คำถามเกี่ยวกับการเก็บคะแนน

Frequent answer and questions (FAQs)

 

1. Q : ต้องสอบไหม ถ้ามีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ จริง?

    A : เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 มีมติว่า จะไม่ใช้การสอบเป็นเงื่อนไข เมื่อเก็บสะสมคะแนนได้ครบตามเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้ ก็สามารถนำมาต่อใบอนุญาตได้เลย ซึ่งจะมีอายุต่อไปอีก 5 ปี มติกรรมการชุดใหม่ก็เห็นชอบตามนี้ด้วยเช่นกันครับ

2. Q : เมื่อมีประกาศใช้กฏหมายหรือข้อบังคับแพทยสภาในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ จะบังคับใช้กับแพทย์ทุกคนหรือไม่?

    A : ยังเป็นข้อพิจารณาอยู่ครับ ในความเห็นของผู้ใหญ่หลายท่าน เห็นว่าประกาศใช้ปีไหน ก็มีผลบังคับใช้กับแพทย์ที่จบการศึกษาในปีนั้น เป็นต้นไป แต่ในข้อบังคับของสาขาวิชาชีพฯ อื่นๆ ที่ได้ประกาศใช้แล้ว อาจจะมีข้อโต้แย้ง ซึ่งแพทยสภากำลังพิจารณาในเรื่องนี้อยู่

3. Q : ถ้าไม่ปฏิบัติตาม จะมีบทลงโทษอย่างไร หรือไม่?

     A : ขณะนี้ยังไม่มีบทลงโทษครับ แต่ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งบางประเทศในเอเซีย ได้กำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน เช่น ไม่รับเข้าทำงานในสถานพยาบาล รวมทั้งมีผลต่อการพิจารณาที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนด้วย

4. Q : ผมเป็นแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ต่างจังหวัด ซึ่งไม่มีการเรียนการสอน แต่อ่านหนังสือและวารสารทางการแพทย์เสมอๆ จะมีทางได้ 100 หน่วยกิตคะแนน ภายใน 5 ปี หรือไม่?

    A : สามารถทำการสะสมคะแนนได้ตามเกณฑ์ โดยไม่ยาก ดังนี้ เช่น

        - เข้าประชุมวิชาการประจำปีของราชวิทยาลัย/วิทยาลัยที่ท่านเป็นสามาชิก ปีละ 3 วัน ก็จะได้แล้ว 18 หน่วยกิต/ปี ถ้าไปฟังการบรรยายพิเศษ หรือการสัมมนาทางวิชาการที่โรงพยาบาลหรือสถาบันทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจัด ก็จะได้อีกหลายหน่วยกิต ไม่ยากครับ ที่สำคัญคือได้ความรู้กลับบ้านด้วย

        - ตอบคำถามจากสื่อการศึกษาต่อเนื่อง 1 ชุด มี 5 ข้อจะได้ 1 หน่วยกิต ซึ่งสามารถหาสื่อเหล่านั้นได้จาก MIMS CME, CME PLUS และ Medical Time CME จากกิจกรรมที่ ศ.น.พ. กำหนดให้มีแบบทดสอบต่อไป สรุปว่าได้ทั้งคะแนน ได้ทั้งความรู้ ซึ่งจะทำตอนอยู่เวร หรือตอนไหนก็ได้

        - ในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล ย่อมต้องมีโอกาสที่จะสอนพยาบาล พนักงานผู้ช่วยหรือให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งจัดอยู่ในกิจกรรมประเภทการสอน ดังนั้นถ้าสอนทุกเดือน ปีละ 12 ครั้งๆ ละ 2 หน่วยกิต/คาบการสอนในหนึ่งปีก็จะได้ 24 หน่วยกิต รวม 5 ปี จะได้ 120 หน่วยกิต

5. Q : ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง ไม่มีเวลาไปเข้าประชุมวิชาการที่ไหนหรอก วันๆ ก็มีประชุมบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลก็หมดแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะมีคะแนนครบได้?

