จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในประเทศไทยมะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง โดยแต่ละคนมีโอกาสเกิดโรคได้ 5-6% และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 2.5% ความน่ากลัวของมะเร็งลำไส้คือในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ทำให้รักษาได้ไม่ทันการนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
โรคมะเร็งลำไส้
เป็นโรคที่ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นอยู่ เนื่องจากโรคนี้ต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถตรวจพบได้ ในส่วนของการรักษายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งตัวคนไข้เอง วัสดุอุปกรณ์ และนวัตกรรมในการรักษา ในอดีตอัตราการรักษาให้หายขาดค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการลุกลามไปที่ตับ ซึ่งโอกาสในการผ่าตัดรักษาให้หายมีอยู่เพียง 20% เท่านั้นโดยประมาณของคนไข้ทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคดังกล่าวค่อนข้างเป็นปัญหาที่สำคัญ
สำหรับการผ่าตัดสมัยก่อนนั้นจะมุ่งเน้นเพื่อให้หายขาด
ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแผลใหญ่หรือแผลเล็ก ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ความรวดเร็วในการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยลง กระทั่งการพัฒนาให้การรักษาได้ผลที่ดี ช่วยให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือให้คนไข้เจ็บปวดน้อยลงและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
การรักษาโดยวิธีการเจาะรูและปรับชิ้นอวัยวะที่เป็นมะเร็งออก ในกรณีที่คนไข้เป็นมะเร็งในระยะที่ยังไม่ลุกลาม
จะมีการพัฒนาระบบในหลายๆ อวัยวะ มีการผ่าตัดหลายระบบแบบแผลเล็ก โดยการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ในระยะที่มีการกระจายไปที่อื่น แต่ก่อนจะตัดอวัยวะต่างๆ ออก และเป็นการผ่าตัดคนละแผลกัน ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะประสานแนวแผลผ่าตัดให้เป็นแผลเดียวและให้แผลมีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถโยกอุปกรณ์จากข้างล่างขึ้นไปตัดข้างบนได้ โดยยังคงใช้ระดับแผลเดียวกัน เป็นที่มาว่าสามารถผ่าตัดมะเร็งลำไส้ที่กระจายไปที่ตับพร้อมกันได้
ข้อบ่งชี้ว่าสามารถรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายไปที่ตับด้วยวิธีนี้ได้ คือ
- ร่างกายคนไข้ต้องมีความฟิตพอที่จะทำการผ่าตัดทั้งสองอวัยวะได้
- ร่างกายคนไข้จะต้องไม่มีการกระจายของตัวมะเร็งนอกเหนือจากสองอวัยวะนี้
- ตัวมะเร็งทั้งสองที่ต้องไม่ติดกับอวัยวะข้างเคียงมากเกินไป และสามารถผ่าตัดโดยใช้กล้องหรือการผ่าตัดแผลเล็กได้ทั้งสองระบบ ก็จะสามารถทำพร้อมกันได้
ปัญหาของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแพร่กระจาย คือ
มะเร็งไม่ได้มีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะเดียว แต่มีการแพร่กระจายไปยังหลายอวัยวะ ทำให้การรักษามีความยุ่งยากและซับซ้อน ต้องใช้ทีมแพทย์ในการรักษาหลายท่าน แต่มีโอกาสที่จะรักษาได้ในกรณีที่อาการมะเร็งคนไข้แพร่กระจายไปที่ตับ หรืออวัยวะเพียงไม่กี่แห่งที่เป็นอวัยวะเดียว ซึ่งการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายไปที่ตับ สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดมะเร็งที่ตับและผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่
แต่การรักษาที่ผ่าตัดได้ทั้งสองอวัยวะในสมัยก่อนนั้นเป็นการรักษาโดยผ่าตัดแยกกัน ทั้งผ่าตัดที่ตับและผ่าตัดที่ลำไส้ใหญ่ แยกส่วนกัน อาจจะผ่าตัดพร้อมกันหรือผ่าคนละครั้งก็ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือแผลผ่าตัด ถ้าเป็นที่ลำไส้ใหญ่จะมีแผลในช่องท้องด้านล่าง แต่ถ้าเป็นที่ตับจะมีแผลที่บริเวณช่องท้องด้านบน และขนาดของแผลจะมีขนาดใหญ่มาก ทั้งด้านบนและด้านล่าง แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาการผ่าตัด เรียกว่า การผ่าตัดแผลเล็ก หรือการผ่าตัดโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งสามารถผ่าตัดได้ทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ทั้งยังสามารถผ่าตัดตับได้อีกด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประสานการผ่าตัดทั้งลำไส้ใหญ่และตับพร้อมกัน กระทั่งศัลยแพทย์มีความชำนาญมากขึ้น และเครื่องมือมีการพัฒนามากขึ้น จึงทำให้สามารถผ่าตัดอวัยวะทั้งสองได้พร้อมกัน และยังทำให้แผลของคนไข้มีขนาดเล็กลง ทั้งยังใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยลง ลดจำนวนครั้งในการผ่าตัดจากหลายครั้งเหลือครั้งเดียว ซึ่งเป็นผลดีมากกว่า
การผ่าตัดแผลเล็กมีข้อดีคือ
เนื่องจากขนาดแผลมีขนาดเล็กทำให้คนไข้มีอาการเจ็บปวดน้อยกว่าและฟื้นตัวได้เร็วกว่า ที่สำคัญการผ่าตัดแผลเล็กยังช่วยลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล เมื่อคนไข้มีอาการฟื้นตัวเร็วคนไข้ก็สามารถลุกขึ้นได้เร็ว ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนบนเตียงนานๆ ก็จะเกิดขึ้นน้อยกว่า เช่น การมีหลอดเลือดอุดตันที่ขา การติดเชื้อในทางเดินหายใจ จากการนอนนาน เป็นต้น
ข้อจำกัดคือ
เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผ่าตัดแต่ละชนิดค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ต้องอาศัยความชำนาญของทีมแพทย์ ทีมพยาบาลผู้ช่วยผ่าตัด และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเครื่องมือแต่ละชิ้นในประเทศไทย ผลิตได้เองน้อยมาก จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกล้องที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องสามมิติเทคโนโลยีหรือการถ่ายทอดสัญญาณ ที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง
ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผ่าตัดแผลเล็กมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ศัลยแพทย์รุ่นหลังๆ ได้รับการฝึกฝนในด้านแนวคิดและประสบการณ์ในการส่องกล้องมากขึ้น อนาคตโรงพยาบาลจะสามารถทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ทั่วประเทศ และเมื่อสามารถทำได้มากขึ้น เครื่องมือที่สั่งเข้ามาก็จะมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่อาจถูกลงด้วย และถ้าหากเข้าสู่ Thailand 4.0 ที่ประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเองได้ ก็จะทำให้ค่ารักษายิ่งถูกลงตามลำดับ
สำหรับการผ่าตัดแผลเล็กนั้น ทำเพื่อให้คนไข้หายขาดจากโรคและมีการฟื้นฟูหลังผ่าตัดที่เร็วขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก่อนที่ตัวมะเร็งจะลุกลามไปที่อื่น การป้องกันคือสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะมะเร็งลำไส้มักพบในผู้สูงอายุ นำไปสู่การป้องกันการลุกลามที่อาจควบคุมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
ข้อมูลจาก
ผศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
สาขาวิชาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล