“ขุยบนหนังศีรษะ” อาการแรกเริ่มของสะเก็ดเงิน

“ขุยบนหนังศีรษะ” อาการแรกเริ่มของสะเก็ดเงิน

“รังแค”

หรือขุยสีขาวบนหนังศีรษะ สามารถพบได้บ่อยในคนทั่วไป มักมีอาการเป็นๆ หายๆ และมีอาการคันที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ รวมทั้งคุณภาพชีวิตบางรายเป็นมากจนเห็นเป็นขุยขาวๆ ลามออกมานอกหนังศีรษะ ซึ่ง “รังแค” เกิดจากการหลุดลอกของผิวหนังส่วนบนของหนังศีรษะ หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับผิวหนังมีขี้ไคล โดยปกติแล้ว ผิวหนังชั้นบนของคนเราจะมีการผลัดเซลล์อยู่ตลอดเวลา แต่หากหนังศีรษะมีโรคบางอย่าง อาจทำให้มีการหลุดลอกของหนังศีรษะมากเกินไปจนเป็นขุยเต็มศีรษะได้ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ และที่คนส่วนใหญ่กลัวกันมากคือ “โรคสะเก็ดเงิน”

“ขุยบนหนังศีรษะ” อาการแรกเริ่มของสะเก็ดเงิน

“โรคสะเก็ดเงิน” เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังอย่างหนึ่งที่พบได้ 1-3% ของประชากรทั้งหมด โดยมักมีผื่นเป็นปื้นแดง มีขุยสีขาวหนากระจายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตามข้อเข่า ข้อศอก หลัง ก้นกบ และมักมีผื่นขุยบนหนังศีรษะร่วมด้วยได้มากถึง 80% ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินทั้งหมด อีกทั้งกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ขุยบนหนังศีรษะจะเป็นอาการเริ่มแรกของโรคสะเก็ดเงินได้

ขุยบนหนังศีรษะของโรคสะเก็ดเงิน มักเป็นขุยสีขาวหนา ที่มีขอบเขตชัดเจนบนหนังศีรษะ ส่วนมากจะมีปื้นขุยเลยขอบไรผมได้ อาจมีอาการคันร่วมด้วย แต่โดยทั่วไปไม่ทำให้ผมร่วง ในขณะที่ขุยรังแคทั่วไป มักจะไม่เป็นขุยหนานัก ไม่เห็นขอบเขตชัดเจนไม่เป็นแนวเลยไรผม และอาจทำให้ผมร่วงได้ ทั้งนี้ ขุยบนหนังศีรษะโรคสะเก็ดเงินสามารถรักษาได้โดยหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีการลอกของหนังศีรษะ มีขุยมากขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา แอลกอฮอล์ เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินเห่อได้ ทั้งในส่วนของผิวหนังและหนังศีรษะ และการทำใจให้สบาย พักผ่อนออกกำลังกายให้เพียงพอการหลีกเลี่ยงความเครียดและการอดนอนก็จะช่วยได้นอกจากนี้ การหมักละลายขุยที่หนังศีรษะ เช่น การใช้ยาละลายขุยและน้ำมันบางชนิด โดยอาจหมักไว้ที่หนังศีรษะ แล้วคลุมด้วยถุงครอบพลาสติกข้ามคืน แนะนำให้ทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2    ครั้ง ซึ่งการละลายขุยที่หนังศีรษะนี้เป็นส่วนสำคัญมากในการรักษา เพราะเมื่อขุยละลายออกได้มาก ก็จะช่วยให้หนังศีรษะสามารถดูดซึมยาที่ลดการอักเสบอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

“ขุยบนหนังศีรษะ” อาการแรกเริ่มของสะเก็ดเงิน

การรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้แชมพูยาเพื่อลดการอักเสบของหนังศีรษะก็สามารถทำได้ และควรสระผมอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์  ส่วนการใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อลดการอักเสบของหนังศีรษะนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษา อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้มักมีข้อจำกัดในการใช้ ควรใช้ภายใต้การแนะนำและควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการใช้ยารับประทาน และการใช้ยาฉีดชีวภาพ มักใช้ในกรณีที่เป็นผื่นหนา เป็นมาก และดื้อต่อการรักษาอื่น ๆ สุดท้ายคือการรักษาด้วยการฉายแสงรังสีอัลตร้าไวโอเลตเฉพาะที่วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องทำหลายครั้งเพื่อให้ผื่นดีขึ้น

เมื่อมีขุยที่หนังศีรษะ การจะบอกว่าเป็นรังแคปกติ หรือเป็นอาการเริ่มต้นของโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยอาจไม่สามารถประเมินได้เอง ดังนั้น การไปพบแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ไม่ควรซื้อยามาทาเอง เพราะยาแต่ละชนิดก็มีผลข้างเคียง และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

ผู้เขียน : ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 19 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th