    A : ศ.น.พ. มองเห็นความสำคัญของแพทย์ผู้บริหาร ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาวิชาชีพแพทย์เช่นกัน งานสาธารณสุขจะไม่มีทางถึงประชาชนได้ถ้าขาดผู้บริหาร ดังนั้นการเก็บคะแนนจะเป็นไปได้ ดังนี้

        - อยู่ในประเภทกิจกรรม ที่มีชื่อว่า การประชุมบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชุม 1 ครั้ง จะได้ 1 หน่วยกิต ถ้าใน 1 ปี ประชุม 10 ครั้งก็ได้แล้ว 10 หน่วยกิต โดยไม่ต้องส่งหลักฐานอื่นใดเลย นอกจากกรอกแบบฟอร์มพร้อมลายเซ็นผู้อำนวยการฯ ซึ่งก็คือตัวท่านเองและส่งให้สถาบันหลักหรือสถาบันสมทบที่ท่านสังกัดอยู่เป็นผู้รวบรวมให้

        - ที่กระทรวงมีประชุมวิชาการประจำปี ภายใน 5 ปี ขอให้ท่านมาเข้าร่วมประชุมสัก 3 ครั้งๆ ละ 3 วันๆ ละ 8 ชั่วโมง ท่านก็จะได้ไป 72 หน่วยกิต มาถึงตรงนี้ รวมกับคะแนนสะสมจากการประชุมบริหารก็จะได้เกินที่แพทยสภาบังคับไว้ที่ 100 หน่วยกิต ภายใน 5 ปี แล้วครับ

        - นอกจากนี้ ในปีหนึ่งๆ ท่านพิจารณาโครงการของแพทย์ พยาบาล หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ฯ ท่านก็จะได้โครงการละ 2 หน่วยกิต ไม่จำกัดจำนวน ภายใน 5 ปี สมมุติท่านพิจารณาไปทั้งหมด 15 โครงการ ท่านก็จะได้ทั้งหมด 30 หน่วยกิต เพียงแต่ส่งใบปะหน้าโครงการพร้อมกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอขึ้นทะเบียนกิจกรรมไปยังสถาบันหลักที่ท่านสังกัดอยู่

        - นี่ยังไม่รวมกิจกรรมที่ท่านอาจจะเป็นวิทยากร ในการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร หรือให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งก็จะได้หน่วยกิต ตามจำนวนคาบการสอน เห็นไหมครับว่า ไม่ยากเลย

6. Q : ดิฉันอายุก็มากแล้วทำคลินิกมาตั้งแต่จบแพทย์ เช้า-กลางวัน-เย็น ก็อยู่แต่คลินิก ลูกหลานโตหมดแล้ว อยากจะเลิกทำเหมือนกัน แต่คนไข้ยังขอร้องให้ทำต่อ ดิฉันก็คิดว่าการศึกษาต่อเนื่องนั้นเป็นประโยชน์กับวิชาชีพของเรา เพราะว่ายิ่งรู้มากก็อยากเอาใช้ประยุกต์กับคนไข้ของเราได้มากเช่นกัน ช่วยแนะนำให้ด้วยว่าจะทำอย่างไรดีคะ?

    A : วิชาชีพของเราต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ ซึ่งประชาชนจะตรวจสอบได้ ปัจจุบันนี้ประชาชนทั่วไปก็สามารถสืบหาข้อมูลทางการแพทย์ได้หมดแล้ว ดังนั้นการเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องที่จัดขึ้น ซึ่งจะมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาสรุปถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการในหลายๆ หัวข้อ ดังนั้นจะขอแนะนำว่า

       - ปิดคลินิกหรือหาน้องๆ มาอยู่แทนในช่วงที่ไปอบรม ปีละ 3 วัน นัดแนะกับเพื่อนสนิทไปประชุมด้วย พักผ่อนไปด้วย สังสรรค์กับเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน จะเป็นการช่วยเติมสีสันให้กับชีวิต เพิ่มกำลังใจในการประกอบวิชาชีพที่มีเกียรติต่อไป ได้หน่วยกิตคะแนนด้วย ทำครบ 5 ปี ก็ได้ 90 หน่วยกิต ถ้ายังไม่สะใจ ก็ซื้อเทปวิชาการที่บรรยายไปแล้ว กลับไปฟังซ้ำที่บ้านและตอบคำถาม 5 ข้อ ก็จะได้อีก 1 หน่วยกิต ต่อเทปการบรรยาย 1 เรื่อง

