วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คืออะไร ?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเรียกว่า HPV vaccine ในประเทศไทยมีการ ใช้วัคซีนชนิดนี้กันอยู่ 2 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกันกับทั่วโลก ได้แก่ Gardasil (กราดาซิล) ซึ่งประกอบด้วย วัคซีน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ อันเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง อีกยี่ห้อคือ Cervarix (เซอวาริคซ์) ประกอบไปด้วย วัคซีน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 16 และ 18 ที่ทำ ให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
การฉีดวัคซีน ต้องฉีดเข้ากล้ามทั้งหมด 3 เข็ม
หากเป็น Gardasil(กราดาซิล) ฉีด ทุก 0 ,2 และ 6 เดือน ส่วน Cervarix(เซอวาริคซ์) ฉีดที่ 0, 1 และ 6 เดือน เนื่องจากเชื้อ HPV ติดได้จากเพศสัมพันธ์ จึงควรฉีดตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด วัคซีนนี้สามารถป้องกันเชื้อได้นานเกือบ 10 ปี แต่เนื่องจากเพิ่งคิดค้นวัคซีนได้ประมาณ 10 ปี จึงยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าหลังจากนั้นจะต้องมีการฉีดกระตุ้นหรือไม่ จึงต้องคอยติดตามข่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนชนิดนี้ สามารถป้องกันได้เพียง 2 สายพันธุ์ที่พบบ่อยเท่านั้น ซึ่งคาด ว่าครอบคลุมการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 70-90% แต่ใช่ว่าจะไม่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ เพราะยังมีโอกาสที่สายพันธุ์อื่นจะมาสัมผัสจนก่อให้เกิดโรคได้ จึงต้องป้องกันโดยการตรวจภายใน ร่วมกับการ ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทุก 1-2 ปี
สิ่งสำคัญก็คือ การตรวจคัดกรองเป็นประจำ
ทุกปี ย้ำคุณผู้หญิงหลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นจะได้รีบรักษาให้หาย ก่อนจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกซึ่งรักษาได้ยาก
คำถามยอดฮิต ควรฉีดในเด็กตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ตั้งแต่เด็กอายุ 9 ขวบจริงหรือไม่ ?
คำตอบ สิ่งสำคัญของการฉีดวัคซีนชนิดนี้ก็เพื่อการป้องกันในหญิงที่อยู่ในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้น การฉีดในเด็กตอนอายุน้อยดีตรงที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่า แต่ในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ แล้ว ก็อาจฉีดได้เป็นการป้องกันการได้รับเชื้อใหม่ หากยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน ทำให้คิดว่าเมื่อเด็ก เข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะกลายเป็นวัยรุ่นที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว
ซึ่งข้อมูลในหลายประเทศได้มีการฉีดในเด็กที่มีอายุ เพียง 10 ขวบ การฉีดวัคซีน เป็นเพียงหนทางหนึ่งในการป้องกัน แต่วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การระมัดระวังไม่ให้สัมผัสถูกเชื้อและควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล