ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลตซีส

ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลตซีส

ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลตซีส

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของโรคช็อกโกแลตซีส หรือโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งหมายถึง โรคที่มีภาวะการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่)

ลักษณะอาการ

โดยปกติแล้วเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญเติบโตภายในโพรงมดลูก แต่ถ้ามีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกผิดที่จะทําให้เกิดอาการ ซึ่งอาการแสดงของโรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่พบภายนอกมดลูก เป็นชนิดที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนําไข่ เยื่อบุช่องท้อง รวมถึงอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลําไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบได้ที่ ท่อไต ลําไส้เล็ก ปอด สมอง และบริเวณผิวหนัง หรือแผลผ่าตัด เป็นต้น อีกชนิดพบได้ในกล้ามเนื้อมดลูก อันเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก ทําให้มีอาการปวดประจําเดือนและตรวจพบว่ามดลูกมีขนาดโตขึ้น โดยทั่วไปโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะหมายถึง ชนิดที่พบภายนอกมดลูก

ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลตซีส

ช็อกโกแลตซีส และคําว่า ซีส

หมายถึง ถุงน้ำช็อกโกแลตซีส จึงเป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยตัวโรคไปเกิดขึ้นที่รังไข่ในลักษณะของถุงน้ำ ที่เราเรียกว่า ช็อกโกแลตซีส เพราะลักษณะของถุงน้ำในโรคนี้ ภายในมีของเหลวที่มีลักษณะคล้ายกับช็อกโกแลต

สาเหตุ

สําหรับสาเหตุของการเกิดถุงน้ำช็อกโกแลต เชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดระดู หรือประจําเดือนมีการไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ผ่านทางท่อนําไข่ ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาผู้หญิงมีประจําเดือน นอกจากเลือดประจําเดือนจะไหลออกมาทางช่องคลอดแล้ว จะมีเลือดบางส่วนไหลผ่านท่อนําไข่เข้าไปในอุ้งเชิงกราน โดยเลือดประจําเดือนนี้จะมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่  ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีกลไกในการกําจัดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้  แต่ในผู้หญิงบางคนมีความผิดปกติของกลไกในการกําจัดเซลล์เหล่านี้ ทําให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมานั้น ไปฝั่งตัวตามจุดต่างๆ ในอุ้งเชิงกราน รวมถึงรังไข่ และเจริญเติบโตจนทําให้เกิดถุงนําขึ้น เวลาที่เรามีประจําเดือน เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่ในถุงน้ำก็จะมีเลือดออกเข้าไปในถุงน้ำนั้นด้วย เมื่อเวลาผ่านไป น้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบในถุงเลือดนั้นจะถูกดูดซึมกลับทําให้เลือดในถุงมีลักษณะเข้มขึ้น และเมื่อค้างอยู่นานๆ ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต เราจึงเรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีส

กลุ่มเสี่ยง

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงจะสัมพันธ์กับการมีประจําเดือน พบว่าสตรีที่เริ่มมีประจําเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อนๆ สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจําเดือน (วัยทอง) ช้ากว่าปกติ สตรีที่มีประจําเดือนออกมากและออกนานหลายวัน สตรีที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจําเดือนแต่ละรอบสั้น สตรีที่มีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคนี้ และสตรีที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีที่ดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้น

