“เลเซอร์ผิวหนัง” อีกวิธีสำหรับการรักษาและฟื้นฟูสภาพผิวหนัง

“เลเซอร์ผิวหนัง” อีกวิธีสำหรับการรักษาและฟื้นฟูสภาพผิวหนัง

ฉบับก่อน เราได้คุยกันถึงกลไกการเสื่อมของผิวหนัง รวมถึงวิธีการป้องกันและวิธีการรักษาเมื่อผิวหนังเสื่อมด้วยยาไปแล้ว ในฉบับนี้เราจะพูดถึงวิธีการรักษาผิวหนังเสื่อมสภาพที่ได้ผลเร็วและได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ นั่นคือ

“การใช้เลเซอร์”

ในปัจจุบันได้มีการนําเลเซอร์ อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์มาใช้ทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยรักษาโรคทางผิวหนังบางชนิด หรือเพื่อความงามโดยตรง จะเห็นได้ว่ามีเลเซอร์ใหม่ๆ ชื่อแปลกๆ ออกมาแทบทุกเดือนแต่ละเครื่องก็มีคุณสมบัติโดดเด่นแตกต่างกันไป บางคนไปทํามาแล้วได้ผลดีคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ในขณะที่อีกหลายคนทําแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดผลข้างเคียง ทําให้ต้องเสียเงินไปโดยไม่จําเป็น และมีอีกหลายคนที่ทําตามกระแสโฆษณาโดยที่ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วคืออะไร ดังนั้น เราควรมาทําความรู้จักกับเลเซอร์เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นกันดีกว่า

เลเซอร์แตกต่างจากแสงที่เรามองเห็นคือ เลเซอร์มีช่วงความยาวคลื่นเดียวและเดินทางเป็นเส้นตรง ทําให้มีพลังงานที่สูงมาก ไม่เหมือนแสงจากหลอดไฟที่จะกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ เลเซอร์ถูกนํามาใช้ในทางการแพทย์เป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว และใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วง 10 ปีให้หลัง

ปัญหาความงามที่สามารถใช้เลเซอร์รักษาได้ผลดีมีดังนี้

1. ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่งเนื้อ หูด ตุ่มและก้อนบางชนิด

สามารถรักษาได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ เลเซอร์ชนิดนี้จะทํางานโดยการเผาและการตัด โดยขั้นตอนการรักษาจะยุ่งยากหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของปัญหา เช่น การรักษาติ่งเนื้อเล็กๆ สามารถทําได้โดยใช้ยาชาชนิดทาและใช้เวลารักษาเพียงไม่กี่นาที แผลหายภายใน 3-5 วัน หากเป็นไฝและขี้แมลงวัน แผลจะหายใน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึก

2. สีผิวเข้ม ในกรณีนี้หมายถึงปานสีน้ำตาล กระตื้น กระลึก กระแดด รอยสักและรอยดําบางชนิด

สามารถลดความเข้มข้นของสีลงด้วยเลเซอร์กลุ่มคิวสวิทช์ เช่น เลเซอร์คิวสวิทช์นีโอไดเนียม -  แย็ก ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ 532 และ 1064 นาโนเมตร ส่วนเลเซอร์ทับทิมชนิดคิวสวิทช์ มีความยาวคลื่นที่ 694 นาโนเมตร และเลเซอร์คิวสวิทช์อเล็กซานไดรท์ มีความยาวคลื่น 755 นาโนเมตร ในบางกรณีเช่น กระตื้นและกระแดด ใช้การรักษาเพียง 1-2 ครั้งรอยดําจะจางลง ในขณะที่กระลึก ปานชนิดลึก และรอยสักต้องทําการรักษาซ้ำหลายครั้งจนกว่าสีจะจางลงถึงระดับที่ต้องการ 

3. เส้นเลือดฝอยที่ใบหน้าหรือขา รวมทั้งรอยแดง ปานแดง และแผลเป็นชนิดสีแดง

สามารถทําให้ดีขึ้นได้ด้วยเลเซอร์ที่มีความจําเพาะเจาะจงกับเม็ดเลือดแดง เช่น เลเซอร์เพาซ์ดาย ซึ่งมีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 585-595 นาโนเมตร

4. กําจัดขน 

ใช้เลเซอร์ที่มีความจําเพาะต่อเม็ดสีที่อยู่ที่บริเวณรากขน เช่น เลเซอร์ลองเพาซ์อเล็กซานไดรท์ เลเซอร์ไดโอดและเลเซอร์ลองเพาซ์นีโอไดเนียม  -  แย็ก หลังรับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง เส้นขนจะเล็กลง จํานวนน้อยลง ขึ้นช้าลง จนอาจหายไปหมดได้ แต่อย่างไรก็ตามเลเซอร์กําจัดขนอาจจะไม่ได้ทําาให้ขนหายไปอย่างถาวร

5. แผลเป็นชนิดหลุม และริ้วรอย

สามารถใช้เลเซอร์ชนิดที่ทําให้เกิดการกระตุ้นคอลลาเจนใต้ผิว ซึ่งในกลุ่มนี้อาจแบ่งย่อยได้หลายชนิด แต่ชนิดที่นิยมได้แก่ เลเซอร์กระตุ้นผิวแบบแบ่งส่วนหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า แฟรกชันแนลเลเซอร์ โดยเลเซอร์จะถูกยิงออกมาในลักษณะเป็นจุดๆ โดยจะเว้นผิวปกติไว้บางส่วน ทําให้แผลหายเร็ว เลเซอร์กลุ่มนี้กระตุ้นคอลลาเจนได้ดี และผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้น 2-5 วันแล้วแต่ชนิดของเลเซอร์ เลเซอร์กลุ่มนี้นอกจากใช้รักษาแผลเป็นแล้ว ยังใช้กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนในผิวชั้นลึก เพื่อชะลอปัญหาริ้วรอยก่อนวัยได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เลเซอร์มีข้อจํากัดในแง่ของการกระตุ้นผิวชั้นล่าง ดังนั้น ผู้ที่มีสภาพปัญหาเช่นผิวหย่อนคล้อย ปัญหาร่องแก้ม คางเป็นสองชั้น หนังตาเริ่มตกอาจไม่สามารถแก้ไขด้วยเลเซอร์ได้ 

ในฉบับหน้าเราจะมาพูดถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น รวมทั้งโทษ ข้อจํากัดของเลเซอร์ และคําแนะนําก่อนการตัดสินใจใช้เลเซอร์กันครับ 

ผู้เขียน : ผศ. นพ.วาสนภ วชิรมน แผนกผิวหนังและเลซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 15 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th