เมื่อมีคนถามฉันว่าทำไมถึงอยากเป็น “ครูแพทย์” ?
นิยามคำว่า “ครูแพทย์” คือ แพทย์ที่ต้องทำหน้าที่เป็นครูควบคู่ไปกับการเป็นหมอรักษาคนไข
ย้อนกลับไปตอนจบหมอใหม่ ๆ ฉันไม่คิดเลยว่าตัวเองจะชอบการเป็นครูแพทย์คิดว่ายังไงขอเป็นหมอ อย่างเดียวนี่แหล่ะ เป็นครูแพทย์ไม่เห็นจะดีตรงไหน ต้องสอนไปด้วย ดูแลคนไข้ไปด้วย ทำงานก็หนัก ต้องคอย หาความรู้ทางวิชาการมาอ่านอยู่เสมออีก..
แต่หลังจากเริ่มใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ความคิดนี้ก็ค่อย ๆ จางหายไปจากฉันช้า ๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันเริ่มดึง ทุกคนมาสอน ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย นักศึกษาแพทย์ที่มาดูงานที่โรงพยาบาล รวมทั้งเจ้า หน้าที่ในโรงพยาบาล ฯลฯ ทุกครั้งที่ได้สอนฉันจะมี “ความสุข” อย่างบอกไม่ถูก ซึ่งตอนนั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไมถึงมีความสุข
..มีช่วงหนึ่งโรคไข้เลือดออกระบาด ทั้งเจ้าหน้าที่ อนามัย สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ต่างร่วมมือกันหาทางป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากฉันเป็นหมอในโรงพยาบาลชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จึงเห็น ว่าการสอนบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการดูแลและแนะนำคนไข้จึงได้จัดการสอน ขึ้นมา .. หลังจากนั้นฉันเริ่มเข้าใจว่า “ความสุข” ที่ได้จากการสอนนั้น เหมือนความสุขที่ได้รักษาคนไข้และคนไข้ หายจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น ๆ เลย
การสอนเป็นการช่วยเหลือคนในหมู่มากด้วยการถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลคนไข้ เหล่านั้น เพียงลำพังเราคนเดียวไม่สามารถช่วยคนหมู่มากได้ทั้งหมดแต่หากเราถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอีกนับร้อย คนเหล่านั้นจะนำความรู้ไปช่วยผู้คนได้อีกนับพัน หรือนับหมื่นคนเลยทีเดียว ทีนี้ฉันจึงเริ่มเข้าใจประโยชน์ของการ ถ่ายทอดความรู้หรือความเป็นคุณครูจากตอนที่ฉันใช้ทุนนี่เอง ..การที่เรารักษาคนไข้ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะเราปรารถนาให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บ การสอนก็เป็นการทำบุญหรือส่งต่อบุญอย่างหนึ่งเช่นกัน ฉันถือว่า บุญที่ได้จากการสอนนั้น ถูกส่งต่อนับครั้งไม่ถ้วน ก็เหมือนกับเราได้ทำบุญอยู่ตลอดเวลา
หลังจากใช้ทุนเรียบร้อยแล้ว ฉันจึงตั้งปณิธานไว้ว่า ฉันต้องเป็นครูแพทย์ให้ได้เพราะฉันรักทั้งการดูแล คนไข้และสอนไปพร้อม ๆ กัน ฉันอยากถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาแพทย์และแพทย์รุ่นใหม่เขาจะได้นำไปช่วย คนไข้อีกจำนวนมาก การผลิตแพทย์นั้นจึงมีความสำคัญมาก ถ้าเราอยากผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ มีจริยธรรม เราก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา สอนเขาในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อโอกาสนั้นมาถึงฉันจึงไม่รอช้าที่จะสอนนักศึกษา แพทย์ที่เปรียบเสมือนผ้าขาวบริสุทธิ์เพื่อให้เขาจบออกมาเป็นแพทย์ที่ดีไม่เฉพาะด้านความรู้แต่ต้องคู่กับคุณธรรม อีกด้วย