อาการที่น่าสงสัย

สําหรับอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต ได้แก่ อาการปวดประจําเดือน ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง (มีอาการปวดท้องน้อยนานกว่า 6 เดือน) มีบุตรยาก ในบางคนคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย หรือบางคนอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ส่วนน้อยอาจมีอาการอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับตําาแหน่งของโรค เช่น มีก้อนโตขึ้นและปวดในช่วงที่เป็นประจําเดือน หรือมีอาการไอเป็นเลือดในช่วงเป็นประจําเดือน เนื่องจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่ปอด เป็นต้น 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดประจําเดือนนั้น เป็นอาการปวดประจําเดือนตามปกติที่ผู้หญิงเป็นกัน หรือเป็นจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่  ในเรื่องนี้แนะนําให้ดูที่อายุ  และลักษณะอาการปวดประจําเดือนที่เป็น ถ้าอายุยังไม่มากแล้วมีอาการปวดท้องน้อยเวลามีประจําเดือน โดยเริ่มมีอาการปวดประจําเดือนตั้งแต่เริ่มเป็นประจําเดือนครั้งแรก  อาการปวดเป็นเท่าๆ เดิม ไม่ได้ปวดรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดประจําเดือนธรรมดา แต่ถ้าอายุมากขึ้น แล้วอยู่ๆ มาเริ่มมีอาการปวดประจําเดือน หรืออาการปวดประจําเดือนเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดิมมีอาการปวดประจำเดือนไม่มาก พอทนได้ หรือทานเพียงยาพาราเซตามอลก็หาย แต่ต่อมาอาการปวดประจําเดือนเป็นมากขึ้น ต้องทานยาแก้ปวดปริมาณมากขึ้น หรือต้องทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น มีอาการปวดจนต้องหยุดเรียน หยุดงาน หรือปวดจนรบกวนชีวิตประจําวัน หรือบางคนถึงขั้นต้องไปฉีดยาแก้ปวดที่คลินิกหรือโรงพยาบาล อาการดังกล่าวค่อนข้างบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลตซีส

อันตราย

หลายๆ คนคงสงสัยว่าโรคช็อกโกแลตซีสนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร ภาวะนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจําเดือน ทําให้เราต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวด ส่งผลทําให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางครั้งส่งผลทางด้านการงานและสังคม ทําให้เราต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานเนื่องจากอาการปวด ในบางคนเกิดการแตกของถุงน้ำ จะทําให้เกิดอาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน นอกจากนั้นโรคนี้อาจทําให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทําให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทําให้เกิดการอุดตันของท่อนําไข่ ซึ่งอาจมีความจําเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การทําเด็กหลอดแก้ว สําหรับบางท่านกังวลว่า ช็อกโกแลตซีสนี้สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ไหม ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า โอกาสที่โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นจะกลายเป็นมะเร็ง มีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1%

กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นช็อกโกแลตซีส

ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ แนะนําให้พบสูตินรีแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทําการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจภายใน กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นช็อกโกแลตซีส แพทย์จะทําการตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์นั้นอาจทําการตรวจทางหน้าท้อง หรือตรวจทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสม แต่สําหรับการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุดคือ การส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ เอามาตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งการตรวจโดยวิธีส่องกล้องนี้ไม่จําเป็นต้องทําในผู้ป่วยทุกคน แพทย์จะทําาเมื่อเห็นว่ามีความเหมาะสม

การรักษา

การรักษาโรคนี้ หลักๆ มี 3 วิธี คือ การใช้ยา การผ่าตัด หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน โดยวิธีการรักษาจะคํานึงถึงปัจจัยต่างๆ ของผู้ป่วย ได้แก่ อาการของผู้ป่วย อายุ ความต้องการมีบุตร และความรุนแรงของโรค โดยการรักษาแบบใช้ยามีทั้งการยาในกลุ่มที่มีฮอร์โมน และไม่มีฮอร์โมน ส่วนการผ่าตัดก็มีทั้งวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งวิธีการผ่าตัดส่องกล้องจะมีข้อดีคือ แผลเล็ก ปวดแผลน้อย ใช้เวลานอนรักษาในโรงพยาบาลหรือการพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้นกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่ว่าวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และต้องอาศัยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งวิธีการรักษานั้น แพทย์จะเลือกตามความเหมาะสมสําหรับผู้ป่วยในแต่ละราย

สุดท้ายนี้

แนะนําว่า ในกรณีที่เรามีอาการปวดประจําเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดนั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น ขอให้ท่านรีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

ผู้เขียน : อาจารย์นายแพทย์ศรีเธียร เลิศวิกูล ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 4 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th