ภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว

 

  ภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว

  

ตะกั่ว (lead) เป็นโลหะหนักที่มีลักษณะอ่อนทำให้หลอมเหลวได้ง่าย และสามารถพิมพ์แบบออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ดี จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีการนำตะกั่วมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ ในปัจจุบันก็ยังมีการใช้ตะกั่วในงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย ภาวะตะกั่วเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย อาการของตะกั่วเป็นพิษเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ และคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ ดังนั้นถ้าแพทย์ไม่ได้นึกถึงทำให้การวินิจฉัยผิดพลาด ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอ 
ตะกั่วเป็นสารที่พบปนเปื้อนทั่วไป ในสมัยก่อนเด็กเป็นโรคพิษตะกั่วจากการรับประทานสีทาบ้าน หรือใช้มือจับของที่ติดสีดังกล่าว ในปัจจุบันสีทำด้วยตะกั่วน้อยลง แหล่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดพิษสำหรับผู้ใหญ่คือจากอุตสาหกรรมได้แก่ โรงงานทำ battery และโรงงานอื่นๆ ที่มีการใช้ตะกั่วอย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรม electronics และ computer สำหรับประชาชนโดยทั่วไปอาจได้รับตะกั่วจากอากาศ ซึ่งมักมีตะกั่วปนเปื้อนจากการใช้ tetraethyl lead ในน้ำมันรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษ ได้แก่ หัวกระสุนตะกั่วที่ตกค้างในร่างกาย การทำงานในสนามยิงปืน ยาสมุนไพร หมึก แป้งทาตัวเด็ก (จุ้ยฮุ้ง) ภาชนะ ceramics ที่มีตะกั่ว ท่อประปาที่ทำด้วยตะกั่ว ผลิตภัณฑ์จากแบตเตอรี และอาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อน เหล้าไวน์ เครื่องยนต์ที่ใช้ตะกั่วเป็นส่วนประกอบ การเจียรไนพลอยที่ใช้จานตะกั่ว ตะกั่วที่ใช้เป็นตัวพิมพ์หนังสือ ตะกั่วถ่วงน้ำหนักม่าน สีที่ทาของใช้ของเล่นเด็ก เป็นต้น 

 

