เงินหรืองาน บันดาลสุข
“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”
เป็นคำขวัญที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก.. ไม่แปลกเลยที่ใครหลายคนคิดแบบนี้
ปัจจุบันคนส่วนมากมุ่งมั่นกับการทำงานเพื่อหาเงิน เพื่อจะได้มีบ้านใหญ่ ๆ รถแพง ๆ โก้ ๆ ทำให้ต้องทำงานมากขึ้นไปเรื่อย ๆ บางคนก็ได้เงินมาแล้วก็เก็บอย่างเดียว พอแก่แล้วก็เอาเงินที่เก็บมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล.. บางคนอยากรวยทางลัดก็ทุ่มไปกับการเล่นการพนัน.. การทุจริตคอรัปชั่น.. บ่อยครั้งที่มีเรื่องทะเลาะกันก็ไม่พ้นเพราะเรื่องเงินทอง บางคนสายเลือดเดียวกันแท้ ๆ แต่ก็ต้องตัดขาดกันเพราะ “เงิน”.. หรือข่าวตามหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ก็เห็นกันบ่อยไปว่ามีคนทำร้ายกันเพราะเรื่อง “เงิน” อีกเช่นกัน ถามว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือเปล่า.. เปล่าเลย “เงิน” ไม่ได้ทำอะไรผิด เงินไม่มีชีวิต เพียงแต่เจ้าเงินนี่แหล่ะ ที่มนุษย์เป็นคนกำหนดให้มันมีค่า ใช้แลกเปลี่ยนข้าวของได้เท่านั้นเอง มนุษย์ต่างหากที่ยึดติดกับเงินมาก จนเกิดความโลภ ความหลง และเป็นสาเหตุให้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ ตามมา คงไม่เถียงว่าทุกคนล้วนอยากมีความสุข.. แต่ “เงิน” ไม่เท่ากับ “ความสุข” ที่แท้จริง เงินไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เดี๋ยวเสียเงินก็เศร้า พอได้เงินก็ดีใจ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ พอต้องการเงินมาก “ความโลภ” ก็เข้าครอบงำ และเป็นจุดเริ่มต้นของอบายอีกหลายอย่างตามมา..
แล้วเราเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า “ความสุข” ที่แท้จริง คืออะไร? หรือที่เราทำงานทุกวันนี้เพราะอะไร?
เมื่อหลายปีที่แล้วฉันเคยอ่านบทความของผู้ชายคนหนึ่งที่ได้เล่าเรื่องราวของตัวเขาเองกับครอบครัวไว้ใน website หนึ่ง เขาเล่าว่า เขาทำงานอยู่กรุงเทพฯ กำลังกลุ้มใจเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เขาต้องทำงานหนักเพื่อหาเงิน วันหยุดยาวช่วงหนึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสกลับไปบ้าน ไปเยี่ยมพ่อกับแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด บ้านเขาไม่รวย เป็นบ้านติดทะเล เขาถามพ่อกับแม่ว่า รู้ไหมว่าตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี หุ้นก็ตก พ่อแม่บอกว่าไม่รู้ และไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร เพราะพ่อแม่ก็มีอาหารกินอุดมสมบูรณ์อยู่ทุกวัน บ้านเขาเลี้ยงไก่ไว้ออกไข่ พ่อก็ออกไปตกปลามาเป็นอาหาร แม่ปลูกผักเอง ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านล้วนเอามาทำอาหารกินได้ อิ่มหนำสำราญ ถึงแม้หุ้นจะตก พวกเขาก็ยังมีข้าวปลาอาหารกิน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เครียดเหมือนนักธุรกิจร้อยล้านที่กำลังกังวลว่าหุ้นตก จะเสียเงินไปอีกเท่าไร.. ก่อนกลับมากรุงเทพฯ ชายหนุ่มคนนี้ก็เข้าใจคำว่าอยู่อย่าง “พอเพียง” แบบพ่อกับแม่เขานี่ ก็มีความสุขดีนะ ดีกว่าชีวิตเขาและเจ้านายเขาอีก ที่ดูมีเงินเยอะ แต่ก็ต้องทำงานหนัก และคอยกลุ้มใจเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่เห็นยิ้มเหมือนพ่อกับแม่เขาเลย..
ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง บ้านใหญ่โต มีรถหรูนับสิบคัน มีเงินเยอะมาก ๆ ประมาณว่าใช้ชาตินี้ก็ไม่หมด แต่อยู่ตัวคนเดียว ไม่เคยแบ่งปันให้คนอื่น ไม่รู้จักคำว่าให้.. เขาไม่มีเพื่อน ญาติก็ไม่มีใครคบ ไม่มีคนที่รักเขาจริง ๆ เขาบอกว่า ตื่นขึ้นมา ไม่มีใคร ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า คุณจะเลือกเป็นอย่างนี้ไหม? อันนี้หรือเปล่าที่เราเรียกว่า “ความสุข” ? ระหว่างเงินจำนวนมาก หรือ ความสัมพันธ์ที่ดี ความรักจากเพื่อน คนในครอบครัว หรือการมีคุณค่าในตัวเอง ?
