นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

Salt เรื่องเกลือ ๆ ในภาษาอังกฤษ

Volume
ฉบับที่ 53 เดือนกรกฎาคม 2567
Column
Vocab With Rama
Writer Name
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

 

           เมื่อพูดถึงเครื่องปรุงรสที่เรียกว่า ‘เกลือ’ (Salt (n): /sɔːlt/) เราย่อมนึกถึงเครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม (Salted (adj): / sɔːltid/)(Salty (adj): /ˈsɔːlti/) ทำให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อม ตลอดจนนำไปใช้ในการถนอมอาหาร (Food Preservation (n): /fuːd ˌprezəˈveɪʃn/) เรียกได้ว่าในอารยธรรมของมนุษยชาตินับหลายพันปี เกลือมีบทบาทจำเป็นในการดำรงชีวิต ทุกเชื้อชาติ ทุกวัฒนธรรม นอกจากให้รสชาติแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในความเชื่อหรือพิธีกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ เชื่อไหมคะว่า ความสำคัญของเกลือยังเคยมีบทบาทสำคัญกับการก่อสงครามในอดีตมาแล้วด้วย

           ศัพท์ภาษาอังกฤษของเกลือหรือ Salt นั้น มีวิวัฒนาการมาจากคำว่า “Sal” ในภาษาละติน ซึ่งย่อมาจากคำว่า Salarium argentums หรือแปลได้ว่า “ทองขาว” เพราะนับว่าเป็นสินค้าที่มีค่าสูงในยุคกลาง คำนี้ต่อมาได้แปลงมาเป็น กำหนดรูปแบบการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานของอาหารและสินค้าอื่น ๆ ทำให้มี The Old Salt Route (n) (/əʊld sɔːlt ruːt/) หรือ เส้นทางสายเกลือเก่า ที่เป็นเป็นเส้นทางการค้าของยุคกลาง โดยเกลือที่ขนส่งบนเส้นทางสายนี้ส่วนใหญ่มาจากเหมืองใกล้ลือเนอบวร์ค (Lüneburg) ซึ่งเป็นเมืองทางเหนือตอนกลางของเยอรมนี จากนั้นก็ขนส่งไปยังลือเบค (Lübeck) ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของเยอรมนีบนฝั่งทะเลบอลติก  

           เกลือมีบทบาททางการแพทย์มาแต่สมัยโบราณ ในคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ (Traditional Medicine (n): /trəˌdɪʃənl ˈmedsn/) ของอินเดียระบุว่าสามารถใช้เกลือเพื่อรักษาผิวหนัง ดวงตา สวนทวาร (Enema (n): /ˈenəmə/) และแม้แต่ในการรักษาบาดแผล การแพทย์แผนจีนเชื่อมานานแล้วว่าเกลือในปริมาณที่เหมาะสมนั้นดีต่อไต (Kidney (n): /ˈkɪdni/) และตับ (Liver (n): /ˈlɪvə(r)/) ขณะที่อารยธรรมโรมันโบราณมีการกล่าวถึงเทพี Salus ซึ่งเป็นเทพีแห่งการดูแลสุขภาพของประชาชน สังเกตว่านามของเทพีนั้นมีรากศัพท์เดียวกับ Sal ที่แปลว่าเกลือในภาษาละติน และต่อมากลายเป็นรากศัพท์ของคำว่า Salary (n) (/ˈsæləri/) ซึ่งแปลว่าเงินเดือน ด้วยว่าในสมัยโบราณนั้น ทหารโรมันรับค่าตอบแทนรายเดือนเป็นเกลือ ซึ่งใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการครองชีพและการค้าขาย

           เกลือมีส่วนสำคัญกับพิธีกรรมในหลายอารยธรรม ในจีนมีการใช้เกลือเม็ดสาดรอบบ้านเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีหรือปรับฮวงจุ้ย (Feng Shui (n): /ˌfeŋ ˈʃuːi/) มีการนำเกลือใส่ภาชนะโลหะแล้วนำไปวางไว้ตามมุมห้องเพราะเชื่อว่าจะช่วยให้คนในบ้านแข็งแรง บ้านสะอาดปราศจากเชื้อโรคตามความเชื่อที่ว่า เกลือนั้นสามารถดูดสิ่งไม่ดีได้ ในอารยธรรมใกล้ ๆ กับจีนอย่างญี่ปุ่นก็มีความเชื่อกันว่าเกลือสามารถขับไล่สิ่งที่ชั่วร้ายให้ออกไปได้ ที่หน้าร้านค้ามักมีชามใส่เกลือทรงรูปภูเขาวางข้าง ๆ ประตูร้าน หรือบางทีจะเห็นมีการสาดเกลือโรยเกลือหน้าร้าน เป็นเคล็ดว่าเรียกลูกค้าเข้าร้าน นอกจากนี้ยังใช้ในพิธีกรรมที่นักบวชลัทธิชินโตที่เรียกว่า “องเมียว” ใช้เกลือในการทำพิธีไล่วิญญานที่ชั่วร้าย เมื่อมีการทำพิธีที่ศาลเจ้าก็จะมีเกลือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเหตุที่เชื่อว่าเกลือสามารถทำที่กล่าวมาได้เนื่องจาก สีขาวบริสุทธิ์ของเกลือนั่นเอง ในสังคมอาหรับมีประเพณีว่าบุคคลใดที่ได้บริโภคเกลือร่วมกันจะเป็นมิตรกันตลอดชีวิตอย่างมิมีวันดับสลาย

           ในสมัยโรมันโบราณ หลังจากที่ทารกถือกำเนิดได้ 7 วัน ในวันที่ 8 มารดาจะเอาเกลือทาตามตัวเด็กเพื่อขับไล่ภูตผีที่จะมารังควาน เพราะเชื่อว่าภูตผีกลัวและเกลียดเกลือ ดังนั้น จึงใช้เกลือขับไล่ปีศาจ สำหรับชาวฮีบรูโบราณ เกลือเป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่ได้อยู่ร่วมโต๊ะ ดังนั้นการรับประทานอาหารร่วมกันจึงหมายถึงการมีชีวิตอยู่ด้วยความรักฉันพี่น้อง ขณะที่ซีกโลกตะวันตกเชื่อว่า ถ้าเอาเกลือสาดข้ามไหล่ซ้ายไปด้านหลังจะไปถูกปีศาจร้ายที่ตามมาจ้องทำร้ายจากด้านหลัง ในทางกลับกัน ถ้าทำเกลือหกบนโต๊ะอาหารจะโชคร้าย หรือเป็นลางร้ายอาจหมายถึงการสูญเสียญาติพี่น้อง ความเชื่อดังกล่าวมีรากฐานมาจากการที่จูดาส์ อิสคาริออททำเกลือหกระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้ายดังที่ปรากฏในภาพ “พระกระยาหารมื้อสุดท้าย” (The Last Supper (n): /ðə lɑːst ˈsʌpə(r)/) โดย เลโอนาร์โด ดา วินชี ที่เป็นภาพจูดาส์ อิสคาริออททำกระปุกเกลือหก และเกลือก็ยังเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาด้วย เมื่อมันถูกใช้ในการทำน้ำมนต์สำหรับศาสนพิธีของศาสนาคริสต์ในนิกายโรมันคาทอลิก เกลือจึงเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการขจัดสิ่งชั่วร้ายเฉกเช่นเดียวกับในหลาย ๆ ความเชื่อทั่วโลก ในด้านสงคราม (Warfare (n): /ˈwɔːfeə(r)/) เกลือก็มีบทบาทสำคัญ เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง และเสบียงคือสิ่งจำเป็น ครั้งหนึ่ง กองทัพของจักรพรรดินโปเลียนจำต้องล่าถอยจากความพยายามบุกมอสโควในปี ค.ศ. 1777 เพราะทหารมากมายต้องล้มตายจากโรคขาดสารอาหาร (Malnutrition Disease (n): /ˌmælnjuˈtrɪʃn dɪˈziːz/) เหตุเพราะกองทัพขาดเกลือที่ใช้ถนอมอาหารไม่ให้เน่าเปื่อยและใช้ทำความสะอาดบาดแผล 

           ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นสมัยก่อนมีคำพูดที่ว่า “敵に塩を送る” (เทคิ นิ ชิโอะ โวะ โอโคหรุ) ซึ่งแปลตรง ๆ ว่า “ส่งเกลือไปให้ศัตรู” เป็นสำนวนที่มีนัยสื่อถึงการหยิบยื่นน้ำใจให้แก่ผู้เป็นศัตรูในยามคับขัน บ้านเราเองก็มีสำนวนเกี่ยวกับเกลือมากมาย ที่ได้ยินบ่อย ๆ ก็เช่น “เกลือเป็นหนอน” หมายถึง คนที่ต้องจงรักภักดี แต่กลับคิดคดต่อเจ้านาย  “ใกล้เกลือ กินด่าง” หมายถึง การไม่ตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว แต่ชอบสิ่งที่ด้อยกว่า เป็นต้น ขณะที่ในภาษาอังกฤษก็มีสำนวนเกี่ยวกับเกลือมากมาย ยกตัวอย่างเช่น “Worth one’s Salt” แปลตรง ๆ คือคุ้มค่าเกลือ ซึ่งหมายถึง ทำงานคุ้มค่าจ้าง (ที่มาก็มาจากการที่มีการจ่ายค่าจ้างเป็นเกลือในสมัยโบราณอย่างที่เล่าไปแล้วไงคะ) “Take Something with a Pinch of Salt” เป็นสำนวนหมายถึง รับฟัง (ข้อมูล) บางอย่างแบบฟังหูไว้หู คือรับฟังแต่ไม่เชื่อง่าย ๆ  นอกจากนี้ยังมีคำแสบ ๆ อย่าง “Rub salt in/ into the wound” แปลตรง ๆ ว่า ถูเกลือลงบนแผล ความหมายคือ การทำสถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก 

           คุณผู้อ่านสายเกมเมอร์อาจจะเคยได้ยินสำนวน “เกลือ” เวลาที่เล่นเกมแบบสุ่มแล้วสุ่มไม่ได้ไอเทมหรือตัวละครที่เราต้องการใช่มั้ยคะ คำนี้งอกมาจากคำแสลง (Slang (n): /slæŋ/) ในภาษาอังกฤษ คือ Salty (/ˈsɔːlti/) แปลว่า โกรธ หัวร้อน และในเวลาเดียวกัน สำหรับปัจจุบันนี้ เกลือที่ให้ความเค็มหรือปรุงรสอาหารต่าง ๆ ไม่ได้ผลิตยากเย็นจนนับเป็นของมีค่าแบบในยุคโบราณอีกแล้ว แต่หาได้ง่าย ๆ คำว่า “เกลือ” จึงกลายเป็นคำเปรียบเปรยถึง สิ่งไร้ค่า ไม่มีราคา ไม่ได้คุ้มค่าอีกต่อไป การลงทุนสุ่มไปแต่กลับได้ผลตอบแทนมาไม่คุ้มค่า ไร้ประโยชน์ ชวนให้หงุดหงิด จนพาลจะหัวร้อนเอาง่าย ๆ นั่นเอง

           แม้เกลือจะมีคุณประโยชน์มาก แต่ถ้ามากเกินไป ก็ชวนให้น้องไตต้องทำงานหนัก ความดันสูง นำมาซึ่งโรคภัยสารพัดอีก รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมบริโภคเกลือกันแต่พอควร อย่าหนักมือกันมากเกินไป และอย่าลืมเอาสำนวนเกลือ ๆ ในคอลัมน์นี้ไปใช้บ้างนะคะ วันนี้คนเขียนขอลาไปกดกล่องสุ่มเจ้าลาบูบู้ก่อนนะคะ อวยพรให้ไม่ “เกลือ” ด้วยน้าาาาา เจอกันฉบับหน้าค่า

อ้างอิง:
• MGR Online. “บทบาทสำคัญของเกลือในอารยธรรม”. [Online]. https://mgronline.com/science/
  detail/9570000149982
• Liam Cole Young. Open Library. “PERSPECTIVE: SALT”. [Online]. https://ecampusontario.pressbooks.
  pub/foodstudies/chapter/salt/
• Salt Works. “History of Salty”. [Online]. https://seasalt.com/history-of-salt
• Mango Zero. “ว่าด้วยเรื่องเกลือ เกลือ… ก่อนเคยมีค่ากว่าทองคำ สู่ความเจ็บช้ำของชาวกาชา”. 
  [Online]. https://www.mangozero.com/salt-history/#

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 53