        - จากเกณฑ์ใหม่นี้ ไม่จำกัดว่าท่านจะได้มาจากกิจกรรมจากกลุ่มใด เช่น ท่านสามารถทำแบบทดสอบประมาณ 10-15 ชุดมาตรฐานจากสื่อทางวิชาการ/ปี ท่านก็จะได้ 20-30 หน่วยกิตคะแนนสะสม/ปี อย่างง่ายดาย

7. Q : ผมทำงานเป็นแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาล 90 เตียง มีแพทย์ทั้งหมดอยู่ 5 คน ตัวผมเองไม่มีตำแหน่งบริหารอะไร ตกเย็นก็เปิดคลินิกคนไข้มากมาย ผมจะทำอย่างไรจึงจะได้หน่วยกิตคะแนน ครบตามเกณฑ์?

    A : ในกรณีนี้ สามารถทำกิจกรรมได้ดังนี้

        - การประชุมวิชาการประจำปีของสาขาวิชาที่คุณจบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหรือกรณีไม่ได้ฝึกอบรมใดๆ ก็สามารถมาฟื้นฟูวิชาการหรือเข้าประชุมวิชาการประจำปีของราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันก็ได้ มาประชุม/อบรม 2-3 ครั้งภายใน 5 ปีๆ ละ 3 วัน (บอกคนไข้ที่คลินิกล่วงหน้าหลายสัปดาห์ก็ไม่น่ามีปัญหา) ท่านก็จะได้ 36-54 หน่วยกิต และภายใน 5 ปี อาจเข้าฟังบรรยายพิเศษ ที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือคณะแพทย์ที่อยู่ใกล้ หรือตอบคำถามจากวารสารการแพทย์ก็จะได้คะแนนสะสมเพิ่มอีก

        - ถ้าในโรงพยาบาลมีการทำ HA ท่านกับเพื่อนแพทย์อีก 2-3 คน มาระดมความคิดเพื่อทำ Clinical practice guideline (CPG) ซึ่งเป็นประเภทกิจกรรมในคู่มือ ศ.น.พ. ก็จะได้ 5 หน่วยกิต ต่อแพทย์ 1 คน ต่อ 1 เรื่อง ในหนึ่งปีสามารถนำ CPGs เหล่านั้นนำมาขึ้นทะเบียน ภายใน 5 ปี ถ้าทำ 10 เรื่องก็จะได้ 50 หน่วยกิต โดยมีลายเซ็นจากผู้อำนวยการเท่านั้นเอง

        - ถ้าโรงพยาบาลเข้า Internet ได้ไม่ยากนัก ก็เข้าไปใน website ของ ศ.น.พ. www.cmethai.org และ www.ccme.or.th ซึ่งกำลังปรับปรุงและจะเชื่อมโยงกับ website ขององค์กรวิชาชีพต่างๆ website เหล่านี้จะมี Internet CME ซึ่งจะมีบทความ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จก็ตอบคำถามท้ายบท 5 ข้อ ก็คลิก “submit” คะแนนก็จะปรากฏในทะเบียน (account) ของท่านทันที โดยไม่ต้องมาเก็บรวบรวมหลักฐานจากที่ใด ศ.น.พ. จะพยายามทำให้การเก็บคะแนนไม่ยุ่งยาก

8. Q : ดิฉันเป็นกุมารแพทย์ทำงานอยู่โรงพยาบาลเอกชนขนาด 200 เตียง ไม่ค่อยมีโอกาสสอน แต่ออกรายการโทรทัศน์บ่อยมาก และได้ไปประชุมต่างประเทศบ้าง พอจะแนะนำการเก็บหน่วยกิตคะแนนอย่างไรจึงจะได้ครบตามเกณฑ์?