เภสัชจลนศาสตร์ 
ตะกั่วเป็นธาตุที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป ปกติผู้ใหญ่จะรับประทานอาหารโดยมีตะกั่วปนเปื้อนอยู่ด้วยประมาณวันละ 150 ug อาหารเด็กอาจมีตะกั่วปนประมาณวันละ 100 ug และรับตะกั่วในน้ำดื่มประมาณ 100 ug ต่อวัน นอกจากนี้คนเรายังรับตะกั่วทางการหายใจ โดยทั่วไปอากาศอาจจะมีปริมาณตะกั่ว 1-2 ug/m3 ประมาณกันว่าถ้าปริมาณตะกั่วในอากาศ 1 ug/m3 จะทำให้ตะกั่วในเลือดสูงขึ้น 1 ug/dl โดยสรุปคนหนึ่งอาจรับตะกั่วเข้าไปในร่างกายวันละ 0.1-2 mg ในจำนวนนี้ประมาณ 75% เข้าทางทางเดินอาหารและ 25% เข้าทางการหายใจ การดูดซึมตะกั่วไปทางเดินอาหาร ผู้ใหญ่จะดูดซึมเข้าไปใร่างกายประมาณ 10% ส่วนเด็กจะดูดซึมมากกว่าถึง 40% ดังนั้นเด็กที่รับประทานสารที่ปนเปื้อนตะกั่วทางปากอาจจะมีอาการเป็นพิษมากกว่า ส่วนตะกั่วที่เข้าไปในทางเดินหายใจ ถ้าขนาดของผงฝุ่นที่มีตะกั่วยิ่งเล็กการดูดซึมก็ยิ่งมาก ผงฝุ่นตะกั่วที่เล็กกว่า 0.5 um ร่างกายสามารถดูดซึมได้ถึง 90% การกระจายของตะกั่วในร่างกาย เนื่องจากปกติตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกกำจัดออกไปช้าๆ ผลทำให้ตะกั่วมีการสะสมขึ้น ในคนทั่วไปตะกั่วอาจจะสะสมในร่างกายประมาณ 200 mg ส่วนในคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับสารตะกั่วอาจจะสะสมถึง 500 mg สำหรับการกระจายตัวของสารตะกั่วในร่างกายจะกระจายแบบ 3 compartments กล่าวคือตะกั่วส่วนหนึ่งจะไปอยู่ในเลือดซึ่ง 95% จะจับกับ RBC ปริมาณที่อยู่ในเลือด 2 mg และมีค่า half-life 35 วัน อีกส่วนหนึ่งจะกระจายไปที่ soft tissue ของร่างกายเช่น ตับ ไต ระบบประสาท ปริมาณของตะกั่วที่สะสมในส่วนนี้ยังไม่ทราบแน่นอน อาจจะมีประมาณ 0.6 mg แต่ในบางการศึกษาเชื่อว่ามีมากถึง 10% ของตะกั่วที่สะสมในร่างกาย ตะกั่วในส่วนนี้มี half-life ประมาณ 40 วัน ตะกั่วส่วนใหญ่ที่สุดที่สะสมในร่างกายคือในกระดูกมีประมาณ 200 mg บางรายงานเชื่อว่ามีประมาณ 90% ค่า half-life ของตะกั่วในกระดูกประมาณ 20-30 ปี การขจัดตะกั่วในร่างกายส่วนใหญ่ประมาณ 75% จะถูกขับออกทางไต คือ 36 ug/วัน อีก 25% หรือ 12 ug/วัน จะถูกขับออกทาง น้ำดี ผม เหงื่อ และเล็บ (รูปที่ 1) 
 
พิษฤทธิ์วิทยา 
ตะกั่วออกฤทธิ์โดยจับกับ sulhydryl group ของระบบ enzyme และยังไปแทนที่โลหะตัวอื่นที่เป็นส่วนสำคัญของ enzyme ทำให้ทำงานไม่ได้ พิษของตะกั่วมีผลแบบ nonspecific ดังนั้นจึงอาจเกิดพยาธิสภาพได้หลายระบบ 
 
อาการแสดง 
1. ตะกั่วอนินทรีย์เป็นพิษ (inorganic lead poisoning) ในผู้ใหญ่อาการตะกั่วเป็นพิษมักจะค่อยเป็นค่อยไป อาการที่เป็น triad คือ อาการปวดท้อง โลหิตจาง และมี peripheral neuropathy อาการต่างๆ เหล่านี้บ่อยครั้งเป็นแบบไม่จำเพาะ ทำให้การวินิจฉัยยากมาก ดังนั้นจึงควรจะต้องนึกถึงภาวะตะกั่วเป็นพิษเสมอ ถ้าคนไข้มาด้วยอาการดังกล่าว 
 
 
อาการเป็นพิษของตะกั่วแสดงออกได้หลายระบบ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการ nonspecific เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร และท้องผูก อาการทางระบบประสาทส่วนปลายเป็นแบบ peripheral neuropathy ซึ่งเป็นบริเวณ distal และมีอาการทาง motor มากกว่า sensory ผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยอาการ wrist drop และ foot drop ในผู้ใหญ่บางรายอาจจะมีอาการทาง neuropsychiatric ได้แก่ ความจำถดถอย ไม่มีสมาธิ และการทำงาน psychomotor ผิดปกติ เป็นต้น เรียกว่า adult mental deficiency ในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมากผู้ป่วยมีอาการทาง encephalopathy ได้แก่ ซึม coma ชัก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทาง focal neurological deficit ด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการเพิ่ม intracranial pressure มักจะเกิดในผู้ป่วยที่ระดับตะกั่วสูงมากๆ เด็กอายุน้อย และตะกั่วชนิดที่เป็นอินทรีย์ (organic lead) 
 
