หอยเป็นพิษ (paralytic shellfish poisoning)

 

ภาวะเป็นพิษจากการรับประทานสัตว์มีพิษ

หอยเป็นพิษ (paralytic shellfish poisoning)

              ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วย 34 ราย จากการรับประทานหอยแมลงภู่ บริเวณปากน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2526 จากการตรวจหอยพบว่ามีสารพิษ saxitoxin ในปริมาณมากกว่าที่มีรายงานจากต่างประเทศ สารพิษนี้สร้างโดย dinoflagellate ซึ่งเป็นแพลงตอนพืชเซลล์เดียว และมีรงควัตถุในบางสภาวะราวต้นฤดูฝน (พค.-สค.) จะเจริญแพร่พันธุ์มาก จนทำให้น้ำทะเลเป็นสีน้ำตาลแดงเหมือนสีสนิมเหล็ก หอยกาบคู่ เช่นหอยแมลงภู่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นจะกินแพลงตอนเหล่านี้เป็นอาหาร ทำให้หอยเหล่านั้นมีพิษ

saxitoxin เป็นชีวสารที่มีพิษรุนแรงมากอย่างหนึ่ง ซึ่งละลายน้ำได้ดี ทนต่อความร้อน ถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากทางเดินอาหาร saxitoxin เหมือน tetrodotoxin คือ ยับยั้ง sodium channel โดยออกฤทธิ์เด่นที่เส้นประสาท ทำให้โซเดียมไหลเข้าเซลล์ได้ยาก ส่งผลให้เกิดการนำกระแสประสาทได้ยาก นำไปสู่อาการชาและอ่อนแรงลักษณะเช่นเดียวกับการยับยั้ง sodium channel ของยาชาต่อเส้นประสาท

อาการพิษ จะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที หลังรับประทานหอย เริ่มจากอาการชาบริเวณปาก ลิ้น และหน้า รู้สึกตัวลอย รู้สึกปวดแสบร้อนที่ลิ้น ในปาก และตามแขนขา ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง หายใจลำบาก พูดไม่ชัด กลืนลำบาก เดินโซเซ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก และชัก ต่อมากล้ามเนื้อหายใจจะเป็นอัมพาต การนำกระแสคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยอาจตายได้ใน 2-12 ชั่วโมง แต่ถ้าผู้ป่วยรอดได้ถึง 24 ชั่วโมง การพยากรณ์โรคจะดีมาก

หลักการวินิจฉัย ที่สำคัญ คือ แพทย์ต้องรู้จักและนึกถึงภาวะพิษนี้ โดยให้การวินิจฉัยได้จากประวัติรับประทานหอย และเกิดอาการทางระบบประสาท และตัดสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการออกไป การตรวจหาสารพิษในหอยจะช่วยยืนยันการวินิจฉัย นอกจากนี้อาจตรวจพบสารพิษดังกล่าวในเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วย

การรักษา ประกอบด้วย การรักษาตามอาการและประคับประคอง มีการทดลองใช้ antisaxitoxin antibody ในสัตว์พบว่าได้ผลดี แต่ยังไม่มีการศึกษาในคน ถ้าผู้ป่วยไม่อาเจียนควรทำการล้างกระเพาะอาหาร และให้ activated charcoal ซึ่งสามารถดูดซับสารพิษไว้ได้ดีมาก การทำให้ปัสสาวะเป็นด่างโดยการให้ sodium bicarbonate อาจช่วยได้บ้าง เพราะสารนี้ไม่เสถียรในสภาพด่าง อาจให้ corticosteroid เช่น hydrocortisone ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาก็คือ การช่วยการหายใจ การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การรักษาระดับความดันโลหิต ถ้าให้การรักษาประคับประคองเป็นอย่างดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้ใน 3-5 วัน

 

พิษจากปลาทะเล

               ภาวะพิษนี้เกิดระบาดขึ้นเป็นครั้งคราว จากการรับประทานปลาทะเลที่กินสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Gambierdiscus toxicus ซึ่งสร้างสารชีวพิษ ciguatoxin เป็นอาหาร ปลาทะเลจะไม่ได้รับอันตรายแต่จะสะสมสารชีวพิษนี้มากขึ้นๆ ตามสายใยอาหาร ปลายิ่งตัวโตยิ่งมีสารชีวพิษมาก มีปลาหลายชนิดโดยเฉพาะปลาที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร อาจเป็นพาหะของสารชีวพิษนี้เช่น ปลาสาก ปลาน้ำดอกไม้ ปลากะพง ปลานกแก้ว ฯลฯ

Ciguatoxin เป็นสารพิษซึ่งทนต่อความร้อน ทนกรด ละลายได้ดีในไขมัน ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของ cholinesterase ของเม็ดเลือดแดง และเพิ่มอัตราการซึมของโซเดียมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยจะเกิดอาการพิษภายหลังจากรับประทาน ปลาทะเลแม้ที่ทำให้สุกแล้วก็ตาม

อาการ เกิดขึ้นหลังรับประทานปลาทะเลประมาณ 2-6 ชั่วโมง เริ่มด้วยปวดท้องเกร็ง คลื่นไส้ ท้องร่วงเป็นน้ำ เหงื่อแตก และอาการทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ และรู้สึกโหวงเหวง ปวดฟัน ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ วิงเวียน มีความรู้สึกผิดปกติตามบริเวณปาก ลิ้น คำคอ การรับรู้อุณหภูมิผิดไป ร้อนว่าเย็น เย็นว่าร้อน การมองเห็นผิดปกติ จนกระทั่งถึงชัก ผู้ป่วยจะถึงแก่กรรมจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต อาการจะเป็นอยู่หลายวันจนถึงสัปดาห์ ระยะหลังๆอาจมีอาการคันและสะอึก

การรักษาเบื้องต้น ทำตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยรับประทานสารพิษทั่วไป ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีอาการอาเจียน ควรกระตุ้นให้อาเจียน ให้ activated charcoal และให้ยาระบาย ถ้ามีอาการท้องร่วง ให้สารน้ำทดแทน และแก้ไขภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลย์ มีรายงานว่าการให้ manitol ขนาด 1 g/kg ในรูปสารละลาย 20% ในอัตรา 500 ml/hr ทำให้อาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อทุเลาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ นอกจากนี้อาจให้ pralidoxime, nifedipine, amitryptyline, atropine, corticosteroid และ calcium gluconate รวมทั้งให้วิตามินรวม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