
คำว่า "เวชระเบียน" กำเนิดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการเสนอของนายแพทย์ศิริพัฒน์ วัฒนเกษตร อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญงานด้านสถิติ ซึ่งได้แปลคำว่า "Medical Record" ว่า "เวชระเบียน" ตามพจนานุกรมคำ "Medical" ตรงกับศัพท์ภาษาบาลีว่า "เวช" แปลว่า "แพทย์" ส่วนคำว่า "Record" ตรงกับศัพท์เขมรว่า "ทะเบียน" แปลว่า "บันทึก" เมื่อนำ 2 คำมารวมกัน คือ เวช + ทะเบียน เป็นเวชทะเบียนแล้วออกเสียงไม่สะดวก จึงใช้คำว่า "เวชระเบียน" ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกันคือ "บันทึกของแพทย์"
ดังนั้นคำว่า "เวชระเบียน" จึงเริ่มใช้เป็นแห่งแรกที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นที่รับรองให้ใช้โดยคณะกรรมการของคณะฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา และแพร่หลายออกไปนอกคณะฯ กว้างขวางยิ่งขึ้นจนกระทั่งเป็นที่รู้จักและใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน และคงจะใช้คำนี้ตลอดไปเนื่องจากเป็นคำที่ถูกต้อง เหมาะสมกับต้นศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นสากลนิยม

-
ความสำคัญของเวชระเบียน...
เวชระเบียนเป็นสาขาหนึ่งทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ เป็นสาขาที่มีความเข้าใจแตกต่างกันพอสมควร เพราะโดยความหมายแล้ว ก็เป็นระเบียนทางการแพทย์ ซึ่งมีความหมายกว้างเหลือเกิน อะไรก็ตามที่มีการบันทึกในทางการแพทย์ก็เป็นเวชระเบียนทั้งหมด งานที่ติดตามมาหลังจากมีการบันทึกจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่งในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการติดตามการรักษา การดูมาตราฐานการรักษา การดูประสิทธิภาพการรักษาจึงสามารถดูได้จากเวชระเบียนทั้งสิน ด้วยความสำคัญในลักษณะนี้ เวชระเบียนจึงเป็นหัวใจของงานการแพทย์โดยปริยาย
เวชระเบียน (Medical Record) คือ หัวใจของงานทางการแพทย์ ภายในเล่มเวชระเบียน แต่ละเล่มมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วยบันทึกรายงานทั้งหมดของแพทย์ที่ตรวจรักษาผู้ป่วย พยาบาลที่ให้การพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการทดลองต่าง ๆ ให้แก้ผู้ป่วยตามคำสั่งแพทย์ รวมถึงเอกสารที่บันทึกข้อมูลที่สำคัญและสิ่งที่ได้ปฏิบัติงานไป เป็นข้อมูลเพื่อนำมาคิดค่าสถิติต่าง ๆ เป็นเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทประกันชีวิต เป็นพยานเอกสารในทางกฎหมาย...
-
ความเป็นมา...
โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดดำเนินการให้บริการผู้ป่วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แรกเริ่มเปิดบริการงานเวชระเบียนใช้ชื่อ หน่วยเวชระเบียน โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ปีกขวาด้านหน้าของโรงพยาบาล อาคาร 1 ชั้น 1 และชั้น 2 ต่อมาปี พ.ศ. 2533 ได้ขยายสถานที่ทำการเพิ่มขึ้นไป อยู่ที่อาคาร 2 ชั้นใต้ดินและชั้น 1 และในปีพ.ศ. 2530 ได้รับอนุมัติจากคณะฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น งานเวชระเบียน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 - 2517 คณะฯ ได้ติดต่อคุณชยะพร เมืองแมน ซึ่งมีความรู้ในเรื่อง Medical Record Administration จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นหัวหน้าหน่วยเวชระเบียน และเป็นผู้วางแผนการจัดโครงสร้างคนแรกของของงานเวชระเบียนตามนโยบายหลักของคณะฯ ที่ต้องการให้ผู้ป่วยหนึ่งคน มีเลขประจำตัวผู้ป่วยเพียงชุดเดียว และจัดเก็บใบรายงานผู้ป่วยนอก และใบรายงานผู้ป่วยในอยู่ในเล่มเวชระเบียนเดียวกัน
หัวหน้างานเวชระเบียนตั้งแต่เปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1. คุณชยะพร เมืองแมน พ.ศ. 2511 - 2517
2. คุณนุสรา เสาวภาค พ.ศ. 2517 - 2519
3. คุณเล็ก คล่องสากล พ.ศ. 2519 - 2524
4. คุณสิริฉัตร อยู่สุข พ.ศ. 2524 - 2528
5. คุณชูพิศ ศุขกสิกร พ.ศ. 2528 - 2541
6. คุณพาที แสงฉาย พ.ศ. 2541 - 2557
6. คุณธนวัน ลือสุทธิวิบูลย์ พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน .. (รักษาการหัวหน้างานเวชระเบียน)
-
พันธกิจ...
งานเวชระเบียน เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนภารกิจของคณะฯ ด้านการให้บริการเวชระเบียนแก่ผู้ป่วยในการรักษาพยาบาล และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านการศึกษาค้นคว้าและวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเป็นระบบ และเป็นแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญ รวมถึงพัฒนาระบบการให้บริการทีทันสมัยตามความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ระดับสากล โดยมีเป้าหมายให้ผู้รับบริการได้รับเวชระเบียนที่ถูกต้อง สมบูรณ์ รวดเร็ว และทันเวลา นอกจากนี้ ยังมีวิสัยทัศน์ในการให้บริการระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสารสนเทศได้ทั้งภายในและภายนอกคณะฯ เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของคณะฯ ที่จะเป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในภูมิภาคเอเซีย และเป็นประทีปส่งทางด้านสุขภาพของเทศ
ปัจจุบันงานเวชระเบียนมีภาระงานในการจัดทำเวชระเบียนสำหรับผู้ป่วยทุกราย ในการรักษาพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีข้อมูลและรายละเอียดประวัติผู้ป่วยเพียงพอ เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างทีมงานผู้ให้บริการ รวมทั้งมีระบบการรักษาความลับของข้อมูลผู้ป่วย และทำลายเล่ม เวชระเบียนเมื่อถึงเกณฑ์ทำลาย
|