“นวัตกรรมสู่แนวปฏิบัติในการลดเค็มสำหรับโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต” (Salt restriction for hypertension and kidney diseases: from innovations to policy)

  ชูนวัตกรรมสู่แนวปฏิบัติลดเค็มสำหรับโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต เปิดทางเลือกสารทดแทนเกลือโซเดียมคลอไรด์แบบใหม่ สารสกัดจากยีสต์ เกลือสาหร่าย เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร ราคาถูกใช้ง่าย ปรับลิ้นลดเค็ม สสส. หนุนปรับสูตรลดโซเดียม ชวนคนไทยหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำ เข้าถึงง่าย

 

    เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND Center) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดงานสัมมนาวิชาการในรูปแบบออนไลน์ “นวัตกรรมสู่แนวปฏิบัติในการลดเค็มสำหรับโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต” (Salt restriction for hypertension and kidney diseases: from innovations to policy) เพื่อให้ความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ และนโยบายสาธารณะให้คนไทยลดการบริโภคเค็ม ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต

ศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร หัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์โลกพบว่า ภาวะความเสี่ยงจากการบริโภคเกลือโซเดียม เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดราว 3 ล้านราย/ปี ขณะเดียวกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของคนไทย จึงเกิดความร่วมมือจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม รัฐบาล องค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคม ตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ๆ และนโยบายมาประยุกต์ใช้เพื่อการขับเคลื่อนการลดโซเดียมให้ประสบความสำเร็จ

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผลงานวิจัยในประชากรไทยที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ประเมินแหล่งของเกลือโซเดียมในอาหารที่คนไทยบริโภคพบว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั้งยังพบว่าคนไทยกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น หากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจะเป็นประโยชน์ในการลดพฤติกรรมการกินเค็มได้ นอกจากนี้ได้นำอุปกรณ์วัดความเค็มในตัวอย่างอาหารไปใช้พบว่า มีประโยชน์ในการช่วยปรับพฤติกรรมลดการบริโภคเกลือ ปรับลิ้นให้มีความไวในการรับรู้รสเค็มได้ดีขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมความดันโลหิต ซึ่งระยะยาวจะส่งผลดีต่อสุขภาพ

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย มีเป้าหมายให้ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 เพื่อลดโอกาสป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตเฉลี่ยประมาณ 240,000 บาท/คน/ปี รัฐจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการรักษาสูงกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี สำหรับผู้ป่วยโรคไตเพียงโรคเดียว ทั้งนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายลดบริโภคเค็มขับเคลื่อนสังคมเพื่อคนไทยลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ร่วมกับ WHO Country Cooperation Strategy (CCS) กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สนับสนุนการทำงานของกรมควบคุมโรคที่เป็นหน่วยงานหลักจัดตั้งกลไกการดำเนินงานระดับชาติ ล่าสุดร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม หวังสร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหาร ปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมช่วยประชาชนหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนภาครัฐใช้มาตรการอื่นควบคู่ ทั้งการให้ความรู้เพื่อการปรับพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างความตระหนักกับผู้บริโภค สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการบริโภคโซเดียม ส่งเสริม ระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ในโรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน และสร้างการเข้าถึง อาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยมีเครื่องมือฉลากทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) เป็นตัวช่วยที่สำคัญ

ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง สารทดแทนเกลือโซเดียมคลอไรด์แบบใหม่ว่า การนำนวัตกรรมสารทดแทนเกลือโซเดียมคลอไรด์ ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ สารสกัดจากยีสต์ เกลือสาหร่าย กรดอะมิโน สมุนไพรแบบผสมที่ปราศจากเกลือและอื่นๆ มาใช้ในเครื่องปรุงรสและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีการผลิตเครื่องตรวจความเค็มในตัวอย่างอาหาร (CHEM METER) เพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้ใช้งานกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งเครื่องตรวจความเค็มในอาหารเป็นอุปกรณ์ที่สามารถวัดปริมาณโซเดียมคลอไรด์ในอาหาร เหมาะกับการตรวจสอบอาหารไทยซึ่งมีรสจัด อุปกรณ์มีราคาประหยัด สามารถพกพาได้สะดวกเพื่อสามารถใช้ได้กับบุคคลทั่วไป เหมาะกับการนำไปใช้ในการรณรงค์ลดการบริโภคเค็มของคนไทยทั่วประเทศ