การดูแลทารกเมื่อกลับบ้าน

การดูแลทารกเมื่อกลับบ้าน

การดูแลลูกน้อยหลังออกจากโรงพยาบาล หลังจากที่พาลูกน้อยกลับบ้าน ลูกจะนอนนานแค่ไหน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะได้หลับเต็มอิ่มไหม สารพันคําถามโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกอาจเป็นช่วงเวลาที่โหดที่สุดสําหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ มาดูกันดีกว่าค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องทําอย่างไรบ้าง

อ.พญ.ฉัตรฉาย  เปรมพันธ์พงษ์  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้เราฟังว่า

การดูแลทารกเมื่อกลับบ้าน

การดูแลลูกน้อยหลังจากออกจากโรงพยาบาล จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย อยู่ที่เราต้องเข้าใจพัฒนาการของเขา เด็กส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการนอนมากในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเริ่มตื่นเพื่ออยากจะทําอย่างอื่นมากขึ้น เช่น ตื่นขึ้นมาเล่น ตื่นขึ้นเพราะเปียก ตื่นขึ้นมาเพราะหิว ซึ่งมีคําถามมากมายที่คุณพ่อคุณแม่มักจะถามอยู่เสมอๆ ดังนี้

จะให้ลูกน้อยนอนคว่ำหรือนอนหงายดี?

เนื่องจากช่วง 1-2 เดือนแรก ลูกน้อยยังคอไม่แข็งดี สถาบันการแพทย์ทั่วโลกและในประเทศไทยแนะนําให้ลูกน้อยนอนหงาย เพราะเป็นท่าที่ปลอดภัยมากที่สุด แต่ถ้าอยากให้ลูกน้อยนอนคว่ำหรือนอนตะแคงเพราะความเชื่อที่ว่าหัวจะสวย คุณแม่ควรจะต้องดูลูกน้อยอยู่ตลอดเวลาอย่าละสายตาเพื่อความปลอดภัยในการหายใจของเขา เช่น หัวอาจจะไปซุกอยู่ในที่นอนทําาให้หายใจไม่สะดวก จนอาจเกิดอันตรายได้ 

การให้นมลูก?

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลําบากที่สุดก็ว่าได้ เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มให้นมบุตรคือ การให้นมบุตรทันทีหลังคลอด โดยปกติลูกน้อยจะตื่นตัวมากหลังคลอด และเมื่อวางลูกน้อยบนหน้าอก ลูกอาจเคลื่อนตัวไปที่เต้านมและเริ่มดูดนมได้เอง อย่ากังวลว่าจะไม่สามารถให้นมลูกได้ทันทีหลังคลอด เด็กแรกคลอดส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาแม้ว่าน้ำนมของคุณแม่จะมาช้า นอกจากนี้ยังควรมีความถี่ในการให้นมลูกทุกๆ 2-3 ชั่วโมงในช่วงแรกหรือตามที่ลูกน้อยต้องการ วิธีนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมได้มากขึ้นและเพื่อลดหรือป้องกันอาการคัดตึงเต้านม ไม่ควรให้ลูกน้อยดื่มน้ำในช่วงนี้

วิธีการให้ลูกดูดนมที่ถูกต้อง?

พยายามให้ลูกอ้าปากกว้างๆ ใช้หัวนมแตะที่จมูกหรือริมฝีปากลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก เมื่อลูกอ้าปาก ให้ประคองศีรษะลูกเข้ามาที่หน้าอก ให้คางและริมฝีปากล่างของลูกสัมผัสเต้านมก่อน ควรตรวจดูว่า ลูกอมลานหัวนมได้ลึกดีพอหรือไม่ อย่าลืมว่าต้องอุ้มลูกเข้ามาหาอกแม่ ไม่ใช่ก้มตัวแม่ไปหาปากลูก ท่าทางในการให้นมลูก มีดังนี้ค่ะ

การดูแลทารกเมื่อกลับบ้าน

1)  ท่านั่งและอุ้มแนบอก อุ้มลูกนอนในท่าตะแคง ท้องของลูกแนบชิดกับท้องของคุณแม่ ใบหน้าของลูกเงยขึ้นจนมองเห็นหน้าคุณแม่  ในกรณีที่ลูกดูดนมด้านขวา ลําตัวของลูกจะอยู่บนท่อนแขนขวาของคุณแม่ และให้ใช้มือขวากุมกระชับก้นลูกเอาไว้  อาจหาหมอนมาช่วยพยุงหลัง รองใต้แขนและวางบนตักเพื่อให้เกิดความสบายขณะให้นมลูกได้

2) ท่านั่งและอุ้มแนบอกแบบสลับแขน (ท่าฟุตบอล) หาหมอนมาวางด้านข้างลําตัวของคุณแม่ วางลูกลงบนหมอนแล้วโอบกระชับลูกเข้ากับสีข้างด้านที่ คุณแม่ต้องการจะให้นม  โดยจัดให้ลูกนอนในท่ากึ่งตะแคง กึ่งนอนหงาย เท้าชี้ไปด้านหลัง พร้อมทั้งใช้ฝ่ามือด้านเดียวกับเต้านม ประคองท้ายทอยและหลังของลูกเอาไว้

การดูแลสุขภาพช่องปากลูกน้อย?

