มารู้จัก "ขิง" กันเถอะ

 

                                                                                           ขิง (ginger)

                                                           

                                                                                                                                                                                      ที่มารูปภาพ : https://www.technologychaoban.com/news-slide/article_79796

           ในยามที่ร่างกายอ่อนล้า นอกจากการเดินเข้าป่า พักผ่อนร่างกายและจิตใจ ให้เวลากับตัวเองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ยังมีแนะนำอีกหนึ่งวิธี วันนี้อยากชวนมาจิบน้ำขิงอุ่นๆปรับสมดุลภายในร่างกายกันสักหน่อยค่ะ

ขิง เป็นส่วนประกอบในอาหารไทยหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะนำมาผัดเป็นหมู/ไก่ผัดขิง ซุปขิง ใช้โรยหน้าปลานึ่ง โรยหน้าโจ๊ก ผสมในน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ถ้าแปรรูปเป็นขิงดองอาจนำไปกินเคียงกับข้าวหน้าเป็ดหรืออาหารญี่ปุ่นได้อย่างเอร็ดอร่อย หรือทำเป็นขนมหวาน ไม่ว่าจะเป็นเต้าฮวยน้ำขิง บัวลอยงาดำน้ำขิง มันต้มขิง หรือแม้กระทั่งนำไปแต่งกลิ่นในคุกกี้ เค้ก หรืออาหารอื่นๆล้วนชวนให้ละมุนเลิศรสมากขึ้นทั้งนั้น นอกจากความอร่อยแล้ว ขิงยังมีอีกหลากหลายสรรพคุณทางยาให้ได้ศึกษามากมาย

                                                                                                   

                                                                                                                                          ที่มารูปภาพ : https://cooking.kapook.com/view162958.html

           ขิง เป็นส่วนประกอบหนึ่งในยาสมุนไพรหลายพิกัด เช่น “เบญจกูล” ซึ่งมีสรรพคุณ ช่วยปรับสมดุลของธาตุทั้ง 4 โดยเหง้าขิงแห้งจะช่วยควบคุมอากาศธาตุให้เป็นปกติ หรือ “ตรีกฏุก” เป็นเครื่องยาที่มีฤทธิ์ให้ความร้อนสำหรับปรับธาตุในฤดูฝน ขิงแห้งจะปรับการทำงานของธาตุลมให้สมดุล และในตำรับยาสามัญประจำบ้านของไทยก็มีส่วนผสมของเหง้าขิง/ขิงแห้งเข้าหลายตำรับด้วย เช่น ประสะกะเพรา , วิสัมพยาใหญ่ , ประสะกานพลู , มันทธาตุ , ธรณีสัณฑะฆาต , ธาตุบรรจบ , ยาหอมอินทจักร์ , ยาหอมนวโกฐ และประสะไพล ซึ่งตำรับยาเหล่านี้มีฤทธิ์รสสุขุมไปจนถึงรสร้อน

           ในคัมภีร์สรรพคุณยา เรื่องเกี่ยวกับพิกัดตรีผลา ตรีกฏุก ตรีสาร กล่าวไว้ว่า

ขิงแห้งนั้น มีรสอันหวาน ย่อมแก้พรรดึก แก้ไข้จับ แก้นอนมิหลับ แก้ลมพานไส้ แก้ลมแน่นในทรวง แก้ลมเสียดแทงคลื่นเหียน

ขิงสดนั้น มีรสหวาน ร้อน เผ็ด เหง้าจำเริญอากาศธาตุ ดอกแก้โรคอันบังเกิดแต่ดวงหทัย ใบแก้กำเดาให้บริบูรณ์ ต้นสกัดลมสลสู่คูถทวาร รากแก้เสียงให้เพราะ แลเจริญอาหาร

           ส่วนคัมภีร์สรรพคุณยา เรื่องเกี่ยวกับไม้มีคุณเสมอกัน กล่าวไว้ว่า

คุณขิงแห้ง แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ไอลึกในทรวงอก

ขิงสด มีรสเผ็ดร้อน แก้ลมในกองไฟธาตุให้กระจายเสีย แก้ลมพรรดึก แก้จุกเสียด แก้โรคในอก เจริญอาหาร แก้ไข้ 10 ประการให้สมบูรณ์

