อ. พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล “งานวิจัยที่มีแบบแผนกับผู้ป่วยโรค SLE”
โรค SLE อย่างที่ทราบกันว่าเป็นโรคที่มีระดับความรุนแรงในผู้ป่วยแตกต่างกันไป และยังมีปัจจัยการเกิดโรคจากหลายสาเหตุ รวมทั้งมีความยากในการวินิจฉัยโรคและรักษาหากจะหยิบยกงานวิจัยเกี่ยวกับโรค SLE ที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็คงจะต้องเป็นงานวิจัยที่มีผลลัพธ์ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ฉบับนี้ คอลัมน์ Research Focus ได้รับเกียรติจาก อ. พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่ทำงานวิจัยด้าน SLE มาโดยตลอด มีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นที่น่าภาคภูมิใจ และเป็นผู้ที่มีรูปแบบการทำงานวิจัยที่มีแบบแผนทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานวิจัยในปัจจุบัน
ความสนใจเกี่ยวกับโรค SLE
โรค SLE เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง โดยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากกว่าปกติ ทำงานต่อต้านเนื้อเยื่อของตัวเองและทำให้เกิดการอักเสบตามมา SLE เป็นโรคที่มีความยากต่อการวินิจฉัยและการรักษา แล้วก็ยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนอายุน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ๆ บางรายอาจเป็นตั้งแต่เด็ก ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้จะรักษาค่อนข้างยากเพราะอาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างซ้อนอยู่ และโรค SLE ก็ยังเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ ผู้ป่วยโรค SLE บางรายเมื่ออายุมากขึ้น โรคอาจควบคุมได้ง่ายขึ้นหรือสงบลง เพราะภูมิคุ้มกันจะทำงานลดลง
เราสามารถพบผู้ป่วยโรค SLE ได้ในทุกเพศทุกวัย และพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายในอัตรา 9 ต่อ 1 คน ถึงแม้ว่าผู้ชายจะพบน้อยกว่าผู้หญิง แต่มักจะเป็นหนักในผู้ชาย นอกจากนี้ยังไม่มีการรักษาในปัจจุบันที่ทำให้หายขาดได้ แต่ทำให้อาการสงบจากการรับประทานยาได้ ที่ผ่านมาเราพบผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้วอาการหายไปนาน 30 กว่าปี โดยที่ไม่ได้กินยา แต่ในที่สุดก็กลับมาพบแพทย์และมีอาการหนักมาเลย พบอาการไตวายมีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเราคิดว่าจริง ๆ แล้วโรคไม่ได้หายไปไหน แต่ในคนไข้รายนี้การดำเนินโรคช้ามากทำให้การกำเริบของโรคเกิดค่อนข้างช้า
ส่วนการให้ยารักษาในปัจจุบัน เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำงานมาก ก็ต้องให้ยากดภูมิ พอให้ยากดภูมิก็อาจติดเชื้อได้ แต่ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยที่ได้ยากดภูมิทุกคนจะต้องเกิดการติดเชื้อเสมอไป ผู้ป่วยบางรายก็ไม่พบการติดเชื้อเลยถึงแม้ว่าได้รับยากดภูมิขนาดสูงเหมือน ๆ กัน จึงคิดว่ามีความแตกต่างกันของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยแต่ละราย มีหลายสถาบันที่กำหนด Guideline การรักษาโรค SLE ไว้อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็พอจะใช้เป็นแนวทางในการรักษาได้บ้างในผู้ป่วยที่อาการไม่ได้สลับซับซ้อน แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น Guideline เหล่านี้ก็ไม่สามารถเอามาใช้แล้วทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีได้จริง จึงไม่มีสูตรสำเร็จทางการแพทย์ในการให้การรักษาโรค SLE เพียงแบบเดียวแล้วจะทำให้ได้ผลในคนไข้ SLE ทุกคน ในบางการศึกษามีรายงานว่าเรื่องเชื้อชาติและพื้นฐานของพันธุกรรมของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรค SLE ในประชากรกลุ่มนั้น ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น หากพบว่าเป็นเชื้อชาตินี้ควรเริ่มด้วยยาตัวนี้เลยเพราะว่ายาอีกตัวหนึ่งไม่ได้ผล ทำให้การรักษาคนไข้ได้ผลดีที่เร็วขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปใช้ยาที่ไม่ได้ผล
