แพทย์เตือนสายปาร์ตี้ อย่าสนุกจนลืมระวัง “แอลกอฮอล์เป็นพิษ”
หน้าแรก
แพทย์เตือนสายปาร์ตี้ อย่าสนุกจนลืมระวัง “แอลกอฮอล์เป็นพิษ”

แพทย์เตือนสายปาร์ตี้ อย่าสนุกจนลืมระวัง “แอลกอฮอล์เป็นพิษ”

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเฉลิมฉลอง หรืองานปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเทศกาลไหนก็ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยทำให้บรรยากาศในงานสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากและเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาที่สั้น ทำให้ตับซึ่งทำหน้าที่ขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายออกได้ทัน จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งไม่สามารถระบุระยะเวลาในการแสดงอาการที่ชัดเจนได้

แต่หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 12 ดื่มมาตรฐานในระยะเวลาอันสั้น หรือมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษสูงมาก นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซึมสารของร่างกายแต่ละบุคคล และชนิดของเครื่องดื่มนั้น ๆ ว่ามีดีกรีหรือปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นมากแค่ไหน เช่น

  • เบียร์ มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 5% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก 330 มิลลิลิตร
  • ไวน์ มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 12% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 แก้ว หรือ 100 มิลลิลิตร
  • สุรากลั่น มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 40% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 3 ฝา หรือ 30 มิลลิลิตร

อาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

  • เริ่มกระวนกระวาย สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง
  • ไม่สามารถทรงตัวได้
  • ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ
  • มีอาการกึ่งโคม่า รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองได้
  • อาเจียนออกมาเป็นจำนวนมาก หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • หายใจช้าลง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • น้ำตาลในเลือดต่ำจนทำให้เกิดอาการชัก หรือเสียชีวิต

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  • โทรเรียก 1669 หรือเรียกรถพยาบาลอย่างเร่งด่วน
  • ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยตลอดเวลา
  • พยายามปลุกให้ผู้ป่วยมีสติ ไม่หลับ และพยุงให้อยู่ในท่านั่ง
  • หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเปล่าเข้าไปเยอะ ๆ
  • ไม่พยายามให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา เพราะอาจระคายเคืองทางเดินอาหารจนทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้
  • หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ให้จับนอนตะแคง เฝ้าสังเกตการหายใจจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษนั้นสำคัญมาก หากผู้ดูแลหรือผู้ที่ช่วยเหลือมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่หมดสติ เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตลดน้อยลงและมีโอกาสรอดมากขึ้นนั่นเอง

 

ข้อมูลโดย
อ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “Rama Square : แอลกอฮอล์เป็นพิษ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต : วิธีรับมือกับเหตุฉุกเฉิน” ได้ที่นี่

RAMA Channel

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปานสีน้ำตาล-ภาวะผิวผิดปกติที่พบได้ตั้งแต่กำเนิด
ปานสีน้ำตาลเกิดจากเม็ดสีผิวผิดปกติ อาจเป็นเพียงความสวยงามตามธรรมชาติหรือสัญญาณโรคร้าย ควรหมั่นสังเกตขนาด สี และรูปร่างที่เปลี่ยนแปลง
บทความสุขภาพ
22-05-2025

2

ท้องลม สัญญาณเตือนที่คุณแม่ต้องรู้
ท้องลมหรือการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อน อาจเกิดจากความผิดปกติของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ควรสังเกตอาการและตรวจอัลตราซาวด์ตามนัดอย่างใกล้ชิด
บทความสุขภาพ
18-05-2025

5

Phobia โรคกลัว ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน1
Phobia คือภาวะกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรงเกินเหตุ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจนำไปสู่ความเครียดหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง
บทความสุขภาพ
17-05-2025

7

จริงหรือไม่ หักนิ้ว บ่อย ๆ เสี่ยงข้อเสื่อมระยะยาว
หักนิ้ว กลายเป็นพฤติกรรมประจำของใครหลายคน ไม่ว่าจะกำลังคิดงาน เครียด หรือแค่รู้สึกเมื่อยมือ เสียง “กร๊อบ” ที่ดังขึ้นชั่วขณะให้ความรู้สึกสบาย
บทความสุขภาพ
16-05-2025

10

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
0 2201 1000
0 2200 3000

งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0 2201 0182
โทรสาร 0 2201 2127
อีเมล ramachannel24@gmail.com

© 2024, RAMA CHANNEL