html,1997.
  3. The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH). Alert on work related latex allergy recommends steps to reduce exposures. HHS Press Release. http:// www.cdc.gov/niosh/latexpr.html, 1997.
  4. Plant dermatitis. Poisindex : Clinical Computerized Information System. Vol. 97 ,1998