ฉบับที่ 41

สวัสดีท่านผู้อ่านนิตยสาร @Rama ทุกท่านครับ

ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยเรายังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น จนหลายท่านนึกถึงแนวทางในการลดการแพร่ระบาดลงด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าการเฝ้าระวังและการคัดกรองโรค ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่หน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญ แต่การนำวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาใช้ นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ประชาชนได้รับข่าวสารในการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนในหลากหลายช่องทาง เช่น ระบบหมอพร้อม โครงการไทยร่วมใจ เป็นต้น แม้ว่าการนำเข้าวัคซีนอาจจะเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพวัคซีนที่พวกเราจะได้รับนั้น ข้อมูลจากการสำรวจวิจัยจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการฉีดวัคซีนมากขึ้น เนื่องด้วยเป็นโรคติดเชื้อใหม่ อาจต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในบริบทของโรงพยาบาล คือการผนวกเข้ากันของการให้บริการรักษาพยาบาล กับระบบบริการที่พักอาศัย ที่เรียกว่า HOSPITEL ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาลและเฝ้าระวังผู้ป่วย COVID-19 ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมืออันดีจากผู้ประกอบการโรงแรม ที่ให้ใช้พื้นที่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ รามาธิบดีเองก็ได้เข้าไปทำหน้าที่ดูแลมาตลอดหลายเดือน

เรา...ในฐานะโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาล มีความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้ป่วย ประชาชน และพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มแรงความสามารถต่อไป

ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

นิตยสาร @Rama : ร่วมใจฝ่าวิกฤต COVID-19
บทบรรณาธิการ: 

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน

นิตยสาร @Rama ฉบับนี้ เข้าสู่ช่วงหน้าฝนกันแล้ว คุณผู้อ่านก็ระมัดระวังสุขภาพกันด้วยนะคะ การมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยค่ะ ...แม้ว่าหลายท่านจะได้ไปได้ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 กันแล้ว ก็อย่าเพิ่งการ์ดตกนะคะ ต้องล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคมกันด้วยนะคะ เนื้อหาฉบับนี้ของเรา ยังคงเน้นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จะมีเรื่องราวอะไรกันบ้างติดตามได้เลยค่ะ

เริ่มกันที่คอลัมน์ Health Station เมื่อปัญหาภาวะน้ำหนักเกินมีผลต่อการเกิดโรค COVID-19 จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แล้วเราจะระมัดระวังกันอย่างไรดี อีกทั้งเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีภาวะน้ำหนักเกิน พลิกด้านในได้เลยค่ะ

“ทำไมฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วยังติดเชื้อได้อีก” คำถามยอดฮิตในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แล้วจะเป็นจริงหรือไม่ ติดตามในคอลัมน์ Believe it or not? ค่ะ ...เรื่องราวเกี่ยวกับ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรค COVID-19 เป็นหลัก แล้วทราบหรือไม่ว่า ผู้ป่วย COVID-19 ต้องรับประทานยาชนิดนี้เป็นจำนวนเท่าใดต่อวันเพื่อรักษาอาการให้หาย พบคำตอบได้ในคอลัมน์ Rama RDU ได้เลยค่ะ

เรายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับ COVID-19 อีก ทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “เด็กส่งยา” ที่การส่งยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ให้ถึงมือผู้ป่วยตามที่ต่าง ๆ ทั้งการส่งถึงบ้าน ในชุมชน ใน Hospitel และจุดที่มีการระบาดและยากต่อการเข้าถึง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามในคอลัมน์ Behind The Scene ...เมื่อการกักตัวอยู่ในแต่ในบ้านเกิดขึ้น มันคงเป็นสิ่งใหม่ที่หลายคนต้องเผชิญ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแบบนี้ เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง และสังเกตตัวเองอย่างไรกัน เรามีเรื่องราวดีดีในระหว่างการกักตัวมาฝากกันค่ะ ติดตามในคอลัมน์ Camera Diary ...คอลัมน์ Easy Living กับเรื่องของ “ดาบ” ที่เรียกว่า “วัคซีน” เมื่อเราต้องมีดาบติดตัวไว้ต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย เราจะทำความเข้าใจกันอย่างไรดีเมื่อเราจะต้องมีดาบเล่มนี้ ปิดท้ายกันที่คอลัมน์ฟุตฟิตฟอไฟกับรามาฯ ที่มีความหมายของคำว่า fat กับ Obesity แค่คำว่าอ้วนก็เจ็บแล้ว จะดีไหม..ที่เราจะหันมาออกกำลังกายเพื่อไม่ให้มีคำว่าอ้วนอยู่กับเรา ...พบกันฉบับหน้าค่ะ

รศ. พญ.จริยา ไวศยารัทธ์

บรรณาธิการนิตยสาร @Rama

เนื้อหาภายในฉบับที่ 41