เนื่องจากความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าจะคนยากดีมีจน ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ยังคงมี ความสำคัญและเป็นที่ต้องการของประชาชนอยู่อีกมากในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการเป็นแพทย์นี่ดีเป็นงาน ที่ทำแล้วรวย หากเขาเหล่านั้นรู้ถึงเบื้องหลังในการผลิตแพทย์เขาอาจจะเปลี่ยนใจและคิดว่าคนเป็นแพทย์นี่ไม่ดีแล้ว น่าสงสารมากกว่าเพราะกว่าที่คนหนึ่งคนจะจบเป็นแพทย์ได้นั้น เขาต้องผ่านบททดสอบมากมายไม่เฉพาะการสอบ นับครั้งไม่ถ้วน บางทีสอบทุกสองสัปดาห์ก็มีข้อสอบนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งข้อเขียนแบบปรนัย แบบเขียนเรียง ความ และทั้งภาคปฏิบัติเพราะเราต้องแน่ใจว่าแพทย์ที่จบไปต้องมีคุณภาพ เพราะเขาเหล่านั้นต้องดูแลชีวิตคนอื่น
นอกจากนี้พวกเขายังต้องฝึกการอยู่เวรการอดหลับอดนอน การเสียสละความสุขตัวเองเพื่อผู้อื่นและความรับ ผิดชอบต่อชีวิตของคนอื่น ภาระเหล่านี้มันมากมายสำหรับเด็กอายุราว 20 ต้น ๆ ถ้าไม่รักในอาชีพนี้จริง ก็จะทำงาน อย่างไม่มีความสุข หรือไม่ก็เลิกเรียนไปก่อนก็มีฉะนั้นการที่แพทย์คนหนึ่งเรียนจบได้ต้องมาทำงานไกลบ้านอยู่ต่างจังหวัด เป็นเรื่องของความเสียสละและความอดทนล้วน ๆ บางครั้งฉันเคยทำงานหนักมากจนคิดว่า นี่ฉันมาทำอะไร อยู่ที่นี่ ร่างกายของฉัน สุขภาพของฉันกำลังแย่ เพราะฉันไม่เคยได้นอนเต็มอิ่มเลยสักวัน ต้องลุกมาดูคนไข้กลางดึก อยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อเห็นสีหน้าคนไข้ที่มองมาที่ฉัน เขากำลังต้องการคนช่วยเหลือ เพราะเขาเจ็บป่วย สีหน้าญาติคนไข้ ที่อุ่นใจเมื่อเจอหมอ และรอยยิ้มของทุก ๆ คน เวลาที่ฉันดูแลเขาจนหาย .. ความรู้สึก “ความสุข” และ “อิ่มใจ” ที่ หาซื้อไม่ได้จากที่ไหน มันเป็นรางวัลชีวิตที่หล่อเลี้ยง “ใจ” ให้ฉันมีแรงสู้ต่อไป ความเหนื่อยมลายหายสิ้นตรงนั้นเอง มันเปรียบไม่ได้กับเงินทอง ที่ได้มาแล้วก็หมดไป แต่เป็นความรู้สึกที่ดีที่เราได้ใช้ความสามารถช่วยชีวิตของคนอีกคน .. คงไม่ใช่ฉันคนเดียวที่คิดอย่างนี้ฉันเชื่อว่าคนที่เป็นหมอทุกคนล้วนมีความรู้สึกอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น
.. “กำลังใจที่ได้จากรอยยิ้มน้อย ๆ” ของคนไข้แค่นี้ก็ทำให้ “หมอน้อย ๆ” คนหนึ่งมี “กำลังใจ” ที่จะดูแล คนไข้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ..ฉันเคยเล่าเรื่องนี้ให้กับกลุ่มนักศึกษาแพทย์ฟังดวงตาพวกเขาเป็นประกายและมีความมุ่ง มั่นในการที่จะเป็นแพทย์อย่างไม่ย่อท้อฉันเชื่อเสมอว่าพวกเขาจะจบเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตและเมื่อวันที่นักศึกษา แพทย์รุ่นหนึ่งจบเป็นแพทย์เต็มตัวก็เป็นอีกวันที่ฉันยิ้มให้กับตัวเองว่าฉันได้มีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์และช่วยคนไข้ เพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว ..
“ฉันไม่ต้องการให้เธอมีความรู้ทางแพทย์อย่างเดียวฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย” คำกล่าวนี้เป็นพระ ราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างของ “ครูแพทย์” ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและความเสียสละ บุคคลที่เป็นหมอนั้นนอกจากต้อง มีความรู้วิชาการแล้วยังต้องมีมนุษยธรรมต่อคนไข้อีกด้วย คำกล่าวนี้ยังคงตราตรึงในใจฉันและยึดถือปฏิบัติอยู่เสมอ ตั้งแต่วันแรกที่จบเป็นแพทย์จนถึงปัจจุบัน..
ผู้เขียน : ผศ.พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่