ไวรัส RSV ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1955 หรือ พ.ศ.2498 โดยตรวจพบไวรัสชนิดนี้จากลิงชิมแปมซีที่ป่วยจากหวัดก่อนจะพบว่าสามารถติดต่อมายังคนได้ และเป็นสาเหตุของอาการหรือโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
ไวรัส RSV
มีอาการที่รุนแรงโดยเฉพาะในเด็กอายุน้อย ซึ่งผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นได้เช่นกันแต่อาจจะรู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาคือ ไอ มีน้ำมูกเล็กน้อย ไม่มีไข้ โดยส่วนใหญ่ เชื้อ RSV จะระบาดในช่วงฤดูฝน ตามความเข้าใจส่วนมากที่เชื่อว่าการระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงฝนตกเยอะ มีความชื้น ซึ่งบางครั้งการเป็นไข้หวัดของเราก็เริ่มมาจากเชื้อ RSV นี้หรืออาจะเป็นหวัดธรรมดาก่อนจะพัฒนาไปเป็นเชื้อไวรัส RSV
เชื้อ RSV สามารถติดต่อได้จาก
น้ำลาย ละอองเสมหะของเด็กที่ป่วยและไอออกมา หรือผู้ใหญ่บางคนที่มีเชื้อ RSV แม้จะไม่รุนแรงแต่หากไปคลุกคลีกับเด็กแล้วเด็กได้รับเชื้อนี้เข้าไปก็อาจจะส่งผลให้ติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน แต่จะมีโอกาสน้อยกว่าการที่เด็กอยู่รวมกันเยอะๆ
การติดต่อของไวรัส RSV มีลักษณะคล้ายการติดต่อของไข้หวัด คือ
การอยู่ร่วมกันโดยคนเป็นหวัด 1 คนสามารถแพร่เชื้อได้ แต่คนที่รับเชื้อเข้าไปอาจจะไม่แสดงอาการออกมาซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน นอกจากการแพร่กระจายจากผู้ที่มีเชื้อแล้ว อาจจะติดจากสิ่งของที่ผู้มีเชื้อไปสัมผัสหรือการที่ผู้ปกครอง พี่เลี้ยง ไปสัมผัสเด็ก เพราะฉะนั้นควรล้างมือทุกครั้งก่อนที่จะคลุกคลีกับเด็ก
จากการที่เชื้อไวรัสชนิดนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดจนแทบจะแยกไม่ออก จึงต้องสังเกตบุตรหลานของท่านว่าหากมีอาการเหล่านี้ ก็แปลว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้
- ตัวเขียว
- ไอ
- หอบเหนื่อย
- หายใจ เร็ว แรง
- มีเสมหะมาก
นอกจากนี้ยังวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ
หากเด็กมีอาการซึมลง เช่น เคยกินนมเก่งแล้วอยู่ๆกินน้อยลง อารมณ์ไม่ดีเหมือนปกติ หายใจแรงจนหน้าอกบุ๋ม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยการพ่นยาหรือจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าติดตามอาการ ส่วนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจเรื้อรัง ก็จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษา ต้องรักษาแบบประคับประคองรอให้ร่างกายแข็งแรงจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
ข้อมูลจาก
ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล