การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (endoscopic ultrasound; EUS)

การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (endoscopic ultrasound; EUS) 

การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (endoscopic ultrasound; EUS) คือ การรักษาด้วยวิธีการพิเศษ โดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์เพื่อดูเยื่อบุด้านในของระบบทางเดินอาหาร ใช้คลื่นความถี่สูงเพื่อดูภาพที่มีรายละเอียดของผนังทางเดินอาหารทั้งส่วนบน (หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น) และผนังทางเดินอาหารส่วนล่าง (ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก) และสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อทำการตรวจได้ โดยแพทย์จะใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ตรงปลายมีลักษณะโค้งงอได้ เรียกว่า เอ็นโดสโคป (endoscope) สอดเข้าทางปากหรือทวารหนัก แล้วเลื่อนไปยังตำแหน่งที่ต้องการตรวจ จากนั้นจะเปิดเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อให้เกิดคลื่นเสียง และทำให้เห็นภาพของระบบทางเดินอาหาร

วิดีโอตัวอย่าง

Credit: Johns Hopkins Pathology

ประโยชน์ของการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์

  1. ใช้ในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ เนื่องจากการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพลักษณะทางเดินอาหารได้ชัดเจนขึ้น
  2. ใช้ในการประเมินความผิดปกติ เช่น การเติบโตของก้อนเนื้อที่ตรวจพบก่อนการส่องกล้องหรือเอกซเรย์ โดยจะทำให้แพทย์เห็นภาพของก้อนเนื้อได้ชัดเจน สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด
  3. ใช้ในการตรวจวินิจฉัยตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี หากตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด
  4. ช่วยให้แพทย์ทราบได้ถึงระยะของมะเร็งที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ และช่วยให้ทราบได้ว่ามะเร็งได้กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะสำคัญใกล้เคียงอื่นๆ เช่น เส้นเลือด แล้วหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจใช้การอัลตราซาวนด์ในการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อส่งตรวจและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ขั้นตอนการตรวจรักษา

  • การตรวจทางเดินอาหารส่วนบน แพทย์จะฉีดสเปรย์ยาชาเข้าไปในคอของผู้ป่วยเพื่อให้รู้สึกชาก่อนเริ่มการตรวจ ผู้ป่วยจะถูกจัดท่าให้นอนตะแคงซ้าย และจะได้รับยานอนหลับผ่านทางเส้นเลือดเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นแพทย์จะทำการสอดกล้องลงไปทางปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยทั่วไปการตรวจวิธีนี้จะใช้เวลา 15-45 นาที ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย ส่วนบางรายหลับไประหว่างการตรวจ
  • การตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยทั่วไปไม่ต้องใช้ยาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผู้ป่วยอาจได้รับยานอนหลับในกรณีที่ต้องใช้เวลานานหรือแพทย์ต้องการตรวจลำไส้ใหญ่เฉพาะที่ ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าให้นอนตะแคงซ้าย หันหลังให้กับแพทย์ การตรวจส่วนใหญ่จะใช้เวลา 10-30 นาที

ข้อควรคำนึงในการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยอัลตร้าซาวด์

  • อัลตร้าวซาวด์ไม่สามารถใช้การตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมได้ เช่นปอด กระเพาะอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะอากาศจะไม่สะท้อนคลื่นสัญญาณกลับ ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณมาสร้างภาพได้
  • อัลตร้าซาวด์ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูกได้ เพราะกระดูกจะสะท้อนคลื่นกลับหมด ไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปยังอวัยวะต่างๆ ได้
  • ผู้ป่วยต้องงดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิด ประมาณ 4-6 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้) พร้อมกลั้นปัสสาวะเอาไว้ เพราะจะสามาถมองเห็นอวัยวะในช่องท้องทั้งหมดได้อย่างชัดเจน
  • กรณีที่แพทย์สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบห้ามผู้ป่วยดื่มน้ำและรับประทานอาหารทุกชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์