“เริ่มต้นในสิ่งที่ตัวเองรู้จะดีที่สุดต้องพยายามยืนและเดินอยู่บนขาของตัวเองก่อนอย่าเริ่มต้นทำวิจัยในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญเพราะเราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ”
ปัญหาของโรค SLE ในเชื้อชาติของไทยเราคือ ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าพันธุกรรมแบบใดจะตอบสนองกับยาตัวใดที่เหมือนกับข้อมูลของเชื้อชาติอื่น แล้วยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยในการพิจารณาการรักษา เช่น สิทธิเบิกจ่าย ยาที่ใช้ในการรักษาได้ ซึ่งทำให้การวางแผนการรักษาทำได้ยากขึ้น ส่วนความชุกของโรค SLE ตัวเลขน่าจะอยู่ในหลักหลายหมื่นคนถึงแสนคน เป็นการประมาณการณ์จากข้อมูลที่สำรวจในชาวเอเชียที่รายงานว่า พบผู้ป่วยทุก ๆ 1 คนในประชากร 1,000 คน โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด เกิดในคนอายุน้อย ต้องรักษากันไปหลายสิบปี ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจโรคและให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างมาก ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งผู้ป่วยคิดว่าหายแล้วไม่ต้องกินยาแล้ว แต่พอหยุดยาไปสักพักโรคก็กำเริบเลย และถ้ามีอาการกำเริบเราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าโรคจะกำเริบที่อวัยวะใด ผู้ป่วยบางรายก็ซื้อยากินเอง ซื้อสเตียรอยด์กินเอง กว่าจะมาพบแพทย์อีกครั้งก็บวม มีอาการหนักไปแล้วก็มี ซึ่งการได้ยาสเตียรอยด์อย่างเดียวก็ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดี ถึงแม้ว่าโรค SLE เมื่อเทียบกับจำนวนโรคทั้งหมดแล้วมีอัตราที่พบได้ไม่บ่อยมาก แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดไตวายเรื้อรังที่ต้องทำ Dialysis ซึ่งจะเห็นได้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับตัวเองที่อยากให้เกิดการรักษาคนไข้ SLE ให้ได้ประสิทธิภาพและเกิดผลแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด เพื่อคนไข้จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้มาสนใจทำงานวิจัยทางด้าน SLE โดยเฉพาะ
อยากให้เล่าเกี่ยวกับการทำงานวิจัยโรค SLE
เริ่มต้นจากการค้นคว้าข้อมูลมากมาย แล้วตั้งสมมติฐานกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ด้วยความที่โรค SLE นั้นมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน การทำวิจัยในผู้ป่วยมีข้อจำกัดของการได้มาของตัวอย่างเซลล์และเนื้อเยื่อของผู้ป่วยที่จะนำมาทดสอบ และการศึกษาในคนไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความเข้าใจของกลไกการเกิดโรคได้อย่างชัดเจน ในฐานะแพทย์เมื่อเราพบคนไข้ที่มีอาการของโรคชัดเจนตรงหน้า โดยผู้ป่วยแต่ละคนก็มาหาด้วยอาการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือความผิดปกติอะไรที่เกิดก่อนหน้านั้นที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรค ดังนั้น ในช่วงที่ตัวเองไปทำงานวิจัยที่ National Institutesof Health (NIH) ที่สหรัฐอเมริกา