ฉบับที่ 36

สวัสดีคุณผู้อ่านนิตยสาร @Rama ทุกท่านครับ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย พันธกิจในด้านการศึกษาผลิตบุคลากรทางการแพทย์ พันธกิจด้านวิจัยผลิตนวัตกรรมผลงาน และพันธกิจด้านบริการวิชาการในการให้ความรู้เสริมความเชี่ยวชาญ ซึ่งที่ผ่านมารามาธิบดีได้พัฒนาการดำเนินงานในพันธกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้รามาธิบดีได้รับความภาคภูมิใจจากรางวัลและมาตรฐานคุณภาพที่ได้รับ อาทิ การได้รับรองมาตรฐานโรงพยาบาล Advanced Healthcare Accreditation (AHA) มาตรฐานสถานพยาบาลระดับสากล Joint Commission International (JCI) มาตรฐาน ISO และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศระดับ Thailand Quality Class (TQC)

รามาธิบดีมีความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพ และดำเนินการตามพันธกิจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อผู้ป่วย ทั้งในการให้บริการที่ได้มาตรฐาน การนำเทคโนโลยีผนวกเข้ากับผลงานใหม่เกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถต่อยอดการรักษาไปสู่อนาคตได้ รวมถึง การพัฒนางานวิจัยให้เป็นเลิศเพื่อรับใช้สังคมในบริบททางการแพทย์ที่สำคัญ เหล่านี้คือความตั้งใจจริงในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและมีความต่อเนื่องอย่างแท้จริง

กระผมในนามตัวแทนของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานในทุกพันธกิจของรามาธิบดีเพื่อให้ได้มาตรฐาน ถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาของเรา และในอนาคตการเชื่อมโยงกันในระบบสุขภาพจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ประชาชนชาวไทย

ในระหว่างสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ ดูแลสุขภาพและปฏิบัติตัวตามมาตรฐานทางการแพทย์กันทุกท่านด้วยครับ

ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

นิตยสาร @Rama: รักษ์โลก รักษ์รามาฯ พกถุงผ้า ลดโลกร้อน
บทบรรณาธิการ: 

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน ในฐานะบรรณาธิการใหม่ ขอฝากเนื้อฝากตัวกับคุณผู้อ่านทุก ๆ ท่านนะคะ และขอขอบพระคุณท่านรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร ผศ. นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร และ รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ที่เชื่อมั่นให้รับผิดชอบภารกิจนี้ โดยเฉพาะ รศ. พญ.โสมรัชช์ ซึ่งนอกเหนือจากการให้คำแนะนำแก่บรรณาธิการใหม่แล้ว ยังรับเป็นที่ปรึกษาของนิตยสาร @Rama อีกด้วย จะขอทำหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ และขอรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนานิตยสารวาไรตี้สุขภาพดี @Rama ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คงความรู้คู่ควรคุณผู้อ่านและทันสมัย โดยท่านสามารถเสนอข้อคิดเห็นได้ตาม QR Code ด้านล่างค่ะ

สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้มีหัวข้อน่าสนใจมากมายค่ะ เริ่มต้นกันด้วยเรื่องสำคัญจากปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน คือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ทุกคนกังวลใจกันอย่างมาก โรคนี้แพร่ระบาดไปทั่วทุกประเทศ ก่อเกิดผลกระทบอย่างมากมายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรทั้งโลก ขอให้คุณผู้อ่านปฏิบัติตนตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” รวมทั้งแจ้งประวัติต่อแพทย์ว่าได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมใน @Rama ฉบับนี้มีเรื่องราวล่าสุด ณ เวลาที่เขียนต้นฉบับ เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาฝากเพื่อให้ทุกท่านได้รับมือกันได้อย่างถูกต้องค่ะ อย่างไรก็ตามขอให้ท่านผู้อ่านติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดด้วย

เรื่องมลภาวะฝุ่นพิษ หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อผู้คน ฉบับนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับ PM 2.5 มาฝากให้ได้รับทราบกันในอีกแง่มุมหนึ่งว่า คนกรุงที่ต้องเผชิญกับฝุ่นละอองบนท้องถนนและริมทางเท้า มีวิธีการใช้ชีวิตกันอย่างไรท่ามกลางฝุ่นละอองที่ยังปรากฏอยู่เช่นทุกวันนี้

จากเรื่องของฝุ่นพิษ เรามีเรื่องของ รุกขกร : หมอต้นไม้ผู้ต่อลมหายใจให้รากแก้ว อาจเป็นคำตอบสำหรับมลภาวะฝุนพิษบนโลกยุคนี้มานำเสนอ ร่างกายคนเราจำต้องมีหมอดูแล ต้นไม้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีหมอต้นไม้ หรือหมอผ่าตัดต้นไม้เป็นผู้รักษาบำรุงต้นไม้ให้เติบโตและเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง พร้อมจะผลิตออกซิเจนเผื่อแผ่แก่มวลมนุษย์ นอกจากนั้นเรามีเรื่องของยาที่ใช้รักษาผื่นที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จากฝุ่นมาฝากด้วยค่ะ แต่จะมียาอะไรกันบ้าง ติดตามในคอลัมน์ Rama RDU ได้เลยค่ะ

คอลัมน์ Easy Living มีเรื่องราวดีดีจาก อ. ทพญ.นัยนา บูรณชาติ อาจารย์ทันตแพทย์สาขาทันตกรรมทั่วไป ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เล่าเรื่อง “คุณค่าจากฟันปลอม” ประสบการณ์จากการดูแลคนไข้ด้วยจิตวิญญาณ สิ่งใดที่ทำให้เกิดความสุขได้จากเรื่องราวนี้ เราไปติดตามกันค่ะ คอลัมน์ Believe it or not มีเรื่องราวความเชื่อในรอบปีนี้ มีทั้งเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมาเป็นปัญหาใหญ่ให้คนไทยได้วุ่นวายใจกันอีกครั้ง เรื่องเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช เราจะมีวิธีผ่านความเศร้ากับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร ติดตามอ่านในคอลัมน์ได้เลยค่ะ

นอกจากที่กล่าวไว้แล้ว ฉบับนี้เพิ่มคอลัมน์น้องใหม่ “ฟุดฟิดฟอไฟกับรามาฯ” ขอประเดิมกันด้วยการนำเสนอที่มาของคำว่า Pollution คำ ๆ นี้ มีรากศัพท์ที่มาอย่างไรกัน ท่านผู้อ่านที่สนใจเปิดอ่านโดยพลัน

ปิดท้ายฉบับนี้กันด้วยแฟชั่นเก๋ ๆ ใครว่าถือถุงผ้าไม่เท่ พลิกไปดูปกกันอีกสักครั้งนะคะเพื่อดูว่า ผู้บริหารคนสำคัญแห่งรามาธิบดี ร่วมรณรงค์ถือถุงผ้าแล้วหล่อเพียงใด ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังเก๋ไก๋ดูดีมีสไตล์อีกด้วยนะคะ

ผศ. พญ.จริยา ไวศยารัทธ์
บรรณาธิการนิตยสาร @Rama

เนื้อหาภายในฉบับที่ 36