ใช้ยาทาสเตียรอยด์อย่างไรให้ปลอดภัย
ยาที่มีบทบาทมากในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบ คัน หรือแพ้ คือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกันและอื่น ๆ เหมือนกับคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต โดยพบว่าโรคผิวหนังเช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) โรคผิวด่างขาว (vitiligo) มีการตอบสนองได้ดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก (topical steroids)
โดยในท้องตลาดมีจำหน่ายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ขี้ผึ้ง ครีม เจล โลชัน และมีลักษณะของผลิตภัณฑ์และวิธีใช้แตกต่างกัน การเลือกใช้ต้องพิจารณาถึง ชนิดของโรค ตำแหน่ง ลักษณะรอยโรค ตัวยา รูปแบบและความแรงของตัวยา เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ป่วย แม้ว่ายาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย และค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ โดยส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดเฉพาะที่ เช่น ทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้า ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง ผิวแดง/ด่าง มีริ้วลาย การทาบริเวณหน้าอาจเกิดผื่นแดงและตุ่มแดงคล้ายสิว มีส่วนน้อยที่เกิดกับระบบภายในร่างกายเมื่อใช้ยาที่มีความแรงสูงติดต่อกันเป็นเวลานานและทาเป็นบริเวณกว้างหรือผิวหนังเปิด เป็นต้น อาการที่พบเช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะกดการทำงานของต่อมหมวกไต เกิดกลุ่มอาการคุชิง (Cushing’s syndrome) โดย
ข้อแนะนำเบื้องต้นในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก มีดังนี้
- ไม่ใช้กับโรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
- ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงกับผิวหนังที่บาง เช่น ใบหน้า เปลือกตา อวัยวะเพศ ข้อพับ และผิวทารก รวมถึงบริเวณผิวหนังเปิด เช่น ผิวถลอกหรือมีแผล เนื่องจากจะมีการดูดซึมยาได้มากขึ้น
- การใช้ยาทาชนิดอื่น ๆ ร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน เนื่องจากยาทาบางชนิดจะเพิ่มการดูดซึมของยาได้มากขึ้น เช่น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน และทาเป็นบริเวณกว้าง หากมีความจำเป็นควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ควรเลือกใช้ความแรงต่ำหรือปานกลาง และใช้แค่ระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนหญิงให้นมบุตร ห้ามทายาที่บริเวณเต้านมก่อนให้นม
ปัจจุบัน มีการนำยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมาใช้อย่างไม่ถูกต้องกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยาสามารถทุเลาอาการได้ดีและเห็นผลเร็ว แต่ถ้านำมาใช้ไม่ตรงกับโรค อาจทำให้ผลของยาบดบังอาการของโรค และเป็นสาเหตุทำให้โรคลุกลาม จนอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาตามข้อแนะนำข้างต้น และใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร
ผู้เขียน : ภก.ชวัลวิชญ์ เลิศตระการสกุล ภญ.นันทพร เล็กพิทยา เภสัชกรคลินิก งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่