ศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี |
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ริเริ่มทำการศึกษาวิจัยผู้ป่วยนอนกรนโดยการใช้เครื่องตรวจการกรนและการหายใจแบบพื้นฐาน เรียกว่า Sleep Apnea Monitor และได้เสนอผลงานในการปะชุมวิชาการโรคทรวงอกระดับเอเซีย (เอกสารอ้างอิงใน thaisleepindex.com) ก่อนหน้านี้รศ.นพ. คณิต มันตาภรณ์ ได้รายงานการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยนอนกรน (Uvulopalatopharyngoplasty) และปัญหาการหยุดหายใจ (Internal Medicine Thailand 1988;4:108-111) หลังจากนั้นไม่นาน ศ.พญ.พูนเกษม เจริญพันธุ์ (หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ได้ร่วมกับรศ.นพ. คณิต มันตาภรณ์ และอาจารย์อีกหลายท่านจากหลากหลายสาขาวิชา ทำการศึกษาวิจัยเรื่องใหลตายโดยการใช้ Sleep Apnea Monitor การตรวจเลือด ฯลฯ (Charoenpan P, Muntarbhorn K, Boongird P et al. Southeast Asian J Trop Med Public Health 1994;25:335-340) และได้ร่วมกันรักษาในผู้ป่วยที่มีการหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือ Sleep Apnea จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 อาจารย์ทั้งสองท่านได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรร่วมมือกัน เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมีศักยภาพมากขึ้นซึ่งตอนนั้นมีการใช้เครื่องมือทันสมัยเช่นเครื่อง CPAP จึงได้ปรึกษากับ ศ.นพ. ประเสริฐ บุญเกิด ซึ่งขณะนั้น ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา เพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจการนอนหลับ (Polysomnogram) และก่อตั้งโครงการศึกษาวินิจฉัยเรื่องการนอนหลับในบุคคลปกติและผู้ป่วย นำโดยศ.นพ. ประเสริฐ บุญเกิด ศ.พญ.พูนเกษม เจริญพันธุ์และรศ.นพ. คณิต มันตาภรณ์ ได้รับการร่วมมือจากอาจารย์หลายภาควิชาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและนักเทคนิคการนอนหลับ ทำให้มีผลงานเรื่อง Polysomnogram ในปี พ.ศ. 2542 (Charoenpan P, Thanakitcharu S,. Muntarbhorn K. Respirology 1999;4:371-374 ) ส่วนเรื่องเครื่องตรวจการนอนหลับ (Polysomnogram) ในระยะแรกขณะที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ยังก่อสร้างไม่เสร็จ จึงใช้หอผู้ป่วยบำบัดวิกฤต (ICU) เป็นเป็นห้องตรวจชั่วคราว และเมื่อศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ก่อสร้างเสร็จก็ได้ย้ายเครื่องตรวจการนอนหลับ (Polysomnogram) ไปตั้งอยู่ที่ ชั้น 6 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเริ่มตรวจได้ 1 ราย ต่อ คืน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตรวจคลื่นสมอง (คุณชนะ ดวงแข) เป็นผู้ช่วยตรวจและช่วยสอนการติดอุปกรณ์ในการตรวจให้กับเจ้าหน้าที่ที่จะมารับผิดชอบประจำ และมี ผศ.นพ. สิทธิ์เทพ ธนกิจจารุ เป็นแพทย์ช่วยตรวจและรักษาอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนได้รับทุนไปศึกษาเวชศาสตร์การนอนหลับหรือ Sleep Medicine ที่ Case Western Reserve University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2538 - 2540ในปี 2539 คุณวรกต สุวรรณสถิตย์ เรี่มมาเป็นนักเทคนิคการนอนหลับหรือ Sleep Technician ประจำคนแรก ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมาช่วยคุณชนะ ดวงแขด้านการตรวจการนอนหลับ ทำให้การบริการด้านการตรวจการนอนหลับสามารถทำได้มากขึ้น จาก เดือนละ 5 - 6 ราย เป็น เดือนละ 20 ราย ในปี พ.ศ. 2540 ผศ.น.พ. เกษียรสม วีรานุวัตติ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยประสาทวิทยาได้มาช่วยงานด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ ( Sleep Medicine) และในปลายปีพ.ศ. 2540 ผศ.นพ. สิทธิ์เทพ ธนกิจจารุ ได้กลับจากสหรัฐอเมริกา มาช่วยงานการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคการนอนหลับ (Sleep Disorders) อีกท่านหนึ่ง จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2545 ได้เปิดให้บริการเพิ่มเป็น 3 เตียง โดยมี ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี เป็นหัวหน้าโครงการฯ และ อ.พญ.วิสาข์สิริ ตันตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคการนอนหลับ (American Board of Sleep Medicine) มาช่วยในการดูแลผู้ป่วย ในผู้ป่วยเด็กนั้น มีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Sleep Apnea และ Polysomnogram มานานที่ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่สมัยที่ ศ.พญ. สุภรี สุวรรณจูฑะ เป็นหัวหน้าภาควิชา ส่วนผลงานติพิมพ์นั้น ศ.พญ. อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ คณาจารย์ภาควิชากุมารศาสตร์และนักเทคนิคการนอนหลับได้เสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยหลายเรื่อง (Preutthipan A, Suwanjutha S, Chantarojanasiri T. Southeast Asian J Trop Med Public Health 1997;28:62-8 และอื่นฯใน thaisleeepindex.com) มีทีมงานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคการนอนหลับในผู้ป่วยเด็ก เช่น ผศ.นพ. ธีรเดช คุปตานนท์ (American Board of Sleep Medicine) และมีคุณอัญชลี ลี้จากภัยเป็นนักเทคนิคการนอนหลับ (Sleep Technician) ในปัจจุบัน ศูนย์โรคการนอนหลับโรงพยาบาลรามาธิบดีมี 6 เตียง โดยมี ศ.พญ. อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้อำนวยการศูนย์โรคการนอนหลับโรงพยาบาลรามาธิบดี และมีทีมอาจารย์แพทย์อีกหลายท่านจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะทำงานของศูนย์โรคการนอนหลับโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นแบบสหสาขาวิชา(Multidisciplinary) |
Knowledge
For patient
For Medicine