พิษจากแมงดาทะเล

 

Bulletin (April - June 1995 Vol.3 No.1)

         โรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารทะเลที่มีพิษนั้นพบได้บ่อย เนื่องจากความนิยมบริโภคอาหารทะเล แต่

ภาวะ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทำให้เกิดความเป็นพิษในห่วงโซ่อาหาร (food chain) และที่สุดก็ทำให้เกิดเป็นพิษในคน  พิษจากการรับประทานอาหารทะเลหลายครั้ง เกิดในคนหมู่มากและบางครั้งรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ในระหว่าง
เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2538 ที่ผ่านมาทางศูนย์พิษวิทยาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับรายงานผู้ป่วยได้รับพิษจากการรับประทานแมงดาทะเลจำนวนทั้งสิ้น 115 ราย 
 
          ผู้ป่วยรายแรก เป็นชายอายุ 22 ปี รับประทานแมงดาทะเลชนิดหางเป็นเหลี่ยมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 
8-10 นิ้ว โดยเริ่มมีอาการหลังรับประทานไปประมาณ 5 ชั่วโมง เริ่มจากลิ้นแข็ง พูดไม่มีเสียง มีอาการอ่อนแรงของกล้าม
เนื้อ จนกระทั่งเกิด ภาวะการหายใจล้มเหลวต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ประมาณ 1 วัน อาการดีขึ้น และสามารถกลับบ้าน
ได้ภายในวันที่สามของการรักษา
 
         รายที่สอง เป็นชายอายุ 51 ปี รับประทานแมงดาทะเลชนิดหางกลม 2 ตัว หลังรับประทานประมาณ 4-5 
ชั่วโมง เริ่มรู้สึกชาที่ลิ้น ลำตัว และแขนขา เดินเซ ต่อมาไม่มีแรง ไม่สามารถลุกนั่งได้ มีอาเจียน 1 ครั้ง แต่ไม่มีอาการปวด
ท้อง หรือถ่ายเหลว รวมทั้งไม่มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ บุคคลอื่นๆ ในครอบครัวที่ร่วมรับประทานด้วยปกติดี ยกเว้นหลานสาวมีคลื่นไส้ อาเจียน แต่อาการไม่มาก ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง สามารถกลับบ้านได้ในวันที่
สอง ผู้ป่วยที่เหลือมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงเช่นเดียวกัน ในจำนวนนี้มี 9 รายที่มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต
 
         ศูนย์พิษวิทยาตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น จึงได้ทบทวนกรณีที่เกิดการเป็นพิษจากการรับประทาน แมงดาทะเล
ในประเทศไทยดังนี้คือ
 
         พ.ศ. 2509 ผู้ป่วย 2 รายเป็นหญิง อายุ 30 ปีกับบุตรชายอายุ 9 ปี ได้รับประทานยำไข่แมงดาทะเล หลังจากนั้น 30 นาที เริ่มชาที่ริมฝีปาก และปลายนิ้วมือ ต่อมาอาการชามากขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกงง วิงเวียน ตัวเบา คลื่นไส้ อาเจียน แขนขา
อ่อนแรง ยืนไม่ได้ หายใจไม่สะดวก ประมาณ 12 ชั่วโมงมารดามีอาการดีขึ้น และกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปกติภายใน 20 ชั่วโมง แต่อาการแสดงทาง cerebellum ยังปรากฏอยู่จนถึง 24 ชั่วโมง ส่วนบุตรชายมีอาการรุนแรงมาก ในที่สุดเสียชีวิต จากการหยุดหายใจภายหลังจากรับประทาน 1 ชั่วโมง 10 นาที
         นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยอีก 4 ราย ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน เกิดพิษจากการรับประทานยำไข่แมงดา เป็นหญิงอายุ 41 ปี บุตรชาย 2 คน อายุ 23 ปี และ 20 ปี กับบุตรสาวอายุ 15 ปี หลังรับประทานบุตรชายคนโต ซึ่งรับประ ทาน ยำไข่แมงดามาก มีอาการผิดปกติคือ เสียวและชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมากล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาพร่า มารดามีอาการ คล้าย คลึงกันแต่รุนแรงน้อยกว่าและอาเจียนออกมา 2-3 ครั้ง ระหว่างทางที่มาโรงพยาบาลผู้ป่วย รู้สึกว่ากล้าม  เนื้ออ่อนแรงลงมาก ศีรษะเบา และทรงตัวลำบาก ทั้ง 4 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยทั้งหมดอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลับสู่
สภาพปกติภายหลัง 3 วัน
         แมงดาทะเล (Horseshoe crab) เป็นสัตว์โบราณที่พบได้ชุกชุมทั่วไปในอ่าวไทย ทั้งฝั่งทะเลด้าน จังหวัด
ชุมพร ถึงจันทบุรี แมงดาทะเลชอบอาศัยหมกตัวอยู่ตามพื้นโคลน หรือทรายตามชายฝั่งน้ำตื้น บริเวณอ่าว และปากน้ำ ฤดูวางไข่ของแมงดาทะเลเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงกันยายน ฤดูนี้แมงดา จะชุกชุมและมีไข่ซึ่งคนชอบรับประทาน
โดยทำเป็นอาหารคาว เช่น ยำไข่แมงดาทะเล แกงคั่วสับประรด เป็นต้น หรือบางครั้งทำเป็นของว่าง เช่น เชื่อมน้ำตาล
 
         แมงดาทะเลในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ 
  1. แมงดาถ้วย หรือ แมงดาไฟ หรือเห-รา (Carcinoscorpius rotundicauda ) แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษที่เรียกว่าสาร tetrodotoxin
  2. แมงดาจาน (Tachypleus gigas) แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ ชาวบ้านนำมาทำเป็นอาหาร 
         โดยทั่วไปสามารถแยกแมงดาทั้ง 2 ชนิดได้ โดยลักษณะภายนอกคือ แมงดาถ้วยตัวจะเล็กกว่า ขนาดโตเต็ม
ที่ไม่เกิน 18 เซ็นติเมตร ลักษณะหางจะกลมและเรียบ ส่วนแมงดาจานตัวจะโตกว่าขนาดเต็มที่อาจโตถึง 30 เซ็นติเมตร ลักษณะเฉพาะคือ ส่วนหางถ้าดูหน้าตัด หางจะเป็นสามเหลี่ยม มุมด้านบนของสามเหลี่ยมจะเป็นรอยหยักชัดเจน ในการ ระบาดของการเป็นพิษจากการรับประทานไข่แมงดาทะเลในปี 2538 นี้ ผู้ป่วยทั้งหมดมี อาการชาตามปาก แขนขา  แล้วตามด้วยอาการอัมพาต ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดจากการหยุดหายใจเนื่องจาก กล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน 
 
         ลักษณะเป็นพิษดังกล่าวเข้าได้กับอาการเป็นพิษของ tetrodotoxin หรือ saxitoxin ซึ่งยับยั้งการทำงานของ sodium channel โดยตรง 
 
         อาการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย
อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้าม เนื้อหายใจอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจตายภายใน 6-24 ชั่วโมง จากการหยุดหายใจ
         
         อาการพิษจากแมงดาทะเลนั้นยังไม่มี antidote เฉพาะ จึงต้องให้การรักษาแบบ supportive โดยเอาสิ่งที่เป็นพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำ gastric lavage การให้ activated charcoal และ cathartic อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังดูแลเกี่ยวกับการหายใจ ถ้าหยุดหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สาเหตุของการเกิด
          
         การระบาดในครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ข้อมูลการทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้น พบว่า แมงดาถ้วยที่พบใน
ประเทศไทย บางตัวมีพิษ บางตัวไม่มีพิษ โดยทั่วไปพบว่ามีพิษประมาณ 30 % แต่ไม่สามารถแยกตัวที่มีพิษกับตัวที่ไม่มีพิษจากลักษณะภายนอกได้ จากการสอบถามผู้ป่วย ส่วนใหญ่รับประทานแมง
ดาถ้วย สาเหตุที่รับประทานแมงดาถ้วย 
 
         ประการแรก เพราะความเชื่อผิดๆ ของ ชาวบ้านว่า ตัวเห-รามีพิษ แต่แมงดาถ้วยไม่มีพิษ ตัวเห-ราสามารถแยกจากแมงดาถ้วย คือ ตัวมีขนและ ตาแดง
 
         ประการที่สอง ปัจจุบันมีชาวประมงจากอิสานมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ในการแยกประเภท แมงดา
 
         ประการที่สาม ในปีนี้พบแมงดาถ้วยเพิ่มขึ้นและแมงดาจานลดลงอย่างมาก 
เป็นอัตราส่วน แมงดาจานต่อแมงดาถ้วย 1 : 100 ซึ่งสาเหตุดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด
          
         อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายยืนยันว่าเป็นพิษจากแมงดาจาน ซึ่งไม่เคยเป็นพิษมาก่อน  นอกจากนี้ข้อมูล การระบาด พบการเป็นพิษของแมงดาทะเล ก่อนหน้านี้ปีละ 0-1 ราย แต่ในการระบาดครั้งนี้มีผู้ป่วย เป็นร้อยราย และรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มบริเวณจังหวัดสมุทรปราการถึงชลบุรี ซึ่งถ้าเป็นจากแมงดาจาน มีพิษจริง อาจจะเกิดจาก การผสมข้ามพันธุ์ หรือจากการสร้างสารพิษขึ้นใหม่เนื่องจากสภาวะสิ่งแวดล้อม  หรือเกิดปรากฏการณ์น้ำแดง  (Red tides) ข้อสรุปดังกล่าวยังต้องศึกษาต่อไป
           