           เป็นที่น่าสังเกตว่า ขิงแห้ง กับขิงสด นั้นเป็นตัวยาคนละตัว และมีข้อบ่งใช้ต่างกัน มีข้อสันนิษฐานว่าขิงแห้งน่าจะเป็นตัวเดียวกับขิงแคลง ซึ่งมีการปลูกที่ระยอง จันทบุรี และทางใต้ มีลักษณะเป็นแง่งเล็ก ไหลไปตามพื้นดินปนทราย ชอบขึ้นบนคบไม้ ลักษณะแห้งๆ คนภาคใต้จึงเรียกว่า ขิงแห้ง ภาคตะวันออกเรียกว่าขิงแคลง แต่เสียงอาจเพี้ยนเป็นขิงแห้งไป ขิงแคลงนี้ มีกลิ่นหอม รสปร่าเหมือนรสข่าใหญ่ ไม่เหมือนกลิ่นของขิงสด เนื้อในสีเหลืองอ่อนซีด ใช้ขับลมได้ดี

ตำรับยาไทยใช้เหง้าขิงแก่ เป็นยาขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ รวมทั้งแก้อาเจียนด้วย

                                                                                                                       

                                                                                                                                                             ที่มารูปภาพ : https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_12786

“ขิง” เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ขิง (Zingiberaceae)  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe และมีชื่อพื้นเมืองอื่นๆอีก เช่น ขิงเผือก (เชียงใหม่) ขิงแดง ขิงแกลง (จันทบุรี) สะแอ (แม่ฮ่องสอน)

ในเหง้าขิงมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 1 - 3 % ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงการเก็บรักษา เช่น menthol , borneol , fenchone , 6-shogoal และ 9-gingerol menthol ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการออกฤทธิ์ สารรสเผ็ดร้อน (pungent) จากเหง้าขิง เรียกว่า gingerols และ shogoals มีฤทธิ์ ขับน้ำดี ช่วยในการย่อยไขมัน และปกป้องตับจากสารพิษ

มีงานวิจัย การศึกษาทางคลินิกว่าขิงมีฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาเจียน จากการเมารถ เมาเรือ , ฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยหลังการผ่าตัด , ฤทธิ์แก้คลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบําบัด , ฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาเจียน ในหญิงมีครรภ์ , บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการออกกำลังกาย , ฤทธิ์ลดการอักเสบในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม , ฤทธิ์ลดการสูญเสียเลือดประจำเดือน , ฤทธิ์ในการรักษาไมเกรนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ขนาดและวิธีใช้

- บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่น จุกเสียด รับประทานวันละ 2 – 4 กรัม

- ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ รับประทานวันละ

1 – 2 กรัม ก่อนเดินทาง 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ

- ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน หลังการผ่าตัด รับประทานครั้งละ 1 กรัมก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง

คำเตือน

- ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) เช่น Heparin , Warfarin และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เช่น Aspirin

- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดียกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์

- ไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ

อาการไม่พึงประสงค์อาจพบอาการแสบร้อนบริเวณทางเดินอาหาร อาการระคายเคืองบริเวณปากและคอได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://books.google.co.th/books?id=UK9dDwAAQBAJ&pg=PT19&lpg=PT19&dq=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%82%E0%B8%B4%E0%B8%87&source=bl&ots=HRYmrebWaf&sig=ACfU3U0g6Cr1Du74M4EPjOjdsLzZQtoGBg&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwjeyK6fqLLoAhWTYysKHc7cDhoQ6AEwBnoECAcQAQ#v=onepage&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B8%82%E0%B8%B4%E0%B8%87&f=false

https://www.doctor.or.th/article/detail/2592

https://www.technologychaoban.com/news-slide/article_79796

https://hd.co.th/what-is-ginger