จึงทำการศึกษาและทดลองในสัตว์ทดลอง โดยทำในหนูทดลองที่เป็นโรค SLE ซึ่งหนูทดลองบางสายพันธุ์ก็เป็นโรค แต่ยังไม่รู้ว่ามีความผิดปกติที่ใด โดยในโมเดลสัตว์ทดลองที่เป็น SLE จะมีหลายโมเดลที่ทำให้เกิดโรค แต่ความแตกต่างเกิดจากพันธุกรรมของหนูที่แตกต่างกัน ซึ่งเราคิดว่าถ้าเราสามารถศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและเข้าใจความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่สลับซับซ้อนในโมเดลสัตว์ทดลองได้ ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจการเกิดโรคในคนและทำวิจัยในผู้ป่วยได้ดีขึ้น
ผลงานวิจัยที่ภาคภูมิใจ
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ที่รู้สึกภาคภูมิใจ ซึ่งได้ตีพิมพ์เรื่องราวงานวิจัยที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วไป เป็นงานวิจัยที่ออกแบบทำในหนูทดลองโมเดลหนึ่ง ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้กันมานานกว่า 30 ปีแล้ว ในโมเดลหนูทดลองที่เราศึกษานั้นทราบกันอยู่ก่อนว่า หนูตัวผู้จะแสดงอาการของ SLE รุนแรงมากกว่าตัวเมีย ซึ่งจะทราบกันแค่ว่า Y โครโมโซมของหนูสายพันธุ์นี้มีความผิดปกติ แต่ไม่รู้ว่าผิดปกติอย่างไร ส่วนที่เราค้นพบก็คือ Y โครโมโซมที่มีความผิดปกติ เกิดจากการมีบางส่วนของ X โครโมโซม ไปอยู่บน Y โครโมโซม หรือพูดง่าย ๆ คือมีการ duplicate ของ X โครโมโซมไปอยู่บน Y โครโมโซม ซึ่งโดยปกติหนูตัวผู้จะต้องมี X โครโมโซม เพียง 1 ชุด แต่หนูตัวผู้โมเดลนี้มี X โครโมโซม ไปอยู่บน Y โครโมโซมด้วย ฉะนั้น จึงทำให้มี X โครโมโซม 2 ชุด คล้ายกับหนูตัวเมีย แต่หนูตัวผู้นี้จะมีความแตกต่างจากตัวเมียก็คือ ตัวเมียมี X โครโมโซม 2 ชุด แต่มีกระบวนการที่ทำให้เกิด X activated จึงทำให้ X โครโมโซมจริง
ไม่ทำงาน 1 ชุด แต่สำหรับตัวผู้ไม่มีกระบวนการนี้ จึงทำให้ยีนที่อยู่บน X โครโมโซมทำงานทั้ง 2 ชุด และทำให้มีการทำงานของยีนนั้นเพิ่มขึ้น 2 เท่า นอกจากนี้ ยังค้นพบอีกว่า หนูทดลองตัวนี้มีการทำงานที่เพิ่มขึ้นของยีน TLR7 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เกิด Duplicate เมื่อเรากระตุ้น TLR7 ก็มีการสร้าง Autoantibody เกิดขึ้น งานวิจัยนี้ส่งผลให้มีการต่อยอดการทำงานวิจัยจากเราไปอีกหลายชิ้น มีผู้พยายามพัฒนายาเพื่อยับยั้ง TLR7 และมีผู้ตรวจหาการเกิด Duplication ของ TLR7 ในผู้ป่วย SLE ซึ่งเมื่อเรากลับมาที่รามาฯ เราเองก็ได้ Set Lab วิจัยเพื่อตรวจหาในคนไข้ SLE ของเราว่ามียีน TLR7 เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งพบว่าในผู้หญิงบางคนมีปริมาณยีน TLR7 ที่เพิ่มขึ้น แต่ในผู้ป่วยเพศชายกลับไม่ค่อยเจอ
พื้นฐานในการ Set Lab จำเป็นอย่างไร
โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าเราอยากมี Lab อะไรเกิดขึ้นโดยเร็วก็คงต้องลงมือทำเอง แต่ถ้าต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ทำให้ก็คงต้องรอ ความจำเป็นในการ Set Lab หากมีความสามารถในเรื่องนี้ก็จะดีมากเพราะจะทำให้เกิดการทำวิจัยได้เร็ว มีอาจารย์รุ่นใหม่ที่มีไฟ มีความเก่งในการทำงานมากมาย แต่เมื่อจะเข้าสู่กระบวนการทำงานแล้ว อาจไม่มีความรู้เรื่องการ Set Lab มาก่อน ก็อาจขอทุนในการจัดหาคนมาช่วยทำ Lab ให้ได้ แต่ก็อาจไม่ได้ผลเร็วดังใจเพราะต้องรอ และถ้าเกิด Lab มีปัญหาก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นถ้าหากมีความสามารถในการ Set Lab ได้เอง ก็จะเป็นทักษะที่ช่วยให้ทำวิจัยได้คล่องตัวขึ้นอีกระดับหนึ่ง
การแบ่งเวลาในการทำงานวิจัย
