สารพิษชนิดอื่นๆ

 

 

สารพิษชนิดอื่นๆ

สารพิษ ในกลุ่มนี้ เป็นสารพิษที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งอาจนำมาใช้ในการบ่อนทำลาย และก่อวินาศภัยได้

4.1 สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ได้แก่ organophosphatesและ carbamates ซึ่งออกฤทธิ์เช่นเดียวกับสารพิษต่อระบบประสาท, arsenic และ mercury เป็นต้น 

4.2 สารเคมีปราบวัชพืช เช่น paraquat อาจใช้แพร่พิษในอาหาร และแหล่งน้ำได้ 

4.3 สารประกอบ cyanide อาจใช้ในการบ่อนทำลายแหล่งน้ำ และแพร่พิษในอาหารได้ 

4.4 สารพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น methyl isocyanate (MIC) และ dioxin เป็นต้น MIC เป็นสารประกอบมูลฐานในการผลิตสารเคมีกำจัดแมลงชนิด carbamatesเมื่อ พ.ศ.2527 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองโบพาล ประเทศอินเดีย MIC ประมาณ 15 ตัน ได้รั่วออกจากโรงงาน ทำให้ประชาชนได้รับพิษหลายแสนคน มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 2,000-3,000 คน และเสียชีวิตเพิ่มเติมอีกในตอนหลัง รวมเป็นผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น15,000-18,000 คน การสืบสวนในตอนแรกคิดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบควบคุม แต่ข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมภายหลังบ่งชี้ว่าเป็นการก่อวินาศภัย   Dioxin เป็นสารที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง ทำให้สัตว์ทดลองมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว, ตับอักเสบ, เกิดแผลในกระเพาะอาหาร, porphyria, มีตุ่มสิวเกิดขึ้นตามตัว, ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ และในที่สุดจะตายอย่างช้าๆ ในกลุ่มคนงานโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับพิษอย่างเรื้อรังทำให้เกิดตุ่มสิว porphyria และโรคผิวหนังเรื้อรัง รวมทั้งก่อให้เกิดมะเร็งได้ 

4.5 สารทำลายพืช ส่วนใหญ่เป็นอนุพันธ์ของกรด dichlorophenoxyacetic หรือ trichlorophenoxyacetic เป็นสารประกอบสารหนู ได้แก่สารสีม่วง และสีส้ม ซึ่งเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ สหรัฐอเมริกาได้นำมาใช้ในสงครามเวียดนาม และทางเวียดนามได้กล่าวหาว่า สารสีส้มมีสาร dioxin เจือปนอยู่ด้วย ทำให้ประชาชนชาวเวียดนามเจ็บป่วยเรื้อรัง คาดว่าสารทำลายพืชดังกล่าวนี้ คงไม่มีการนำมาใช้อีก เพราะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และคงไม่มีผลทางยุทธวิธีในการรบด้วยกองกำลังทหารขนาดใหญ่

                     ในปัจจุบันสารพิษที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับสงคราม แต่ยามปกติก็เกิดขึ้นได้เช่น อุบัติเหตุจากโรงงานผลิตสารเคมี และโรงงานอุตสาหกรรม ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น หรือเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีที่ท่าเรือคลองเตยเป็นต้น สามารถก่อมหันตภัยได้ไม่น้อยไปกว่าการใช้อาวุธพิษในการสงครามเท่าใดนัก เมื่อมีเหตุการณ์ เกิดอุบัติภัยหมู่จากสารพิษ ประชาชนจะเกิดความตกใจ ประกอบกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วย ที่ได้รับพิษซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ปัญหาของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากพิษ BZ เป็นตัวอย่างของความวุ่นวายยุ่งยาก ในมาตรการการดำเนินรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษในอุบัติภัยหมู่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าถ้าเกิดเหตุการณ์จากสารพิษชนิดอื่นที่มีความร้ายแรงกว่าและมีผแทรกซ้อนมากกว่า มาตรการทางด้านการแพทย์ และการรักษาพยาบาลจะยิ่งยุ่งยากกว่าหลายเท่า
                      ดังนั้นในยามปกติไม่มีสงคราม ก็ควรมีการซักซ้อมบุคลากรทาง การแพทย์ตลอดจนผู้ที่อาจจะเกี่ยวข้องเช่น พนักงานที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์, โรงงาน อุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีที่มีพิษ รวมทั้งสถานที่เก็บสารเคมีต่างๆ ให้มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้เมื่อมีอุบัติภัยจากสารเคมี ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

1. ค้นหาแหล่งที่เป็นต้นเหตุปล่อยสารพิษ ต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็น สารพิษชนิดใดมีผลต่อมนุษย์อย่างไร จำกัดขอบเขตของสารมิให้ฟุ้งกระจายออกไป และจัดการทำให้สารพิษอ่อนตัวจนหมดฤทธิ์ให้มากที่สุด 

2. อพยพผู้คนออกจากบริเวณนั้น ไปทางเหนือลม 

3. คัดแยกผู้ที่ถูกสารพิษ ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการผู้ที่ยังไม่มีอาการ

วิธีเจือจางสารเคมีที่ฟุ้งกระจาย ควรเริ่มด้วยการฉีดน้ำ หรือ 5% sodium hypochloride พ่นเป็นละอองฝอยในอากาศ และฉีดน้ำไล่ ทำเครื่องหมายแสดงล้อมรอบเขตที่มีพิษให้ชัดเจน ผู้ที่จะเข้าไปในเขตดังกล่าวจะต้องสวมชุดและหน้ากากป้องกันพิษ ก่อนนำผู้ป่วยออกจากเขตที่มีพิษ มาให้การรักษาพยาบาล ต้องชำระล้างสารพิษที่ติดอยู่ตามตัวให้หมด มิฉะนั้นจะทำให้สารพิษกระจายไปทั่ว บุคลากรต้องสามารถให้ การรักษาพยาบาลได้แม้จะสวมชุดดังกล่าวเช่น การใส่ท่อหลอดลม, การเปิดหลอดเลือดดำ, การล้างพิษ เป็นต้น จึงต้องมีการซักซ้อมมาก่อนจนเกิดความชำนาญ ผู้ที่ทำการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ก็ต้องป้องกันตัวเองด้วย เพราะสารพิษที่ติดมากับตัวผู้ป่วย อาจก่อให้เกิดอันตราย แก่ผู้ที่ทำการรักษาพยาบาลได้ เช่นกรณีสงคราม อิรัก-อิหร่าน ที่ผ่านมาทหารอิหร่านถูกส่งตัวกลับจากแนวหน้ามารักษาที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ไม่ได้มีการป้องกันตัวไว้ก่อน ผู้ป่วยมีแก๊ส mustard ติดมาตามตัว และเสื้อผ้า ปรากฏว่าครั้งนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุดนั้นได้รับพิษกันทุกคน ดังนั้นถ้าไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่า ผู้ป่วยที่ส่งมาได้รับการชำระล้างพิษหรือยังให้ถือว่ายังไม่ได้ทำไว้ก่อนเสมอ