อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์


  อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์
 

         อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ได้ก่อสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นมหากุศลในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นามอาคารนี้ว่า “อาคารสิริกิติ์” และรับโครงการนี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยพระบารมีล้นเกล้าฯ พสกนิกรชาวไทยจึงจะได้มีโอกาสใช้อาคารสิริกิติ์ ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ฯ ที่ทันสมัยที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน และเป็นศูนย์กลางการกระจายและถ่ายทอดอบรมวิทยาการก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเซีย ตลอดจนเป็นศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข 
         อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เป็นอาคาร 9 ชั้น มีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 20,000 ตารางเมตร สร้างในสมัยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มดำเนินการสร้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2532 โดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 เวลา 17.29 น. สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2536 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เวลา 17.00 น.
        ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เป็นศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัย ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน และเป็นศูนย์กลางการกระจายถ่ายทอดและอบรมวิทยาการก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนเป็นศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เจริญก้าวหน้า มีห้องผ่าตัดโรคซับซ้อนที่ชั้น 4 ซึ่งเชื่อมโยงโทรทัศน์วงจรปิดติดต่อมายังห้องประชุมใหญ่ สามารถถ่ายทอดสดการผ่าตัดที่สำคัญ เพื่อประโยชน์ในการฝึกอบรม มีหออภิบาลผู้ป่วยหนักเพื่อรองรับผู้ป่วยเหล่านี้จำนวน 8 เตียง นอกจากจะเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยพิเศษ โดยมีหอผู้ป่วยชั้น 6,7,8,9 และห้องพิเศษที่จัดไว้สำหรับราชวงศ์แล้ว ยังเป็นที่รวมการปฏิบัติงานของโครงการวิจัยทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ก้าวหน้า เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะทาง จำนวน 50 โครงการ และมีห้องประชุมใหญ่ ห้องประชุมกลาง ห้องประชุมเล็ก ที่ชั้น 5 สำหรับประชุมวิชาการ ซึ่งสามารถเข้าประชุมได้ถึง 500 คน โดยเปิดบริการให้เช่าจัดประชุมวิชาการภายในคณะฯ