การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี
(Automatic External Defibrillator :AED )

อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดนี้กำลังแพร่หลายและเป็นที่นิยม มักถูกติดตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลในจุดที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมากๆ และในเขตชุมชนต่างๆ เช่น สนามบิน สนามกีฬาห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

ปัจจุบันในโรงพยาบาลรามาธิบดีมีการติดตั้งเครื่อง AED อยู่แล้ว 2 ตำแหน่ง คือ บน Sky walk และศูนย์อาหารอาคารวิจัยและสวัสดิการ ในอนาคตจะมีติดตั้งอยู่ทุกอาคาร อุปกรณ์นี้ใครๆก็ใช้ได้ (คล้ายๆ กับถังดับเพลิงที่ทุกคนใช้ได้และต้องใช้เป็น) หลายท่านคงสงสัยแล้วว่า อุปกรณ์นี้คืออะไร นำมาติดตั้งเพื่ออะไร และจะใช้อย่างไร ลองมาศึกษากันดูกันนะคะ จะรู้ว่าง่ายมากทีเดียว

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

อุปกรณ์ชนิดนี้เรียกว่า เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automatic External Defibrillator :AED ) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถ “อ่าน” และ “วิเคราะห์” คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งให้รักษาได้ โอกาสที่จะรอดชีวิต ของผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถใชเครื่อง AED ร่วมกับ ทำการช่วยฟื้นชีวิต ขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใด และควรตระหนักไว้ว่าเวลาทุกๆ นาทีที่ผ่านไปนั้นมีค่าอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

เราจะใช้เครื่องเออีดีในสถานการณ์ใด

  1. กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และหมดสติ
  2. กรณีผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก สงสัยว่าโรคหัวใจกำเริบที่ไม่รู้สึกตัว และหมดสติ
  3. กรณีผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อกที่ไม่รู้สึกตัว และหมดสติ

วิธีการใช้เครื่อง AED
(เครื่องอาจมีหลายแบบหลายยี่ห้อ แต่การใช้งานเหมือนกัน)

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

1.  เปิดเครื่อง ในเครื่อง AED บางรุ่นท่านต้องกดปุ่มเปิดเครื่อง ในขณะที่เครื่องบางรุ่นจะทำงานทันทีที่เปิดฝาครอบออก เมื่อเปิดเครื่องแล้วจะมีเสียงบอกให้รู้ว่าท่านต้องทำอย่างไรต่อไปอย่างเป็นขั้นตอน

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

2.  ติดแผ่นนำไฟฟ้า เข้ากับหน้าอกของผู้ป่วย ติดแผ่นนำไฟฟ้าของเครื่องเออีดีเข้ากับหน้าอกของผู้ป่วยให้เรียบร้อย ในกรณีจำเป็นท่านสามารถใช้กรรไกรตัดเสื้อของผู้ป่วยออกก็ได้ กรรไกรนี้จะมีเตรียมไว้ให้ในชุดช่วยชีวิต (กระเป๋า AED) อยู่แล้ว ต้องให้แน่ใจว่าหน้าอกของผู้ป่วยแห้งสนิทดี ไม่เปียกเหงื่อ หรือเปียกน้ำ แผ่นนำไฟฟ้าของเครื่อง AED ต้องติดแนบสนิทกับหน้าอกจริงๆ ถ้าจำเป็นท่านสามารถใช้ผ้าขนหนูซึ่งจะมีเตรียมไว้ให้ในชุดช่วยชีวิต เช็ดหน้าอกของผู้ป่วยให้แห้งเสียก่อน การติดแผ่นนำไฟฟ้าของเครื่อง AED นั้นเริ่มด้วยการลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังออก ตำแหน่งติดแผ่นนำไฟฟ้าดูตามรูปที่แสดงไว้ เครื่องบางรุ่นมีรูปแสดงที่ตัวแผ่นนำไฟฟ้า บางรุ่นก็มีรูปแสดงที่ตัวเครื่อง ต้องติดให้แนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว แผ่นหนึ่งติดไว้ที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และอีกแผ่นหนึ่งติดไว้ที่ใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัว ตรวจดูให้แน่ใจว่าสายไฟฟ้าจากแผ่นนำไฟฟ้าต่อเข้ากับตัวเครื่องเรียบร้อย

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

3.  ให้เครื่อง AED วิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระหว่างนั้นห้ามสัมผัสถูกตัวผู้ป่วยโดยเด็ดขาด ให้ท่านร้องเตือนดังๆ ว่า “เครื่องกำลังวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ห้ามแตะต้องตัวผู้ป่วย”เครื่อง AED ส่วนใหญ่จะเริ่มวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจทันทีที่ติดแผ่นนำไฟฟ้าเสร็จ เครื่องบางรุ่นต้องให้กดปุ่ม “ANALYZE” ก่อน

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

 

4.  ห้ามแตะต้องตัวผู้ป่วย ถ้าเครื่อง AED พบว่าคลื่นไฟฟ้าของผู้ป่วยเป็นชนิดที่ต้องการการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ เครื่องจะบอกให้เรากดปุ่ม “SHOCK” และก่อนที่เราจะกดปุ่ม “SHOCK” ต้องให้แน่ใจว่าไม่มีใครสัมผัสถูกตัวของผู้ป่วย ร้องบอกดังๆ ว่า “คุณถอย ผมถอย และทุกคนถอย” ก่อนกดปุ่ม “SHOCK” ให้มองซ้ำอีกครั้งเป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้าย

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

เมื่อเครื่องบอกว่า ไม่ต้องช็อก หรือ “No shock is needed” หรือ “start CPR” ให้ท่านเปิดเครื่องAED ไว้ก่อนและให้เริ่มช่วยฟื้นชีวิตขั้นพื้นฐานทันที

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี

ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้ง ประมาณ 2 นาที หรือจนกว่าเครื่อง AED จะวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจอีกครั้ง แล้วกลับไปยังข้อ 3 และ 4 สำหรับขั้นตอนที่ 1 และ 2 ไม่ควรใช้เวลาเกิน 30 วินาทีและทำการช่วยเหลือรอจนกว่าความช่วยเหลืออื่นๆ จะตามมา

หากท่านใด หรือหน่วยงานใด สนใจต้องการจะฝึกอบรมการช่วยชีวิตและการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้หัวใจอัตโนมัติ หรือ AED โปรดติดต่อโครงการปฏิบัติการช่วยฟื้นชีวิต ชั้น 3 อาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โทร. 02-201-2305-6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เอกสารอ้างอิง

1.  American Heart Association ; BLS for Healthcare Providers Student Manual, 2011
2.  คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ; สรุปแนวทางปฏิบัติการช่วยชีวิตปี ค.ศ. 2010 (Highlights of the 2010 American Heart Association Guidelines for CPR and ECC), 2555
3.  คณะกรรมการปฏิบัติการช่วยฟื้นชีวิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ; Manual Heartsaver AED, 2548
4.  คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ; คู่มือเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เออีดี ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 1, 2548

ผู้เขียน : อมรรัตน์ ศุภมาศ พยาบาลประจําโครงการปฏิบัติการช่วยฟื้นชีวิต โครงการปฏิบัติการช่วยฟื้นชีวิต
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 18 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th