อาจจะมีคนถามฉันว่า กล่าวอย่างนี้ไม่ยุติธรรม แล้วตัวฉันล่ะไม่ต้องการเงินเลยหรืออย่างไร? เปล่าเลยค่ะ ทุกคนล้วนต้องการเงินเพื่อมาซื้อปัจจัย 4 ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตทั้งนั้น แต่ต้องการแต่เพียงพอดี เมื่อเงินที่เรามีสามารถทำให้เราดำรงชีวิตได้ มีที่อยู่อาศัย มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ให้เราได้เติบโต แข็งแรง ใช้รักษายามเจ็บไข้ได้ จะได้มีแรงไปช่วยเหลือคนอื่น ไปพัฒนาตนเอง พัฒนางานต่อไป
..ไม่ใช่ต้องการเงินจำนวนมากเกินความจำเป็น แล้วต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น หรือกลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว คดโกง กลายเป็นมีเงินแล้วทุกข์ กลัวเงินจะหาย อันนี้เงินก็ไม่ได้ทะให้คุณมีความสุขแต่อย่างใด..
หลายคนทำงานเพื่อหาเงิน.. ก็จะมีความสุขทุกวันสิ้นเดือน พอเงินหมดความสุขก็หาย ไม่มีแรงทำงาน พอโดนตัดเงินเดือน เจ้านายไม่ให้ 2 ขั้น ก็ไม่อยากทำงานแล้ว แถมโกรธเพื่อนอีก ทำไมเพื่อนได้เงินเดือนขึ้น แต่เราไม่ได้.. เคยฟังพระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาส วัดป่าสุคะโตเทศน์ ท่านเล่าว่า มีคนงานกำลังก่อกำแพงวัดอยู่ 3 คน พอถามคนแรกว่ากำลังทำอะไร ชายคนนั้นก็ตอบว่ากำลังก่ออิฐ พอถามคนที่สองบอกว่ากำลังสร้างกำแพง พอถามคนที่สามบอกว่ากำลังสร้างวัด การทำงานของทั้งสามคนต่างกันมาก คนแรกดูเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข รอแต่เมื่อไรจะเลิกงาน ขณะที่คนที่สามทำงานด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน ถึงเหงื่อท่วมตัว ก็ดูไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งที่เป็นงานเดียวกัน..
หากคุณทำงานเพราะเงิน คุณก็อาจจะเหนื่อยล้า และไม่อยากมาทำงาน หากวันใดเงินหมด เงินเดือนไม่ขึ้น หรือเพื่อนได้เงินมากกว่าเรา แต่หากคุณคิดว่าคุณกำลังทำงานเพื่อพัฒนาองค์กร เพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ เพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์จากสิ่งที่คุณกำลังทำ สิ่งที่คุณทำเป็นสิ่งมีคุณค่า คุณก็จะทำงานอย่างมีความสุข ยกตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่นทำงานที่ร้านอาหาร บริการดีเกินร้อย โค้งแล้วโค้งอีก อาหารก็ไม่ได้แพง ทำไมถึงบริการดีอย่างนี้ หรือคนขับแท็กซี่บริษัทแห่งหนึ่ง ที่บริการลูกค้าประดุจญาติมิตร พูดจาสุภาพ หรือคนทำความสะอาดห้องน้ำ ที่ทำด้วยรอยยิ้มถึงแม้จะต้องอยู่ในห้องน้ำทั้งวัน.. เมื่อถามคนเหล่านี้ จะได้คำตอบว่า สิ่งที่เขาทำเพื่ออยากเห็นรอยยิ้มของลูกค้าเวลาที่มากินข้าวที่ร้านอาหาร เวลานั่งรถของเขา หรือแม้แต่เวลาเข้าห้องน้ำ บ่งบอกว่าเขาทำงานได้สำเร็จแล้ว แค่นี้เขาก็มีสุขที่ได้ทำงานแล้ว คนญี่ปุ่นจะไม่อยากได้เงินค่าทิป เพราะเขาถือว่าเป็นหน้าที่ทีเขาต้องทำให้ดีที่สุด.. หากทำงานเพื่อหวังว่าจะได้ค่าทิป แล้วไม่ได้ ก็จะไม่มีสุขในการทำงาน มีคนเคยถามฉันว่าตรวจคนไข้เหนื่อยไหม? เพราะเห็นฉันคุยกับคนไข้ได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แม้จะดึกแล้วก็ตาม ฉันบอกว่าตรวจคนไข้เหมือนตรวจญาติ รู้จักกันมานาน บางคนดูกันตั้งแต่เกิดจนโต ได้รับรู้ความเป็นไปของพวกเขา เห็นพัฒนาการ จากเด็กประถม จนเข้ามหาวิทยาลัย จนทำงาน พอรักษาเขา แล้วเขาหายก็เป็นเหมือนกำลังใจให้เรามีแรงทำงานต่อไป นี่คือ “ความสุข” ที่ได้จากการทำงาน.. ยอมรับว่าก่อนตรวจคนไข้บางครั้งก็รู้สึกเหนื่อยเพราะทำงานมาทั้งวัน แต่ที่แปลกกว่า คือ พอตรวจเสร็จ ความเหนื่อยกลับหายเป็นปลิดทิ้ง ได้ความอิ่มเอิบใจมาแทน..
พระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจึงกล่าวเกี่ยวกับงานไว้ว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน” หากเราทำงานเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นทำงานให้มีความสุข เราก็จะสนุกกับงานที่ได้ทำ.. ฉันเชื่อว่าหากเราทำงานดี ตั้งใจทำ ทำด้วยความสุข.. อันนี้ถือว่าเราได้ “ความสุข” ไปแล้วในขั้นแรก ส่วนเงินก็จะตามมาเอง และหากเราอยู่อย่างพอเพียง เราก็จะไม่หงุดหงิดและทุกข์ใจ “คนที่มีความสุข ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่รวยที่สุด” แต่ “คนที่รวยความสุข คือ คนที่รู้จักพอเพียง และรู้จักแบ่งปัน..”
ผู้เขียน : รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่