‘โรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น’ โรคร้ายที่ประทุขึ้นในศตวรรษนี้
ข้อเท็จจริง
ที่ยอมรับกันทั่วโลกคือภาวะอ้วนตั้งแต่เด็ก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาวานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวเป็นเบาหวานด้วย จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน มากขึ้น รวมทั้งเด็กอ้วนมีต้นคอและรักแร้ดําเป็นปื้นหนา นั่นบ่งบอกถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่หายขาด เพราะฉะนั้นควรรีบป้องกันก่อนที่จะเป็นโรคประจําตัวตลอดชีวิต ปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีเด็กและวัยรุ่นที่มีโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็น ปัญหาสุขภาพ ที่สําคัญของประเทศ
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทําให้เด็กอ้วน
- การกินอาหาร ปัจจุบันมีการกินอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด มากขึ้น เนื่องจากสะดวก หาซื้อง่าย รสชาติอร่อย พ่อแม่เร่งรีบไม่มีเวลาที่จะประกอบอาหารเอง ต้องกินอาหารนอกบ้าน หรืออาหารถุง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีไขมันและแป้งมาก ทําให้มีการสะสมของพลังงานมากและทําให้อ้วน
- วิถีการดํารงชีวิต (Life style) ปัจจุบันการดําเนินชีวิตประจําวัน มีการออกกําลังกายลดลง ใช้ยานพาหนะและสิ่งอํานวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น มีกิจกรรมกลางแจ้งหรือกีฬาลดลง แต่มีการเล่นเกม ดูโทรทัศน์ การใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทําให้มีการเผาผลาญพลังงานน้อยลง ทําให้อ้วนในที่สุด
เด็กอ้วนมีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ อีกมากมาย
- กลุ่มอาการเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งสามารถมีอาการได้ตั้งแต่วัยเด็ก หรือวัยรุ่น และคงอยู่หรือรุนแรงขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- โรคระบบหายใจ ได้แก่ นอนกรน ทางเดินหายใจอุดกั้น ทําให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการทํางานของหัวใจและปอดที่ผิดปกติ
- โรคทางข้อและกระดูก ได้แก่ ปวดเข่าและสะโพก กระดูกขาผิดรูป
- โรคตับ ได้แก่ การสะสมของไขมันที่ตับ ทําให้การทํางานของตับผิดปกติ
- ปัญหาทางจิตและสังคม เด็กและวัยรุ่นที่อ้วนจะทําให้มีบุคลิกภาพที่ไม่ดี โดนเพื่อนล้อ บางคนมีต้นคอ และรักแร้ดําคล้ำเป็นปื้นหนาคล้ายขี้ไคล แต่ขัดไม่ออก
จะดูแลเด็กอ้วนอย่างไร
1. การควบคุมอาหาร เพื่อลดปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับ แต่มีข้อควรระวังคือไม่ควรจํากัดอาหารและพลังงานมากเกินไป คือพลังงานที่ให้ควรอยู่ระหว่างวันละ 1,200-1,500 กิโลแคลอรี่ ในเด็กอายุ 6-12 ปี และมีหลักการทั่วไป ดังนี้
- กินผักและผลไม้ให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน เพราะผักและผลไม้ส่วนมากไม่มีไขมันหรือมีน้อย และให้พลังงานน้อยมาก เช่น แครอท เห็ด มะเขือเทศ ถั่วแขก บร็อคโคลี่ คะน้า ผักใบเขียวต่างๆ
- กินอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ธัญพืช ถั่ว จะช่วยทําให้อิ่มเร็ว
- กินอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน ดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนกินอาหารจะทําให้รู้สึกอิ่มได้ส่วนหนึ่ง
- ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้มากเกินไป เช่น ในเด็กอายุ 1-6 ปี ไม่ควรดื่มเกินวันละ 120-150 ซีซี และในเด็กอายุ 7-18 ปี ไม่ควรดื่มวันละ 240-360 ซีซ
- ควรลดหรืองดการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม ทุกชนิด
- ไม่ควรกินอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลมาก เลือกกินอาหารที่ไม่มีไขมัน หรือมีไขมันต่ำ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำคือ นมพร่องมันเนย เลาะหนังไก่ออกก่อนปรุง เลือกเนื้อแดงที่เลาะมันออกแล้ว
2. การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร
- กินอาหารให้ครบวันละ 3 มื้อ ไม่ใช้วิธีงดมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะทําให้หิวมาก และกินมากในมื้อถัดไป
- อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อที่สําคัญ การงดอาหารมื้อเช้าอาจทําให้อ้วนได้
- เลือกชนิดของอาหารว่าง โดยพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล หรือไขมันมาก เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ไอศกรีม ลูกกวาด คุ้กกี้ เค้ก น้ำอัดลม ช็อกโกแลต ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา
- ลดการกินอาหารนอกบ้าน เพราะทําให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะอ้วนได้มาก เนื่องจากเลือกกินอาหารที่ชอบได้ หลายๆ อย่าง จึงทําให้เจริญอาหาร และมักจะตบท้ายด้วยของหวาน และไอศกรีม
3. การออกกําลังกายและกิจกรรมต่างๆ
- ลดการดูโทรทัศน์ คือไม่ควรเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง รวมทั้งลดการเล่นเกม และคอมพิวเตอร์
- ออกกําลังกายหนักปานกลางอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มจากน้อยๆ ก่อนในเด็กที่อ้วนมาก
- ส่งเสริมให้มีกิจกรรมการออกกําลังกายของครอบครัว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เด็ก และสร้างพฤติกรรมปลูกฝังให้เด็กรักการออกกําลังกายเป็นกิจวัตรประจําวัน ทั้งนี้แล้ว การที่จะประสบความสําเร็จในการควบคุม
น้ำหนักของเด็กอ้วน จะต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือของตัวเด็กเองและครอบครัว เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ
ตัวอย่างปริมาณและแคลอรี่ในอาหารต่างๆ จากอาหารประเภทต่างๆ
อาหาร | ปริมาณ | กิโลแคลอรี่ |
ข้าวสุก | 1 ทัพพี | 68 |
ขนมปังกรอบ (สี่เหลี่ยม) | 2 แผ่น | 68 |
คอร์นเฟลค | 1 ถ้วยตวง | 100 |
ข้าวโพด | 1 ฝัก | 130 |
ผัดผักคะน้าน้ำมันหอย | 1 จาน | 70 |
ผัดถั่วงอกกับน้ำมัน | 1 จาน | 70 |
สลัดผัก (น้ำใสไม่ใส่น้ำตาล) | 1 จาน | 61 |
แอปเปิ้ล | 1 ผล | 40 |
น้ำส้มคั้น | ½ ถ้วย | 40 |
กะทิ | 1 ช้อนโต๊ะ | 45 |
น้ำมันทุกชนิด | 1 ช้อนชา | 45 |
นมสด | 1 กล่อง | 167 |
นมสดยูเอชที | 1 กล่อง | 177 |
นมพร่องมันเนย | 1 กล่อง | 140 |
นมพาสเจอไรส์ | 1 ถุง | 142 |
นมถั่วเหลือง | 1 กล่อง | 110 |
นมผง | 1/3 ถ้วยตวง | 170 |
ไข่ดาวน้ำมัน | 1 ฟอง | 125 |
ไข่เจียว | 1 ฟอง | 253 |
โยเกิร์ต (ไม่มีไขมัน) | 1 ถ้วย | 72-80 |
โยเกิร์ตรสผลไม้ (ไม่มีไขมัน) | 1 ถ้วย | 140 |
ผู้เขียน : รศ.พญ.เปรมฤดี ภูมิถาวร ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่