การใช้และปัญหาจากยาใกล้ตัว : ทำความรู้จักยาปฏิชีวนะ

ทำความรู้จักยาปฏิชีวนะ

“ยาปฏิชีวนะ” หรือ “ยาฆ่าเชื้อ” เป็นยาที่สังเคราะห์ได้จากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อาทิเช่น แบคทีเรีย รา เป็นต้น หรือสังเคราะห์ได้จากกระบวนทางเคมี ซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และในที่สุดเชื้อโรคเหล่านั้นก็ตาย

รับประทานอย่างไร

ยาปฏิชีวนะควรรับประทานติดต่อกันจนหมด แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว นั่นเพราะอาการที่ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเชื้อโรคในร่างกายจะหมดไป การหยุดรับประทานยาจะทำให้เชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่พัฒนาเกิดเป็นเชื้อที่ดื้อยาต่อไปได้ดังนั้นควรรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันจนหมดตามที่แพทย์สั่ง

ยาปฏิชีวนะที่ห้ามรับประทานร่วมกับนม หรือ ยาลดกรด

ยาปฏิชีวนะที่ห้ามรับประทานร่วมกับนม หรือยาลดกรด ได้แก่ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม fluoroquinolone เช่น ยา norfloxacin, ciprofloxacing เป็นต้น และยาปฏิชีวนะกลุ่ม tetracycline ห้ามรับประทานร่วมกับนม โยเกิร์ตหรือยาลดกรด เพราะยาสามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับประจุบวกของธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม อลูมิเนียม ทำให้ยาดูดซึมได้ลดลง ระดับยาในเลือดไม่เพียงพอในการรักษา

การรับประทานยาปฏิชีวนะ ก่อน/หลังรับประทานอาหาร

ยาปฏิชีวนะที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร ได้แก่ ยา dicloxacillin, cloxacillin และ roxithromycin ทั้งนี้เพราะยาเหล่านี้สามารถดูดซึมได้ดีขณะท้องว่าง และอาหารมีผลต่อการดูดซึมของยาทำให้การดูดซึมของยาลดลง

เมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา ควรดื่มน้ำตามมากๆ

เพราะยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา เช่น ยา sulfonamide, sulfamethoxazone มีความเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะละลายได้ดีในด่าง แต่ปัสสาวะของคนเรามีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งยาส่วนใหญ่ถูกขับออกทางไต ดังนั้นยาจึงละลายได้น้อยและอาจตกตะกอนที่ไตได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำตามมากๆหลังรับประทานยาเพื่อป้องกันการตกตะกอนที่ไต

กลุ่มของยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ที่ควรรู้จัก

กลุ่ม Penicillins

  • Penicillin V
  • Cloxacillin
  • Dicloxacillin
  • Amoxicillin
  • Amoxicillin/potassium clavulanate
 

กลุ่ม Cephalosporins

  • Cephalexin
  • Cefaclor
  • Cefdinir
  • Cefixime
  • Ceftibuten
     

กลุ่ม Fluoroquinolones

  • Norfloxacin
  • Ciprofloxacin
  • Ofloxacin
 

กลุ่ม Tetracyclines

  • Tetracycline
  • Doxycycline
     

กลุ่ม Macrolides

  • Clarithromycin
  • Azithromycin
  • Roxithromycin
  • Midecamycin
  • Erythromycin
 

กลุ่มยา Sulfonamide

  • Sulfadiazine
  • Sulfasalazine
  • Sulfamethoxazole
  • Trimethoprim/sulfamethoxazole
     

กลุ่มยา Aminoglycosides

  • kanamycin
 

กลุ่มยา Lincosamides

  • Clindamycin
  • Lincomycin

 

ปัญหาที่พบได้จากการใช้ยา

  • หากลืมรับประทานควรทำอย่างไร

หากลืมรับประทานให้รับประทานทันทีที่นึกได้ หรือรับประทานมื้อถัดไป ไม่ควรรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือปรับขนาดยาด้วยตัวเอง

  • การรับประทานยาเกินขนาด (Overdose) จะเกิดอะไรขึ้น

การได้รับยาเกินขนาดจะต้องได้รับยาในปริมาณมากๆ ถึงจะเกิดพิษ ซึ่งพิษที่เกิดขึ้น มีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม penicillins และ cephalosporins อาการพิษที่เกิดขึ้นคืออาการกระวนกระวาย สับสน ประสาทหลอน และเกิดอาการชักได้ สำหรับยากลุ่ม fluoquinolones มีการรายงานว่าทำให้เกิดไตวายได้ และยากลุ่ม aminoglycosides จะทำให้เกิดความพิษต่อระบบไต หู และระบบประสาทได้

สิ่งใดก็ตามล้วนมีพิษ แม้กระทั่งน้ำบริสุทธิ์ มันขึ้นอยู่กับว่าเรากินมากกินน้อย

-Paracelsus-

เอกสารอ้างอิง

  1. Chambers HF. Sande MA. Antimicrobial Agent. In:Hardman JG. Limbird LE, editors. Good man & Gilman’s the pharmacological basis of therapeutics. 9thed. Philadelphia:McGraw-Hhill;1996.p.1029-101
  2. Erwin K, Steven K, Rivard R, Teri H, Ranee M, Wendy L, et al. Drug fact and comparison. 53rd ed. St. Louis, USA; 1999. p.2181-400
  3. Leong WF, Judi C, Leean JA, Ghia T, Corazon SH, Zharmaine JN. Mims. 128thed.Thailand;2012.
  4. Anresco Labs [online]. 2013[cited 2014 Jun 29] Available from: http://www.drugs.com/pro/dicloxacillin.html