การบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน Home Chemotherapy

 

การบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน
( Home Chemotherapy)

 

         อุบัติการณ์โรคมะเร็งมีอัตราเพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่โรงพยาบาลมีข้อจำกัดของสถานที่ และจำนวนเตียงบริการผู้ป่วยในมีจำกัด  ทำให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่รับยาเคมีบำบัดแบบผู้ป่วยในล่าช้า ไม่สามารถเข้ารับการรักษาตรงตามเวลาที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของการรักษาลดลง ผู้ป่วยและญาติเกิดความเครียด วิตกกังวลถึงความไม่แน่นอนของการรักษา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต

         โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีการพัฒนาระบบบริการแบบใหม่โดยให้ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการบริหารยาเคมีบำบัดที่บ้าน  ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า โครงการบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน (Home Chemotherapy RAMA Model : HCRM) หวังผลเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ท่าน โดยคำนึง ถึงความปลอดภัยในการบริหารยาและคงประสิทธิภาพของการรักษา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาล นอกจากนี้การบริหารยาเคมีบำบัดที่บ้านช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติใช้ชีวิตประจำวันใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด บางท่านสามารถไปทำงานได้ในขณะรับยาเคมีบำบัด

• ใครที่จะสามารถเข้ารับบริการได้บ้าง       

         1. ผู้ป่วยได้รับยาฟลูออโรยูราซิล หรือ 5-FU แบบต่อเนื่องทางหลอดเลือดดำประมาณ 2-5 วัน ซึ่งเป็นยาร่วมรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งบริเวณศีรษะ/ลำคอ

         2. ผู้ป่วยต้องใส่สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง ได้แก่ พอร์ต พิคไลน์ เป็นต้น

         3. ผู้ป่วยมีที่พักอาศัยไม่ห่างไกลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

         4. ผู้ป่วยและญาติยินดีและมีความพร้อมในการดูแลตนเอง และอุปกรณ์การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้านได้

• คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ home chemotherapy        

         1: ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าอุปกรณ์บริหารยาทำงานหรือไม่

          เนื่องจากการไหลของยาในกระเปาะเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างยาก แต่สามารถสังเกตได้จากขนาดของกระเปาะที่เล็กลงโดยการคลำ ควรสังเกตวันละสองครั้ง คือเวลาเช้า และเวลาเย็น ต้องเช็คให้แน่ใจว่าได้เปิดแคลมป์ สายให้ยาไม่มีการหัก พับงอ หากพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของกระเปาะยา โดยไม่มีการแฟบลงหรือมีขนาดเล็กลง ให้โทรสายด่วนติดต่อเจ้าหน้าที่ เบอร์ 091-7746381 หรือ 02-2003614-5

         2: ท่านจะทราบได้อย่างไรว่ายาหมด

          สังเกตจากการสัมผัสโดยการคลำขนาดของกระเปาะยา สังเกตความตึงของกระเปาะให้ยา หากยาหมด กระเปาะยาจะแฟบแนบกับแกนด้านใน คลำไม่ได้ ยืดหยุ่น

         3: หากบริหารยาหมดแล้ว ควรทำอย่างไร

          เมื่อบริหารยาหมดแล้ว** ห้ามถอดอุปกรณ์บริหารยาด้วยตนเอง** ให้ติดต่อพยาบาลหน่วยบำบัดระยะสั้น ที่ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อมารับการถอดอุปกรณ์และรับการดูแลสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (ฉีดยาเฮพารินป้องกันลิ่มเลือด) ใน วันเวลาตามที่ได้นัดหมายไว้

         4: หากบริหารยาหมดก่อนเวลานัดหมาย ควรทำอย่างไร

                  • เมื่อบริหารยาหมดก่อน วัน เวลาที่นัดหมายภายใน 1 วันให้มาตามวัน เวลา ที่นัดหมายไว้ดังเดิม

                  • หากหมดก่อนเวลาที่นัดหมายมากกว่า 1 วัน ให้รีบติดต่อพยาบาลประสานงาน ที่ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อมารับการถอดอุปกรณ์และรับการดูแลสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (ฉีดยาเฮพารินป้องกันลิ่มเลือด) ได้ทันที

          5: ควรจะพกพาหรือเก็บอุปกรณ์บริหารยาที่บ้านอย่างไร

          ควรเก็บรักษาอุปกรณ์บริหารยาภายใต้เสื้อผ้า หรือ ในกระเป๋า และควรวางในระดับเดียวกับร่างกายขณะนอนหลับ และไม่ต่ำกว่าระดับเอวขณะนั่งหรือยืน

          6: หากมีการหลุดของข้อต่อต่างๆ หรือเกิดการรั่วซึมของอุปกรณ์บริหารยา ควรทำอย่างไร

          หยุดให้ยาทันที โดยการปิดแคลมป์ และให้ผู้ทำความสะอาดใส่หน้ากาก, ถุงมือ แล้วใช้กระดาษทิชชูซับ หรือใช้น้ำสะอาดล้าง และใช้ผงซักฟอกหรือสบู่ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ปนเปื้อน จากนั้นเก็บขยะที่ปนเปื้อนทั้งหมดใส่ถุงขยะ ปิดถุงขยะให้มิดชิด ติดต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ส่งคืนโรงพยาบาลเพื่อกำจัดอย่างปลอดภัย

          7: ท่านสามารถอาบน้ำขณะใช้อุปกรณ์บริหารยาที่บ้านได้หรือไม่

          ท่านสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ กรณีอาบน้ำในอ่างอาบน้ำห้ามแช่อุปกรณ์หริหารยาในน้ำ หลีกเลี่ยงบริเวณเข็มพอร์ตไม่ให้สัมผัสน้ำ

          8: ท่านสามารถเดินทางได้ปกติหรือไม่

          สามารถเดินทางได้ตามปกติขณะที่บริหารยาโดยใช้อุปกรณ์บริหารยาที่บ้าน

          9: ท่านสามารถออกกำลังกายขณะใช้อุปกรณ์บริหารยาที่บ้านได้หรือไม่

          ท่านสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยต้องเก็บอุปกรณ์ยาในเสื้อผ้าหรือกระเป๋า และระวังการดึงรั้งของสาย

         10: ท่านสามารถนอนหลับขณะที่บริหารยาโดยใช้อุปกรณ์นี้ได้หรือไม่

          ท่านสามารถนอนหลับขณะบริหารยาได้ โดยไม่นอนกดทับกระเปาะหรือสายให้ยา

         11: หากมีอาการ ปวด บวม แดงบริเวณผิวหนัง บริเวณพอร์ต หรือ บริเวณบริหารยา

          ให้โทรสายด่วนเพื่อติดต่อพยาบาลทันที เบอร์โทร  091-7746381 หรือ  02-2003614-5

 

• คู่มือการดูแลตนเองและเครื่องมือ Elastomeric pump

 

 

 

 

***หากท่านมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการบริหารยาเคมีบำบัดสามารถโทรสายด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง***
เบอร์โทร: 091-7746381 หรือ 02-2003614-5 ได้ทันที***