         สำหรับปรากฏการณ์น้ำแดง หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ที่สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไป เป็นสีเขียว 
สีน้ำตาลแดง หรือสีแดง สาเหตุที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีเนื่องจากมีการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ (bloom) ของ plankton
พืช หรือสาหร่ายเซลล์เดียว (algae) จำพวก dinoflagellates จำนวนมาก โดยทั่วไป ถ้าสภาวะอาหารน้อยสาหร่าย
เซลล์เดียวจะแพร่พันธุ์แบบ sexual ทำให้เกิด cyst ตกตะกอนอยู่บนพื้นทะเลแต่ในบางเวลาที่สภาวะสิ่งแวดล้อม
ที่เหมาะสม   สาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้จะขยายพันธุ์แบบ asexual คือการแบ่งตัวที่ทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่าง
รวดเร็ว โดยปกติสาหร่ายเซลล์เดียว มี 2-3 ตัวใน น้ำ 1 ลิตร ในภาวะ bloom อาจแบ่งตัวมากถึง 20 ล้านตัว 
ในน้ำ 1 ลิตร   ผลกระทบของน้ำเปลี่ยนสี คือทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำตายด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น อุดตันที่เหงือก ปริมาณ oxygen ในน้ำน้อยลง และตายจากสารพิษเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำ เช่น หอย 2 ฝา ที่สะสมสารพิษที่สร้าง จากสาหร่าย เซลล์เดียวไว้ในตัวผู้ที่บริโภค หอยที่ปนเปื้อนสารพิษก็ จะเกิดพิษขึ้น ทำให้เกิดอาการเช่น paralytic, diarrhetic หรือ neurotoxic shellfish poisoning 
 
         ในต่างประเทศ มีรายงานการตายของสัตว์เศรษฐกิจชนิดต่างๆ หรือการตายของสัตว์อนุรักษ์ เช่น ปลาวาฬ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี  กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญของ โลกปัญหาหนึ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการ
         ประการแรก   ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีพบบ่อยขึ้นหลายเท่าในบริเวณที่เคยพบภาวะน้ำแดง สาเหตุที่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยขึ้น เข้าใจว่าเกิดจากมลภาวะตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะตามเมือง ใหญ่ๆ จากการศึกษายืนยันว่าถ้าอัตราส่วนของ nitrogen หรือ phosphorus ซึ่งเป็นของเสียที่ปล่อยลงในทะเลต่อ silica สูงขึ้น จะทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวชนิดเป็นพิษ bloom ขึ้น 
 
         ประการที่สอง ได้มี ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดในบริเวณที่ไม่เคยเกิดทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สาเหตุที่สำคัญเนื่องจากปัจจุบันมีการเดินเรือติดต่อกันทั่วโลก เรือเหล่านี้สามารถนำ cyst ของสาหร่ายเซลล์เดียว  จากที่หนึ่งแพร่ ไปอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย
         ในประเทศไทยได้มีการศึกษาภาวะน้ำแดงในอ่าวไทย พบว่ามักจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึง พฤษภาคม
 ส่วนใหญ่เกิดจาก Trichodesmium erythraeum ซึ่งมีมานานและไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้มีการ bloom ของ Noctiluca ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งของไทย ส่วนการระบาดของ paralytic shellfish poison 
ในปี 1983 นั้น เข้าใจว่าเป็นจาก Protogonyaulax tamarensis ในปัจจุบันมีรายงานการเกิดภาวะน้ำแดง
บ่อยขึ้นในอ่าวไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับมลภาวะบริเวณชายฝั่งทะเลเช่นกัน
 
 
เอกสารอ้างอิง:
  1. มุกดา ตฤษณานนท์และคณะ. แมงดา ทะเล จดหมายเหตุทางการแพทย์. 2509; 49: 309-321.
  2. อัธยา กังสุวรรณ. พิษแมงดาทะเล วารสารกรมประมง. 2531; 41: 129-134
  3. อัธยา กังสุวรรณ. ชีวพิษในสัตว์น้ำ. สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม สัตว์น้ำ กรมประมง (Personal communication) 2538.
  4. กรมประมง กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์. คำแนะนำเกษตรกรประมง เกี่ยวกับน้ำทะเลเปลี่ยนสี. แผ่นพับแจก 2536.
  5. จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล. พิษแมงดา ทะเล. (Personal communication) 2538.
  6. สมิง เก่าเจริญ. แมงดาทะเลเป็นพิษ ใน หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 24 มีนาคม 2538.
  7. Kungsuwan A, Noguchi T, Arakawa O, Simidu U, Tsukamoto K, Shid Y, et al. Tetrodotoxin-producing bacteria from the horseshoe crab Carcinoscorpius rotundicauda. Nippon Suisan Gakkaishi 1988; 54: 1799-1802.
  8. Trishnananda M. Poison following the ingestion of the horseshoe crab (Carcinoscorpius rotundicauda): report of four cases in Thailand. J Trop Med Hyg 1966; 69: 194-196.
  9. Anderson DM. Red tides. Scientific American 1994; 52-58.
  10. Suvapepun S. Occurences of red tides in the gulf of Thailand. In: Red Tides. Biological, Environmental Science, and Toxicology. Okaichi, Anderson, and Nemoto Editors: Elsevier Science Publishing Co., Inc; 1989: 41-44.