จะ"รักษา"อย่างไรดี

จะ “รักษา” อย่างไรดี

   

                                  มุมกฎหมาย

กฤตภาส  หอมกระแจะ

           นิติกร  งานกฎหมาย

                               จะ “รักษา” อย่างไรดี ?  รักษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรักษาผู้ป่วยนะครับ  แต่ผมหมายถึง “รักษาการ/รักษาการแทน/รักษาราชการแทน/รักษาการในตำแหน่ง”  ซึ่งหลายท่านมีความสงสัยและสอบถามเข้ามายังงานกฎหมายว่าแต่ก่อนนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลจะมีการใช้คำเหล่านี้หลากหลายแตกต่างกัน แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ใช้คำว่า “รักษาการแทน” เพียงคำเดียว โดยไม่ว่าจะเป็น                                  กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งไม่อาจ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทน หรือในกรณีที่ตำแหน่งว่างลง

                             วันนี้จะขอเรียนให้ทราบว่าสาเหตุที่เราใช้คำว่า “รักษาการแทน”นั้น ก็เพราะนับตั้งแต่ได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อบังคับใช้เป็นระเบียบแบบแผนในการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงได้มีการกำหนดเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งในกรณี “รักษา” ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไว้ด้วยในมาตรา ๔๑  โดยกำหนดว่า

                          “ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีเป็น                        ผู้รักษาการแทน   ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคนให้รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าอธิการบดีมิได้มอบหมายให้รองอธิการบดีที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาการแทน   

                           ทั้งนี้ ในส่วนของตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และหัวหน้าภาควิชานั้น                 พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็ได้กำหนดให้นำมาตรา ๔๑  มาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย

อนึ่ง ตำแหน่งอื่นๆ ที่พระราชบัญญัติไม่ได้กำหนดไว้ เช่น ตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย หัวหน้างาน ฯลฯ ได้มีการกำหนดไว้ในข้อบังคับ/ประกาศมหาวิทยาลัยซึ่งก็ใช้“รักษาการแทน” ด้วยเช่นกัน 

                           ดังนั้น ที่เราใช้ “รักษาการแทน”  ก็เนื่องจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท และข้อบังคับและประกาศของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นกฎหมายลูกได้กำหนดไว้อย่างสอดคล้องกัน โดยขณะนี้ไม่ปรากฏคำอื่นแต่อย่างใด 

                          ท้ายนี้หวังว่าจะไขข้อข้องใจของใครหลายคนได้นะครับ