บริการ Cognitive Behavioral Therapy

การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม

นพลักษณ์ (Enneagram)

การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นการบำบัดที่มีแนวคิดว่าความคิดที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ทำให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งความคิดบิดเบือนนี้มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุและผล เช่น เด็กนักเรียนที่สอบตกแล้วมีความคิดว่าตนเองล้มเหลว ทำให้รู้สึกสิ้นหวัง นำไปสู่พฤติกรรมเก็บตัว และทำร้ายตนเอง ซึ่งหากเด็กสามารถตั้งคำถามกับตนเอง ว่าความคิดที่เรามองตนเองว่าเป็นคนล้มเหลวเพียงเพราะว่าเราสอบตกนั้นจริงไหม มีอะไรที่บอกว่าสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องจริง คิดแบบนี้แล้วมีประโยชน์ไหม หากเรื่องนี้เกิดกับคนอื่น เราจะคิดแบบเดียวกับที่คิดกับตนเองหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งหลักการของการตั้งคำถามสามารถสรุปได้ดังนี้

1. การพิสูจน์ความจริง โดยการตั้งคำถามหาหลักฐานเพื่อมาคัดค้านกับความคิดที่เชื่อ เช่น

  • มีหลักฐานอะไรที่สนับสนุนว่าเรื่องที่เชื่อ/คิดนั้นเป็นเรื่องจริง
  • สิ่งที่คุณคิดเป็นจริงกี่เปอร์เซ็นต์ มีข้อมูลอะไรที่บอกว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นเป็นจริง
  • มีอะไรอาจค้านกับความคิด แต่คุณละเลยหรือมองข้ามมันไปหรือเปล่า

2. การวิเคราะห์ถึงประโยชน์ โดยการตั้งคำถามให้ได้ทบทวนว่าการคิดแบบนี้มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เช่น

  • เชื่ออย่างนี้มีประโยชน์อะไรบ้างไหม
  • คิดแบบนี้มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
  • ถ้าคิดแบบนี้จะมีผลอะไรตามมาบ้าง
  • คิดอย่างไรคุ้มค่ากว่ากัน

3. การคิดเป็นแบบอื่น โดยการตั้งคำถามให้ได้เปลี่ยนมุมมองความคิดเป็นอย่างอื่น เช่น

  • เรื่องนี้ถ้าไม่คิดแบบนี้ สามารถคิดเป็นแบบอื่นได้หรือเปล่า
  • ถ้าเพื่อนคุณคิดแบบนี้ คุณจะแนะนำเขาว่าอย่างไร
  • จากตอนนี้ไป ถ้าย้อนกลับมา คุณจะคิดต่างไปจากเดิม หรือคิดเป็นอย่างอื่นไหม

เอกสารอ้างอิง

  • ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร. (2565). Basic skills in CBT. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.