หลังจากให้ลูกทานนมอิ่มแล้ว การเช็ดทําความสะอาดช่องปากของลูก ก็ถือเป็นเรื่องสําคัญ เนื่องจากคราบนมที่ติดตามเหงือกและลิ้นของลูก  อาจทําให้เกิดฝ้าขาวขึ้นได้  ดังนั้น  คุณแม่มือใหม่ต้องใส่ใจ และหมั่นดูแลทําความสะอาดช่องปากของลูกเป็นประจําทุกวัน โดยเฉพาะเหงือกเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับฟันซี่น้อยๆ ของลูกที่จะขึ้นในไม่ช้า  และนมแม่เป็นอาหารธรรมชาติที่วิเศษที่สุดสําหรับลูกน้อย เพราะมีคุณค่าทางอาหาร ย่อยง่าย มีภูมิคุ้มกันโรค ไม่ต้องเตรียม สะอาด และสะดวก คุณแม่จึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยๆ 3-4 เดือน ตลอดจนทําให้เกิดฝ้าขาวในปากน้อยกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมขวด การดูแลความสะอาดช่องปากของลูกน้อย เพื่อทําให้เด็กปากสะอาดไม่เกิดเชื้อรา ทําให้ลูกเคยชินกับการมีสิ่งของเข้าปาก ซึ่งจะช่วยให้ลูกยอมรับการแปรงฟันได้ง่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องแปรงฟัน โดยการใช้ผ้านุ่มสะอาดพันปลายนิ้ว ชุบน้ำสะอาด เช็ดเหงือก

การร้องไห้?

เป็นเรื่องธรรมดาของทารกแรกเกิด เนื่องจากความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ ทําให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่เข้าใจลูกน้อย เช่น ลูกเป็นเป็นโคลิค ที่มักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก ส่วนมากจะร้องนาน 100 วัน และมักจะร้องเป็นเวลา เมื่อลูกไม่สบาย ลูกเจ็บป่วยมักจะร้องโยเย หากคุณแม่ลองจับตัวลูกดูก็อาจจะรู้สึกได้ว่าลูกตัวร้อนผิดปกติ และอาจมีอาการนําามูกไหล ไอ อาเจียนร่วมด้วย ควรวัดอุณหภูมิเพื่อดูว่ามีไข้หรือไม่ หากคุณแม่พบว่าลูกไม่สบาย ควรรีบพาไปพบแพทย์ หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยมักจะร้องไห้โยเยทุกครั้งที่นอนหงาย และร้องไม่ยอมนอน อาจเกิดจากอาการท้องอืดหรือแน่นท้อง คุณแม่ควรอุ้มลูกพาดบ่า พร้อมลูบหลังอย่างแผ่วเบา ลูกจะเรอเอาลมออกมา แล้วจะรู้สึกสบายตัว

อาการตัวเหลือง?

ในทารกหลังคลอดก็เป็นอีกภาวะที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน ซึ่งเกิดได้หลากหลายสาเหตุ เด็กตัวเหลืองหลังคลอดพบได้เสมอ เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ เช่น มีปัญหาโรคตับ ปัญหาของความผิดปกติของเอ็นไซม์ที่อยู่ในเม็ดเลือดบางประการ  รวมทั้ง  ปัญหาของกลุ่มเลือดของแม่กับลูกที่ไม่สัมพันธ์กัน แต่ที่พบบ่อยที่สุดคืออาการตัวเหลืองปกติในเด็ก ที่เกิดจากระบบการทํางานของตับยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ส่วนมากจะหายไปได้ภายในเวลาไม่นาน

เด็กแต่ละคนจะมีระดับของความเหลืองหรือที่เรียกว่าระดับบิลิลูบินไม่เหมือนกัน บางคนเป็นน้อยมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า บางคนก็มีระดับความเหลืองสูงจนคุณแม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า การรักษาก็จะดูเป็นระยะๆ ไปตามความรุนแรงของอาการตัวเหลืองนั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ต้องทําอะไร หากเป็นน้อยๆ จะหายไปได้เอง แต่ในกรณีที่ตัวเหลืองมองเห็นด้วยตา และตรวจสอบได้ว่ามีระดับบิลิลูบินสูงขึ้น คุณหมอจะให้การรักษาด้วยการอบไฟตามที่คุณแม่ได้รับทราบมาแล้ว จากนั้นก็จะตรวจระดับของบิลิลูบินเป็นช่วงๆ การที่คุณหมอบอกว่าผลของบิลิลูบินปกตินั้นคงหมายความว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีอันตราย ทําให้ไม่ต้องมีการรักษาพยาบาลที่มากไปกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายเลือดซึ่งอาจมีความจําเป็นในเด็กที่มีตัวเหลืองมากๆ เด็กที่ตัวเหลืองจะหายเป็นปกติและสามารถเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ได้ ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะว่าเด็กที่มีอาการตัวเหลืองและคุณหมอได้ให้การดูแลรักษาในช่วงแรก คุณหมอจะตรวจกรองโรคต่างๆ ดังที่เรียนให้ทราบแล้ว คุณแม่คลายกังวลและเลี้ยงลูกไปตามปกติเลย

ผู้เขียน : กิติยา สุวรรณสิทธิ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 14 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th