 
สำหรับระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบ colicky pain ปวดมากบริเวณรอบสะดือ ปวดเป็นพักๆ เป็นมากตอนเช้า ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร และท้องผูก หรือท้องเสียร่วมด้วย ถ้าเป็นมากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และลิ้นมีความรู้สึกได้รับรสโลหะ (metallic taste) ในผู้ป่วยบางรายแสดงอาการของ hepatitis ด้วย 
 
 
ระบบโลหิตวิทยา ในรายที่เป็นมากผู้ป่วยมีอาการโลหิตจางจาก hemolysis และการยับยั้งการสร้าง heme ในเม็ดเลือด จาก RBC morphology อาจจะเห็น basophilic stippling นอกจากนั้นยังมีความผิดปกติของ porphyrin metabolisms อีกหลายประการ 
 
 
ระบบ genitourinary ผู้ป่วยที่ได้รับตะกั่วอาจจะมีอาการความผิดปกติของ tubule คือ proteinuria, glycosuria และ aminoaciduria ถ้าได้รับมากพออาจจะเป็นแบบ renal failure เรียกว่า lead nephropathy โดยมีลักษณะเฉพาะคือ interstitial nephritis, GFR ลด และ proximal tubular dysfunction 
 
 
จากอาการดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการอื่นๆที่ไม่ค่อยรู้จักกันดี (unusual manifestations) ได้แก่ความดันโลหิตสูง การกดการสร้าง sperm ทำให้มีอาการเป็นหมัน ระดับ uric acid ในเลือดสูง บางรายอาจมีอาการ attack ของ acute gout (saturnine gout) เป็นต้น ในบางรายอาจจะพบ lead line บริเวณเหงือก แต่ทั่วไปพบได้ไม่บ่อย และบางครั้งพบในคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตะกั่วเป็นพิษก็ได้ 
 
 
2. ตะกั่วอินทรีย์เป็นพิษ (organic lead poisoning) ที่มีใช้กันอยู่ในรูป tetraethyl lead ซึ่งใช้เป็นสาร antiknock ในน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ ผู้ป่วยอาจจะได้รับโดยการดูดซึมทางผิวหนัง รับประทานทางปาก หรือในผู้ป่วยที่เสพติดโดยการดมน้ำมันเป็นต้น อาการแสดงของโรคมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ onset ของอาการจะช้า ไม่เกิดก่อน 24 ชั่วโมงแรกที่ได้รับตะกั่ว โดยทั่วไปใช้เวลา 1-5 วัน สาเหตุเป็นเพราะว่าอาการเป็นพิษของ tetraethyl lead นั้น เกิดจากการที่ร่างกายเปลี่ยน organic เป็น inorganic lead ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ประการที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการของ lead encephalopathy เด่นชัดกว่าเพราะ tetraethyl lead สามารถกระจายได้ดีในไขมัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ระยะแรกมีอาการ anxiety insomnia, คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าเป็นมากจะมีอาการ disorientation ถูกกระตุ้นได้ง่าย มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก nystagmus และที่สุดอาจมีอาการชัก coma และเสียชีวิตได้ 

3. ภาวะตะกั่วเป็นพิษในเด็กที่ไม่มีอาการ (asymptomatic lead poisoning in children) มีการศึกษาผลกระทบของตะกั่วของการพัฒนาการในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ intellectual function จากการศึกษาโดยใช้ case controlled study โดยการวัดระดับตะกั่วในฟันหรือในเลือด เทียบกับ IQ ที่วัดได้พบว่า ระดับตะกั่วในระดับที่ต่ำๆ โดยที่เด็กไม่มีอาการนั้น อาจจะทำให้การพัฒนาทางสติปัญญาด้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกับในหมู่นักวิชาการว่า ผลของ IQ ที่ต่ำลงนั้นเป็นจาก confounding อื่นๆ เช่น socioeconomic status ระยะหลังจากการวิเคราะห์ metaanalysis โดยรวมการศึกษา 12 studies จากที่ต่างๆ เช่น Edinburg, Australia และ Minnesota พบมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดว่า ระดับตะกั่วต่ำๆ ทำให้เกิด intellectual deficit โดยเฉพาะในเด็กเล็ก US CDC สรุปว่าระดับตะกั่ว > 10 ug/dl ทำให้เกิด developmental toxicity ในเด็กโดยทำให้ IQ ต่ำลงประมาณ 5-10 หน่วย ในบางรายจำเป็นจะต้องให้การรักษา ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันมาก

เนื่องจากเกณฑ์เฉลี่ยของระดับตะกั่วใน cord blood ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากมารดานั้นค่อนข้างสูง การศึกษาที่โรงพยาบาลศิริราชค่าตะกั่วเฉลี่ย 18.5 ug/dl ส่วนการศึกษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้นค่าตะกั่วเฉลี่ย 5.2 ug/dl ในกลุ่มนี้มีเด็กที่มีตะกั่วมากกว่า 10 ug/dl ประมาณ 1.0 % ระดับตะกั่วในเด็กทารกแรกคลอดเป็นระดับตะกั่วเริ่มต้น ถ้าตะกั่วในสิ่งแวดล้อมในบรรยากาศมากผลกระทบก็ยิ่งมาก
 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยภาวะตะกั่วเป็นพิษอาจทำได้ยากเพราะอาการเป็นพิษของตะกั่วเป็นแบบ multisystem และบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการแสดงเพียงระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างต้องอาศัยการแปลผลจำเพาะ

การวินิจฉัยโรคตะกั่วเป็นพิษอยู่ที่ประวัติของ exposure เช่นทำงานในโรงงาน battery มีหัวกระสุนที่เป็นตะกั่วฝังอยู่ตามข้อเป็นต้น อย่างไรก็ดี ควรจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าแม้จะไม่มีประวัติ exposure ตะกั่วชัดเจนก็อาจจะเป็นพิษจากตะกั่วได้เช่น จากยาสมุนไพร ของใช้เช่น แป้ง หรืออาหาร เป็นต้น การวินิจฉัยภาวะตะกั่วเป็นพิษค่อนข้างง่าย ถ้าคนไข้มาด้วย triad ของอาการเช่น ปวดท้องแบบ colicky wrist หรือ foot drop และโลหิตจางเป็นต้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่จำเพาะถ้าแพทย์สงสัยก็ควรจะตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการในการยืนยันภาวะตะกั่วเป็นพิษนั้นจะต้องเข้าใจ concept ของ cause และ effect โดยทั่วไปการให้การวินิจฉัยโรคอื่นๆ เป็นแบบ syndrome diagnosis คือวินิจฉัยตามกลุ่มอาการแสดงของโรค แต่การวินิจฉัยภาวะตะกั่วเป็นพิษเป็น etiologic diagnosis ซึ่งขึ้นอยู่กับ cause คือระดับตะกั่วในร่างกาย ถ้ามองในแง่มุมของ physiologic function เนื่องจากตะกั่วไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นตะกั่วในเลือดควรจะอยู่ที่ระดับ 0 แต่เนื่องจากพื้นผิวโลกมีตะกั่วปนเปื้อนอยู่ 

 

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะไม่มีตะกั่วในร่างกาย ดังนั้นระดับที่ยอมรับได้ก็ขึ้นอยู่กับ exposure และภาวะโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในกลุ่มคน (population) เช่น ในคนงานที่ทำงานใกล้ชิดตะกั่ว คือน้อยกว่าระดับที่ 60 ug/dl ผู้ใหญ่ปกติน้อยกว่า 40 ug/dl และในเด็กน้อยกว่า 10 ug/dl ระดับตะกั่วที่ยอมรับได้มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจถึงพิษภัยของตะกั่วและสุขลักษณะของผู้ที่สัมผัสตะกั่ว และการตื่นตัวในการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ส่วน effect คือผลต่อร่างกายซึ่งประการแรกคือ อาการทางคลินิกตามที่กล่าวมาแล้ว ประการที่สองในกรณีอาการทางคลินิกไม่ชัดเจน จะต้องตรวจวัด porphyrin metabolites ซึ่งตะกั่วจะยับยั้งการสร้าง heme การวัด porphyrin metabolites จะไวกว่าอาการทางคลินิก นอกจากนี้แล้วยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในแง่ความต้านทานต่อพิษตะกั่ว บางรายระดับตะกั่วสูงแต่ไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากความต้านทานสูง แต่บางรายระดับตะกั่วต่ำแต่ก็อาจจะมีอาการเป็นพิษเกิดขึ้นได้ ในประการหลังจะต้องระวังระดับตะกั่วเป็นพิเศษไม่ควรจะ over diagnosis เพราะอาการเป็นพิษของตะกั่วไม่ค่อยจำเพาะเช่น ไม่ว่าอาการอะไรมักจะวินิจฉัยผิดๆ ว่าเป็นจากตะกั่ว ทั้งๆที่ความเป็นจริงเกิดจากโรคอื่นๆของผู้ป่วยเป็นต้น
 

การตรวจภาวะตะกั่วเป็นพิษทางห้องปฏิบัติการ
 

การรักษา

  1. การป้องกัน โดยทั่วไปแล้วควรเน้นการป้องกันและภาวะเป็นพิษ โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่วและกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูง โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย การใส่หน้ากากป้องกันการหายใจเอาตะกั่วเข้าไป และควรจะเฝ้าระวังการเกิดพิษตะกั่วโดยการตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับตะกั่วเป็นประจำ คณะกรรมการค่ามาตรฐานชีวภาพทางด้านการแพทย์ กระทรวงแรงงานได้เสนอ algorithm ในการ approach ผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาพิษของตะกั่ว (รูปที่ 3) ในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมีความจำเป็นในการเปลี่ยนงานที่ไม่ต้องสัมผัสตะกั่วมาก guidelines ในการสัมผัสตะกั่วขององค์การอนามัยโลกได้แสดงไว้ใน ตารางที่ 5
  2. การรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นพิษอาจมีอาการหลายระบบเช่น ชัก ปัญหาโรคตับ โรคไต อาการปวดท้อง และอื่นๆ ซึ่งจะต้องประคับประคองให้ดี
  3. Chelation ผู้ป่วยที่มีอาการมากควรจะรับผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลและพิจารณาให้ chelating agent ยาที่ได้ผลดีคือ calcium EDTA โดยให้ขนาด 50 mg/kg/day หรือผู้ใหญ่ 1 gm ใน 5% D/W 500 หยดทางหลอดเลือดดำ วันละครั้ง เป็นเวลา 5 วัน โดยเว้น 2 วัน ให้มีการ redistribute ของตะกั่วก่อนเริ่มให้ course ต่อไป อาการข้างเคียงของ EDTA คือผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติของ renal tubular ใน rare case ผู้ป่วยอาจมีอาการไตวายจาก acute tubular necrosis ซึ่งไม่ขึ้นกับระดับตะกั่วแต่ขึ้นอยู่กับขนาดของ EDTA ที่ไต ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมากไม่ให้ EDTA เกินขนาด นอกจากนี้อาจมีปัญหาการ chelate trace elements อื่นๆ ออกไปเช่น zinc

การให้ EDTA จะต้องให้ขณะที่ผู้ป่วยมี urine flow ได้ดี เพื่อที่จะจับ complex ของ EDTA-Pb ออกจากร่างกายได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการ encephalopathy และไตวาย ควรพิจารณาให้ BAL ร่วมด้วยเพราะ BAL สามารถ penetrate เข้าไปใน CNS ได้ และจะถูกขับออกจากร่างกายทางตับ ขนาดของ BAL ที่ใช้คือ 3-5 mg/kg ทุก 4 ชั่วโมง 2 วัน ทุกๆ 4-6 ชั่วโมงอีก 2 วัน หลังจากนั้นให้ทุกๆ 6-12 ชั่วโมงอีก 2 วัน หลังจากนั้นให้ทุกๆ 6-12 ชั่วโมงอีกไม่เกิน 7 วัน อาการข้างเคียงของ EDTA ได้แก่ ลมพิษ, ไข้, ความดันโลหิตสูง

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก อาจจะพิจารณารักษาโดยให้ oral chelating agent คือ D-penicillamine ขนาดโดยทั่วไป ในเด็ก 20-40 mg/kg/วัน แบ่งให้ 4 ครั้ง ในผู้ใหญ่ให้ขนาด 250 mg วันละ 4 ครั้ง ประสบการณ์ในการใช้ยานี้ในคนไทยพบว่ามีอาการข้างเคียงสูง ผู้ป่วยมักจะทนยาไม่ได้ จึงควรลดยาลงประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดยาที่แนะนำ อาการข้างเคียงได้แก่ อาการแพ้ เช่นเป็นลมพิษ มี eosinophillia, erythema multiforme, neutropenia และ hypogeusia เป็นต้น

ในปัจจุบันมียาใหม่ที่เป็น oral chelating agent ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า D-penicillamine และอาการข้างเคียงน้อยกว่าคือ succimer หรือ DMSA (2, 3 dimercaptosuccinic acid) หรือChemet (100 mg/capsule) ขนาดที่ใช้คือ 10 mg/kg ให้ทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน หลังจากนั้นให้ทุก 12 ชั่วโมงอีก 14 วัน อาการข้างเคียงมีน้อย อาจจะมีผื่นหรือ liver enzymes สูงได้ชั่วคราว และอาการเป็นหวัด อาการข้างเคียงที่สำคัญได้แก่กลิ่น ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้นานมักจะมีกลิ่นประจำตัวเหม็นแบบsulfur End point ในการรักษาคือ ให้ยาจนระดับตะกั่วลดลงน้อยกว่า 40 ug/dl

 

เอกสารอ้างอิง

  1. American academy of pediatrics. Committee on environmental hazards. Statement on childhood lead poisoning. Pediatrics 1987; 70:457-465.
  2. Cullen MR, Robins JM & Eskenazi B. Adult inorganic lead intoxication: presentation of 31 new cases and a review of recent advances in the literature. Medicine 1983; 62: 221-247.
  3. Dillman RO, Crumb CK & Lidsky MJ. Lead poisoning from a gunshot wound. Am J Med 1979; 66:509.
  4. Marcus SM. Experience with D-penicillamine in treating lead poisoning. Vet Hum Toxicol 1982; 24:18-20.
  5. Needleman HL, Gatsonis CA. Low-level lead exposure and the IQ of children: a meta-analysis of modern studies. JAMA 1990; 263:673-678.
  6. Osterloh J, Becker CE. Pharmacokinetics of Ca EDTA and chelation of lead in renal failure. Clin Pharmacol Ther 1986; 40:686-693.
  7. Piomelli S, Rosen JF, Chisolm JJ, et al. Management of childhood lead poisoning. J Pediatr 1984; 105:523-532.
  8. Shannon M, Grace A, Graef J. Use of urinary lead concentration in interpretation of the EDTA mobilization test. Vet Hum Toxicol 1989; 31:140-142.
  9. Thomas PS, Ashton C. An oral treatment for lead toxicity. Postgrad Med J 1991; 67:63-65.