ในการทำงานวิจัยจะมีตารางเวลาทำงานไม่เหมือนกัน จะพยายามไม่นำงานหลายอย่างมาทำพร้อมกัน พยายามทำงานตาม Plan เช่น วันนี้จะเขียน Paper ก็ทำตาม Plan นั้น วันนี้จะทำวิจัย สอนหนังสือ ดูคนไข้ ก็ทำตาม Plan จะพยายามไม่ให้งานกระจัดกระจายออกไป พยายามรวมงานที่ทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ไปอยู่รวมกัน และจัดเวลาที่ว่างหลายชั่วโมงมาให้กับงานวิจัยเพราะเวลาดูผลของงานวิจัยหรือเขียน Paper เราจะต้องมีช่วงเวลายาว ๆ ไปกับมัน
การทำงานวิจัยในแบบตัวเอง
ส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยคำถามวิจัยที่เราเจอ ทั้งจากคนไข้หรือมีโจทย์ที่เราเจอจากในวารสารต่าง ๆ ก็มาดูว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง แล้ววางแผน ที่สำคัญเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีรวมตัวของเครือข่ายวิจัยขึ้นมา แล้วแบ่งหน้าที่รวมทั้งระดมความคิดกันว่ามีอะไรที่ทำได้บ้าง เช่น ทุนวิจัยเรามีอยู่เท่าไร พอหรือไม่ ต้องช่วยกันเขียน ช่วยกันหาทุนที่สำคัญคือต้องพยายามหาคำตอบในจุดที่สำคัญที่สุดก่อน ให้พยายามดูจุดที่สำคัญนั้นเป็นหลัก และเก็บข้อมูลอื่น ๆ รอบข้างที่อาจเป็นตัวแปรในการแปลผลงานวิจัยด้วย หรือถ้าเรื่องที่เราสนใจมันเป็นเรื่องยาก เราก็จะทำการทดลองเป็น Pilot ไปก่อนเพื่อดูแนวโน้มของความเป็นไปได้ของการทำวิจัยต่อไป
เมื่อได้คำถามแล้ว วางแผนการทำทดลองแล้ว ก็วางแผนการเก็บข้อมูล แล้วดูว่ามีกลไกอะไรในการทำงานที่จะช่วยในการทำวิจัยได้บ้าง ส่วนตัวโชคดีที่มีนักเรียนมาช่วยงานวิจัย นอกจากนี้ เรายังต้องเลือกทีมที่ดีสำหรับเรา ต้องสามารถทำงานเข้ากันได้ คุยกันเข้าใจไปในทางเดียวกัน แล้วเราก็ต้องคำนึงด้วยว่าเราจะช่วยทีมได้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่ต้องการให้ทีมเขามาช่วยเราเท่านั้น จากนั้นก็วางแผน A แผน B จะมีเพียงแผนเดียวไม่ได้ เพราะแม้การทำงานตามขั้นตอนในแผน A แล้วไม่เวิร์ค เรายังสามารถนำข้อมูลมาใช้กับ แผน B ต่อได้
นักวิจัยจำเป็นต้องอ่านงานวิจัยจำนวนมากหรือไม่
หากเป็นอาชีพนักวิจัยการอ่านงานวิจัยจะยิ่งดีมาก ๆ จะทำให้ได้รู้ว่าอะไรที่น่าทำ ไม่น่าทำในงานวิจัย จุดใดที่น่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ แล้วยังทำให้ได้รู้ด้วยว่ามีเรื่องอะไรที่มีคนเคยทำไปแล้วบ้าง ทำกันเยอะไหม หรือมีมุมอื่นอะไรที่ยังไม่มีใครทำ สิ่งที่อยากให้เน้นคือ เราควรจะเพิ่มความรู้ใหม่แก่ชุมชนมากกว่าซึ่งบางครั้งความรู้ที่ได้อาจยังนำไปใช้ทันทีในการรักษาผู้ป่วยไม่ได้ แต่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่ต้องเติมและต่อยอด และเราชื่อมั่นว่าในที่สุดก็จะกลับมาสู่การรักษาผู้ป่วย ซึ่งในการทำวิจัยเราก็ต้องทำให้คนอื่นเขารู้ด้วยว่าเราค้นพบอะไร และสุดท้ายคือการนำสิ่งที่ค้นพบไปเผยแพร่สู่สาธารณชนด้วยการตีพิมพ์
งานวิจัยอื่น
อีกงานวิจัยคือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงปก เรื่อง IL-17 mediates glomerulonephritis independently of autoantibodies ในวารสาร Immunity ซึ่งงานวิจัยของเราได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารนี้ และทางกองบรรณาธิการได้ขอให้เราส่งภาพเพื่อประกอบกับเนื้อหางานตีพิมพ์ของเรา เพื่อคัดเลือกในการนำลงปกวารสารนี้ ซึ่งรูปที่เราส่งไปก็ได้รับการคัดเลือก ซึ่งงานวิจัยที่ได้ลงปกนี้ทำในโรค SLE เช่นเดียวกัน โดยการนำหนูทดลองที่มีความผิดปกติของยีน Fc gamma receptor2b ซึ่งมีอาการของโรค SLE มาค้นหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้หนูทดลองหายจากโรค เราก็ทำการทดลองและพบว่าการไม่มีโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ Traf3ip2/Ciks ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถส่งสัญญาณของ IL-17 ไซโตไคน์ได้ จะทำให้หนูมีชีวิตอยู่รอดและไม่เกิดการอักเสบที่ไต (lupus nephritis) การทำงานวิจัยชิ้นนี้สามารถแสดงกลไกการเกิดโรคที่สลับซับซ้อนได้อย่างละเอียด
ยังมีงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อกลางปี 2561 ในหนังสือ Scientific Reports ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไข้ SLE ที่มีความยากในการรักษา ซึ่งเราต้องการติดตามโรคเพื่อควบคุมไม่ให้โรคกำเริบโดยใช้ biomarker ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้ปรับยาให้คนไข้เพื่อจะได้ควบคุมโรคได้ดีซึ่งเราได้ทำการ Set Lab กับแผนกอิมมูโนโลยี ภาควิชาพยาธิวิทยา เพื่อตรวจหา circulating immune complex (CIC) ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญในขบวนการเกิดโรค SLE ซึ่งจะเป็นตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงเริ่มๆก่อนที่โรคจะกำเริบ และเราก็พบว่าการตรวจหา CIC นี้มีความไวและความจำเพาะต่อการกำเริบของโรค SLE มากกว่า biomarker ที่ใช้กันในปัจจุบันจากข้อมูลนี้จึงนำมาซึ่งการเปิด Lab ตรวจหา CIC และใช้ CIC ในการติดตามการรักษาโรค SLE ในโรงพยาบาลรามาธิบดี
ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
เริ่มต้นในสิ่งที่ตัวเองรู้จะดีที่สุด ต้องพยายามยืนและเดินอยู่บนขาของตัวเองก่อน อย่าเริ่มต้นทำวิจัยในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญเพราะเราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ เพราะอย่างที่กล่าวตอนต้นว่าเราต้องรอความช่วยเหลือ ถัดมาคือพยายามอ่านรีวิวให้มาก อาจใช้เวลาในการเตรียมนานหน่อย วางแผนให้ดี ทำตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ หาทีมงานที่ดี การเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ต้องมีทีมทำงานไปด้วยกัน ถ้าเกิดเราไม่มีคนที่สามารถทำงานไปด้วยกันได้ งานเราก็มีโอกาสไม่สำเร็จได้ เพราะงานวิจัยในปัจจุบันจะเป็นแบบสหสาขา และเราก็ไม่สามารถรู้ไปได้หมดทุกสาขา แล้วก็สร้างเครือข่ายในการทำงานด้วย พยายาม set up meeting ร่วมกันให้เป็นประจำก็จะช่วยทำให้งานมีความคืบหน้าได้ เพื่อให้เห็นทิศทางในงานของเรา ส่วนเรื่องแหล่งทุน มีแหล่งทุนอยู่บ้าง ให้พยายามเขียนส่งไป ต้องไม่สิ้นความพยายามในการขอแหล่งทุน สักวันจะมีคนเห็นและสนใจให้ทุนได้ ข้อแนะนำคือ เมื่อขอทุนให้ระบุไปด้วยว่าจะนำผลจากงานวิจัยนี้ไปขอทุนนี้นั้นต่อ เราก็อาจได้ทุนมา สิ่งสำคัญก็คือเราต้องรู้ว่าเราทำเพื่ออะไร ต้องมีจุดยืนของเราอย่างของหมอคือการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ จากสมมติฐานของเรา เมื่อเราได้คำตอบสิ่งที่เราสงสัย ก็เกิดความสุขใจเหมือนกับได้รางวัลกลับมา ถือเป็น self-reward ที่ไม่ต้องให้ใครมาให้รางวัล และเป็น self-motivation ให้ทำงานวิจัยต่อไป เนื่องจากงานวิจัยที่ดีและมี impact ต่อสาธารณะชนมักจะไม่ได้เกิดจากการทำวิจัยที่ฉาบฉวย ต้องทุ่มเท ใช้เวลา และต้องมีการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ทุ่มเททำงานวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของเรา
ผู้เขียน : ดนัย อังควัฒนวิทย์ ภาพ: เมธี บัวจู
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่