    A : ในกรณีนี้ นับว่าท่านได้ทำประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวมเป็นอย่างมาก ในการนำเอาวิชาการไปเผยแพร่สู่ประชาชน ขอแนะนำดังนี้ บทความต่างๆ ที่ท่านเป็นผู้เขียน ถ้าได้ตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันหลัก ก็คิดให้ฉบับละ 5 หน่วยกิต หรือถึงแม้จะเขียนให้ประชาชนอ่านก็จัดอยู่ในประเภทกิจกรรมที่ได้คะแนนเช่นเดียวกัน

       - การออกรายการวิทยุหรือโทรทัศน์เพียง 10-15 นาที ก็จัดอยู่ในประเภทกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ ศ.น.พ. อยู่แล้ว ซึ่งคิดให้ ครั้ง/เรื่องละ 2 หน่วยกิต ดังนั้นถ้าท่านพูด 50 ครั้ง ภายใน 5 ปีท่านก็จะได้ 100 หน่วยกิตคะแนน

       - บทความต่างๆ ที่ท่านเป็นผู้เขียน ถ้าได้ตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันหลัก ก็คิดให้ฉบับละ 5 หน่วยกิต หรือถึงแม้จะเขียนให้ประชาชนอ่านก็จัดอยู่ในประเภทกิจกรรมที่ได้คะแนนเช่นกัน

       - ถ้าท่านไปประชุมวิชาการในต่างประเทศ ก็ขอให้ท่านจัดส่งรายละเอียดตารางการประชุมพร้อมจดหมายปะหน้าถึงประธานราชวิทยาลัยฯ ของท่าน (เนื่องจากการคิดหน่วยกิตของประเทศต่างๆ ไม่เหมือนกัน) เพื่อรับรองเป็นกิจกรรมประเภทที่ 1 กลุ่มที่ 1 เมื่อท่านกลับมาขอให้ส่งสำเนา certificate ไปยังราชวิทยาลัยฯ เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนเป็นรายๆ ไป

9. Q : แพทย์ที่อยู่ตามโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข มีงานประจำ เช่น การสอนแสดงข้างเตียง, การตรวจผู้ป่วย, การสอนนักศึกษาแพทย์ ฯลฯ จะสามารถนำมาคิดหน่วยกิต ได้หรือไม่?

    A : จากการประชุมคณะกรรมการบริหารการศึกษาต่อเนื่อง เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2552 มีมติให้ว่า กิจกรรมใดๆ ที่ทำเป็นประจำ (Routine) ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านวิชาการ เป็นการเรียน การสอน หรืองานหัตถการ เช่น งานสอนข้างเตียง งานสอนนักศึกษาแพทย์ พยาบาล การอบรมให้ความรู้ที่นับเป็นคาบการสอน ให้สามารถนำมาคิดหน่วยกิตคะแนนได้

10. Q : ถ้ามีการเชิญอาจารย์แพทย์อาวุโสที่เกษียณแล้วมาสอนแพทย์ (lecture), รวมทั้งสาธิตการตรวจผู้ป่วยโดยไม่ได้รับเงินเดือน สามารถนำมาคิดหน่วยกิตได้หรือไม่?

      A : การเชิญอาจารย์แพทย์อาวุโสที่เกษียณแล้วมาสอนแพทย์ (lecture), โดยมีกำหนดตารางการสอน การบรรยาย รวมทั้งการสาธิตที่ห้องตรวจผู้ป่วยให้กับนักศึกษาแพทย์, แพทย์ประจำบ้าน สามารถคิดหน่วยกิตคะแนนได้เพราะถือเป็นประเภทกิจกรรมกลุ่มเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ แต่หากแพทย์ที่เกษียณมาตรวจผู้ป่วยทั่วไป แล้วทำการสอน โดยมิได้มีการวางแผนหรือเตรียมการสอนมาก่อน ถือว่าเป็นการหารือกันระหว่างแพทย์ ไม่สามารถนำมาคิดหน่วยกิตได้ครับ