กรดไหลย้อน กระเพาะอาหาร
หน้าแรก
กรดไหลย้อน อันตรายหลังการทานอาหาร
กรดไหลย้อน อันตรายหลังการทานอาหาร

โรค กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจาก กระเพาะอาหาร ไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หรือก่อให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดอาหารขึ้น

อาการสำคัญของโรค กรดไหลย้อน

ได้แก่ ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ อาการนี้จะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และการนอนหงาย รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ – โรคกรดไหลย้อน

อาการสำคัญอีกประการ

ได้แก่ การมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก อาการเหล่านี้พบได้บ่อยในคนตะวันตก แต่ในคนไทยส่วนใหญ่อาการแสบร้อนที่บริเวณหน้าอกพบได้ไม่บ่อย และไม่รุนแรงเท่าชาวตะวันตก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอ และมีน้ำเปรี้ยวขึ้นมาในปาก ในผู้ป่วยที่มีการขย้อนน้ำและอาหารขึ้นมาขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด จนเกิดอาการปอดอักเสบได้

ผู้ป่วยรายอื่นๆ อาจมาด้วยอาการอื่น เช่น

ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ อาการหืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียงทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง

โรคกรดไหลย้อนมีอาการแตกต่างจากโรคกระเพาะอาหารดังนี้

ผู้ป่วยที่เป็นโรค กระเพาะอาหาร มักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดได้ ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารมักไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอกขึ้นมาถึงคอ เหมือนผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเรอบ่อย และมีน้ำขย้อนขึ้นมาได้บ้างหลังทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ทำให้เกิดความลำบากในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยบางราย

ทั้งนี้ พฤติกรรมการทานอาหารและการดำเนินชีวิตก็มีผลทำให้เกิดโรค กรดไหลย้อน ได้ อาทิ

การดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต สุรา รวมทั้งการสูบบุหรี่ เราควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมาก อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ – ต้องกินอย่างไร เมื่อเป็นกรดไหลย้อน และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพยายามหลีกเลี่ยงความเครียด ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป

ผู้ป่วยที่มีอาการสำคัญออกมาชัดเจน สามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้เลย ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการสำคัญออกมาชัดเจน มีอาการอื่นร่วม หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเป็นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอ็กซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจพิเศษสำหรับโรคกรดไหลย้อนโดยเฉพาะ ได้แก่ การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหารและการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่งให้ผลจำเพาะในการวินิจฉัยโรคที่สุด รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ – อย่าปล่อยให้ชีวิตพังเพราะกรดไหลย้อน

ถ้าปฏิบัติตัวเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคนี้ เช่น ยาเคลือบและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือ มีอาการแสบหน้าอกเป็นครั้งคราว อีกกลุ่มคือ ยาลดการหลั่งกรด ยาในกลุ่มนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดของยา และระยะเวลาในการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร อาจได้ผลในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องอืดแน่นท้องร่วมด้วย

ในปัจจุบันการรักษาด้วยยามักให้ผลการรักษาที่ดี แต่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานานกว่า การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารทั่วไป และเมื่อหยุดยาผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการกลับขึ้นมาใหม่ การผ่าตัดรักษาในปัจจุบัน จึงอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องทำให้ลดอาการเจ็บจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น และได้ผลการผ่าตัดที่ดี

การผ่าตัดมีข้อแนะนำในผู้ป่วยดังต่อไปนี้

ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้และมีผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยอายุน้อยที่จำเป็นต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และผู้ป่วยที่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรค เช่น อาการสำลักอาหารและน้ำย่อยเข้าไปในปอดบ่อยๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก

 

ข้อมูลจาก

อ. นพ.สุริยะ จักกะพาก

สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป

ภาควิชาศัลยศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/

Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV

Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8