ขอเชิญเข้าร่วมงานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 1/2567

(สรุป)

การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 1/2567

 เสวนาหัวข้อ ผสานแพทย์ 3 แผนสู่การดูแลสตรีวัยทอง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00-15.00 น.
สถานที่ : ประชุม Online ผ่าน Cisco WebEx Meetings และห้องบรรยาย 621 ชั้น 2 อาคารบริหาร

วิทยากรโดย               อาจารย์นายแพทย์ กิตติ ฉัตรตระกูลชัย

                                    อาจารย์แพทย์จีน ธนภร ตันสกุล

                                    อาจารย์แพทย์แผนไทยประยุกต์ อธิปพัฒน์ ตันติวงศ์คุณากร

ดำเนินรายการโดย       แพทย์แผนไทยประยุกต์ พนธ์ศภัส องค์ธนะสิน

ความหมายของสตรีวัยทอง

แผนปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1. วัยเจริญพันธุ์ คือช่วงวัยที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก
2. วัยก่อนหมดประจำเดือน มีอาการประจำเดือนห่าง 7 วัน/รอบ หรือประจำเดือนขาดมากกว่า 60 วัน
3. วัยทอง คือ สตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน หรือประจำเดือนขาดอย่างน้อย 12 เดือนขึ้นไป เฉลี่ยอายุประมาณ 49.5 ปี
แผนจีน   
脏躁 อวัยวะแห้ง อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับทางสตรีในแพทย์แผนจีน คือ ไต และตับ
ไตที่แข็งแรง บ่งบอกถึงอายุที่ยืนยาว ถ้าไตอ่อนแอ ร่างกายจึงโรยรา แห้งเหี่ยว ดังนั้นวัยทอง ไต จึงอ่อนแอก่อน และส่งผลไปถึงอวัยวะอื่น ๆ ส่งผลให้ถดถอย

            โดยช่วงอายุขั้นตอนการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงเกี่ยวข้องกับเลข 7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกๆ 7 ปี เช่น

  • เจ็ดขวบแรก ชี่ไตเริ่มมากขึ้น ฟันน้ำนมหลุด ฟันแท้เริ่มขึ้น เส้นผมยาวขึ้น กระดูกและฟันแข็งแรงขึ้น
  • 14 ปี เป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงของการเจริญเติบโต ชี่ของไตเพิ่มมากขึ้น ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงและเริ่มมีประจำเดือน
  • 21 ปี เป็นวัยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โตเต็มวัย ในทางแพทย์จีนเชื่อว่า ช่วงวัยนี้ชี่ของไตสมดุล ทั้งด้านสรีระหรือการเจริญเติบโตของอวัยวะภายในต่างๆ
  • 28 ปี เป็นช่วงผู้ใหญ่ตอนปลาย ในทางแพทย์จีนเชื่อว่าช่วงอายุนี้การทำงานของตับและไตอยู่ในช่วงสมบูรณ์ ตับทำหน้าที่ควบคุมเส้นเอ็น ไตควบคุมกระดูก เป็นช่วงที่กระดูกและเส้นเอ็นสมบูรณ์มาก ร่างกายอยู่ในช่วงที่แข็งแรง (ในช่วงวัยนี้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์)
  • ช่วงอายุ 35 ปี ช่วงแห่งความมั่นคง มีหน้าที่การงานมั่นคง การเงิน ชีวิตครอบครัวเข้าที่เข้าทางแล้ว พอตำแหน่งการงานเพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือความเครียด ช่วงวัยนี้คอลลาเจนผิวเริ่มลดลง ระบบการเผาผลาญเริ่มทำงานน้อยลง ทั้งผิวหน้าและรูปร่างเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
  • ช่วงอายุ 42 เมื่อคนเราก้าวเข้าสู่วัย 40 ร่างกายเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลง เริ่มมีผมขาว ใบหน้าหมองคล้ำ สายตาเริ่มฝ้าฟาง มีฝ้ากระได้ง่าย เวียนหัว ฮอร์โมนเพศเริ่มลดลง
  • ช่วงอายุ 49 ทางแพทย์จีนถือว่าเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากเริ่มม่ายและชงม่ายเริ่มน้อยลง ประจำเดือนน้อยลงจนหมดประจำเดือน โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงหรือแทบจะไม่มี ดังนั้นช่วงนี้ในทางแพทย์จีนจะเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน

แผนไทย ทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวถึงภาวะ “เลือดจะไป ลมจะมา หรือระดูมาไม่ปกตินั้น ตรงกับช่วงปัจฉิมวัยหรืออายุมากกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ธาตุลมมีอิทธิพลต่อร่างกายมากขึ้น และอิทธิพลของธาตุไฟที่ลดลง เกิดภาวะเสียสมดุลของธาตุในร่างกาย แสดงให้เห็นเป็นอาการทางกาย เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ ท้องอืด แน่นท้อง วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ และนอกจากนี้ยังส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น รู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิดง่าย เศร้าโศก หรืออารมณ์แปรปรวน

สาเหตุของการเกิดวัยทอง
แผนปัจจุบัน  เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่เกิดจากไข่ไม่ตก สามารถวินิจฉัยภาวะวัยทองได้จากประวัติการขาดประจำเดือน หรือประวัติครอบครัวเช่น มารดาหมดประจำเดือนเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องเจาะเลือดตรวจซ้ำก็สามารถวินิจฉัยได้เลย ว่าอยู่ในภาวะวัยทองหรือไม่
แผนจีน แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม
- กลุ่มอาการอินไตและตับพร่อง ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาก่อนกำหนด บางครั้งปริมาณมาก บางครั้งปริมาณน้อย ประจำเดือนสีแดงสด มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออก มึนศีรษะหูอื้อ ตาแห้ง มือเท้าและหน้าอกร้อน คอแห้ง นอนไม่หลับ ฝันเยอะ ขี้หลงขี้ลืม ช่องคลอดแห้ง
  หรือผิวหนังแห้งคัน รู้สึกไม่ปกติตามผิวหนัง ท้องผูก
- กลุ่มอาการไตพร่องและชี่ตับติดขัด ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออก ซึมเศร้า แน่นหน้าอก ถอนหายใจบ่อย หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ เวลาถ่ายอุจจาระบางครั้งแห้งบางครั้งเหลว
- กลุ่มอาการไตและหัวใจไม่เชื่อมประสานกัน ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออก ใจสั่นใจหวิว กระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ฝันเยอะขี้ตกใจ ปวดเมื่อยเอว จิตใจเหงาหงอยซึมเศร้า ความคิดเชื่องช้า
- กลุ่มอาการไตอินและไตหยางพร่อง ก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนสีคล้ำหรือแดงซีด บางเวลาร้อนวูบวาบ บางเวลาหนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางวัน และเหงื่อออกกลางคืน มึนหัวหูอื้อ นอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ปวดและเย็นบริเวณเอวและหลัง ปวดและบวมส้นเท้า ถ่ายอุจจาระเหลว ปัสสาวะบ่อย
แผนไทย เกิดจากการพลัดเปลี่ยนของช่วงวัย จากมัชฌิมวัย (อายุ16-32 ปี) เข้าสู่ปัจฉิมวัย( 32 ปีขึ้นไป ) ต่อมเลือดระดูทำงานได้น้อยลง จึงเกิดอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ระดูมาน้อยลง

การดูแลและการรักษา

 แผนปัจจุบัน มีการรักษาโดยการใช้ยาฮอร์โมนและการไม่ใช้ยา เช่นการลดน้ำหนักและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
แผนไทย มีการรักษาโดยใช้หลักการปรับสมดุลธาตุลมและธาตุไฟ เช่นการนวด ประคบ อบสมุนไพร
แผนจีน  - รักษาโดยการฝังเข็มและการกดจุด เช่น
Taixi (太溪KI3) ,Taichong  (太冲LR3) ,Sanyinjiao (三阴交SP6) , Xinshu (BL15) , Shenshu (肾俞BL23) ,Ganshu (BL18) 
             - การรับประทานอาหาร เช่น ชะเอมเทศ พุทราจีน ข้าวสาลี เก๋ากี้

สิ่งที่ได้รับ

1. ผู้รับฟังบรรยายมีความรู้ ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายสตรีวัยทองมากขึ้น ทั้งสาเหตุและวิธีการรักษาเมื่อเข้าสู่ภาวะวัยทองแล้ว
2. ผู้รับฟังบรรยายได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองเมื่อเข้าสู่วัยทอง ทั้งศาสตร์ด้านการแพทย์ทางเลือกและการแพทย์แผนปัจจุบันที่สามารถบูรณาการการรักษาร่วมกันได้

 

                                                                                 ผู้ถอดบทเรียน

                                                                                       นางรัตติกาล ธนะสาร

                                                                                                     พยาบาลประจำหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก