Atropine
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
เป็นยาต้านฤทธิ์การทำงานของระบบประสาท parasympathetic โดยเป็น competitive inhibitor ของ acetylcholine มีผลยับยั้งฤทธิ์ของ acetylcholine ที่ muscarinic receptor ลดการหลั่ง น้ำลาย น้ำเมือก สารคัดหลั่งในหลอดลม ต้านการหดเกร็งของหลอดลม ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้
ข้อบ่งใช้
- ต้านพิษของสารฆ่าแมลงกลุ่ม organophosphates และ carbamates ที่เกิดจากการกระตุ้น muscarinic receptor
- ต้านฤทธิ์ยาที่ทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง ได้แก่ digitalis หรือ beta blockers
- ต้านฤทธิ์สารที่เป็น cholinergic เช่น เห็ดบางชนิด
ข้อห้ามใช้
- ต้อหิน เนื่องจาก atropine จะเพิ่มความดันในลูกตา
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจเต้นเร็ว และมีภาวะหัวใจล้มเหลว
- มีการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะจากการเกร็งตัวของ urinary sphincter
อาการไม่พึงประสงค์
- ปากแห้ง ตาพร่า รูม่านตาขยาย เพิ่มความดันในลูกตา ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก ทำให้ angina pectoris เลวลง
- ในผู้ใหญ่ที่ได้รับ atropine น้อยกว่า 0.5 mg ทางเส้นเลือดดำอย่างช้าๆ อาจทำให้หัวใจเต้นช้า
ปฏิกิริยาต่อยาอื่น
- ฤทธิ์ atropine จะปรากฎเร็วขึ้น เมื่อให้ร่วมกับ pralidoxime (2-PAM) ในผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจาก organophosphates
- เสริมฤทธิ์ยาต้าน muscarinic และยาต้าน histamine อื่นๆ
ขนาดและวิธีใช้
- กรณีภาวะเป็นพิษจากสารยาฆ่าแมลงกลุ่ม organophosphates และ carbamates ผู้ใหญ่ 1-5 mg ทางเส้นเลือดดำ เด็ก 0.05 mg/kg ทางเส้นเลือดดำ ให้ซ้ำทุก 5 ถึง 10 นาที จนเห็นฤทธิ์ atropine ชัดเจน ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ในรายที่ภาวะเป็นพิษรุนแรงอาจต้องใช้ atropine จำนวนหลายกรัมในการแก้พิษ
- กรณีหัวใจเต้นช้าจากยาประเภทอื่น ผู้ใหญ่ 0.5-1 mg ทางเส้นเลือดดำ เด็ก 0.01-0.05 mg/kg โดย ไม่เกิน 0.5 mg ทาง เส้นเลือดดำ ให้ซ้ำได้ตามความจำเป็น การให้เกิน 3 mg ถ้ายังไม่เห็นผลจากการรักษาควรหยุดให้ ยกเว้นในกรณีหัวใจเต้นช้าจากยา organophosphates สามารถให้ในขนาดสูงกว่านี้
รูปแบบของยา
Atropine sulphate 0.6 mg/ml (1 ml/ampule)