“กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ใกล้ตัว

“กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ใกล้ตัว

“กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ใกล้ตัว

ภาวะกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่มาพร้อมกับวัยที่สูงขึ้น คนไข้จํานวนมากอาจไม่รู้ตัวว่าความแข็งแรงของกระดูกกําลังลดลงจนเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ภาวะกระดูกพรุน คือ สภาวะที่มวลกระดูกลดลงร่วมกับการเสื่อมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างภายในของกระดูก ทําให้เกิดความผิดปกติทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ส่งผลให้กระดูกเปราะบาง มีความแข็งแรงลดลง และเกิดการแตกหักได้ง่าย

ภาวะกระดูกพรุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กระดูกพรุนแบบปฐมภูมิ หรือกระดูกพรุนที่สัมพันธ์กับวัย และกระดูกพรุนแบบทุติยภูมิ ในที่นี้จะกล่าวถึงกระดูกพรุนปฐมภูมิ  กล่าวคือ กลุ่มหญิงวัยหมดประจําเดือนกับผู้สูงอายุ ส่วนกระดูกพรุนแบบทุติยภูมิเป็นภาวะที่ต้องแก้ไขตามสาเหตุ ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่กินยาบางประเภทติดต่อกันเป็นเวลานานที่สําคัญคือ ยาสเตียรอยด์ หรือคนไข้ที่ใช้ยากันชักเป็นประจํามานานนับสิบปี รวมทั้งคนไข้ที่กินยากันเลือดแข็งตัว

“กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ใกล้ตัว

เป็นต้น เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกพรุนทุติยภูมิ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ให้พิจารณาลดยาหรือให้ยาเสริมป้องกันกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุน มักพบได้มากในคนยุโรป โดยเฉพาะยุโรปตอนเหนือ ส่วนในเอเชีย มักพบในคนญี่ปุ่น สําหรับประเทศไทยพบได้ปานกลาง อุบัติการณ์ไม่รุนแรงเหมือนในยุโรปหรือญี่ปุ่น กลุ่มอายุที่เป็นกระดูกพรุนจะแบ่งได้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง ในอัตราส่วน 1:3 และกลุ่มผู้หญิงพบได้มากกว่า คือ ผู้หญิงหลังหมดประจําเดือนอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีแนวโน้มการเกิดกระดูกพรุนสูงขึ้น จึงมักเรียกว่า กระดูกพรุนหลังวัยหมดประจําเดือน เพราะฉะนั้นกลุ่มเสี่ยงที่สําคัญคือ ผู้สูงอายุและสตรีในวัยหมดประจําเดือน

อันตรายของภาวะกระดูกพรุน บางคนจะเรียกว่า “โรคภัยเงียบ” เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง และคนไข้ไม่รู้ตัวว่าเป็นภาวะกระดูกพรุน จนกระทั่งเมื่อหกล้มแล้วมีกระดูกหัก ซึ่งกระดูกหักในที่นี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง แต่เกิดจากอุบัติเหตุธรรมดาที่ไม่รุนแรง เช่น หกล้ม ซึ่งหลักเกณฑ์ง่ายๆ ของอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมีดังนี้ ต้องไม่ใช่อุบัติเหตุทางจราจร ต้องไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกรถชน ต้องไม่ตกจากที่สูงเกินระดับความสูงของศีรษะคนไข้เอง เช่น ปีนขึ้นไปหยิบของหรือปักธูปเทียนแล้วตกลงมาจากเก้าอี้  แบบนี้กระดูกไม่ควรจะหักแต่ถ้ากระดูกหักจะถือว่าน่าสงสัยว่าเป็นกระดูกพรุน

ความน่ากลัวของภาวะกระดูกพรุนทำให้เกิดคาถามตามมาว่า การวินิจฉัยทําได้อย่างไรบ้าง ?

เนื่องด้วยเครื่องมือในปัจจุบันยังเป็นเครื่องมือที่ให้คําตอบหรือการวินิจฉัยที่ไม่สมบูรณ์ทีเดียว การตรวจวัดมวลกระดูก แม้ว่าจะเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะผู้ป่วยไม่เจ็บตัว  เปรียบเสมือนการเป็นเอกซเรย์ชนิดหนึ่งที่ใช้งานง่าย สะดวก แต่การตรวจมวลกระดูกหรือความหนาแน่นกระดูกมักจะพยากรณ์ได้ดีในผู้สูงอายุ จึงเหมาะสําหรับคนไข้อายุมากๆ คือ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปจึงแนะนําให้ตรวจมวลกระดูกเมื่อถึงวัยดังกล่าวแล้ว

“กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ใกล้ตัว

ส่วนยาสําหรับรักษาภาวะกระดูกพรุนนั้น เมื่อกระดูกหักแล้วและพิสูจน์ได้ว่าเป็นกระดูกพรุนปฐมภูมิ (หรือกระดูกพรุนที่สัมพันธ์กับวัย) ก็ควรให้การรักษา ยาที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาต้านการสลายกระดูก ยาสร้างกระดูก และยาออกฤทธิ์ผสม

อีกคําถามที่มักพบได้มากก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ต้องอธิบายว่า ...

การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจําเดือน โดยทั่วไปที่ควรปฏิบัติก็คือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม และควรออกกําลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ การออกกําลังกายมีความสําคัญมาก ถ้าเรากินแคลเซียมแต่ไม่ออกกําลังกายกลางแจ้ง กระดูกก็จะไม่แข็งแรง  การออกกําลังกายนั้นแนะนําให้เลือกการวิ่ง กระโดดเชือก ถ้าคนสูงอายุอาจใช้การเดินเร็วๆ แต่การออกกําลังกายประเภทว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน จะได้ประสิทธิผลที่ดีในแง่ความอดทน และลดอาการปวดสําหรับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า ร่วมด้วย

ผู้เขียน : รศ. นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 9 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th