ศาลทหาร

"ศาลทหาร"

                                                                                                                                                    

กฤตภาส  หอมกระแจะ
นิติกร  งานกฎหมาย

 

                                                                                                                                 
 

                            ขึ้นชื่อว่าศาล ไม่ว่าศาลไหนๆ ถ้าไม่จำเป็นแล้วคงไม่มีใครต้องการขึ้นศาลเป็นแน่แท้  ไม่ว่าจะในฐานะ “โจทก์” หรือจะตกเป็น “จำเลย”  เพราะถ้าหากขึ้นศาลแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเสียเวลา และอาจเสียอิสรภาพได้เมื่อตกเป็นจำเลย

                            ศาลไทย เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อำนาจตุลาการนั้นเป็นสาขาหนึ่งของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล และศาลปฏิบัติการในพระปรมาภิไธย

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ศาลไทยมีสี่ประเภทดังนี้

                                ๑. ศาลรัฐธรรมนูญ

                                ๒. ศาลยุติธรรม

                                ๓. ศาลปกครอง

                                ๔. ศาลทหาร

                                ศาลที่กำลังได้ยินชื่อคุ้นหูกันมากทั้งในวิทยุ โทรทัศน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค และโซเชียลมีเดียต่างๆ ในขณะนี้  คงจะหนีไม่พ้น “ศาลทหาร”

                              ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกประกาศ และออกคำสั่ง จำนวนหลายฉบับ กำหนดให้ พลเรือน หรือบุคคลต่างๆ ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง  ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศหรือขัดคำสั่งต่างๆ ดังกล่าว จะมีความผิดและต้องรับโทษตามที่ประกาศ หรือคำสั่งกำหนดไว้   ทั้งนี้ คสช.ได้กำหนดให้บรรดาคดีความผิดตามที่กำหนดไว้ต่างๆ นั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

 

ความเป็นมาของศาลทหาร

                  “ศาลทหาร” นั้น มีมาตั้งแต่ประเทศไทยของเรามีทหาร จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบบศาลทหารไทยปรากฏตามกฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช ๗๙๖  ซึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ มีศาลกลาโหม ทำหน้าที่ชำระความที่เกี่ยวกับทหารและยังทำหน้าที่ชำระความพลเรือนอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสมุหพระกลาโหมในสมัยนั้นมิได้มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะการบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีทั้งศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และศาลในหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลกลาโหมจึงมีลักษณะเป็นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงในเรื่องการศาลทั้งหมด โดยให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลซึ่งกระจัดกระจายสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล  ยกเว้น “ศาลทหาร”เพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ดังนั้น ศาลในประเทศไทยจึงแบ่งได้เป็นศาลกระทรวงยุติธรรมกับศาลทหารนับแต่นั้นมา

                   ศาลทหารในปัจจุบันมีการจัดตั้ง และมีวิธีพิจารณาความของศาล โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘

 

ประเภทของศาลทหาร

ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ

              ประเภทที่ ๑ ศาลทหารในเวลาปกติ

    ประเภทที่ ๒ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

              ประเภทที่ ๓ ศาลอาญาศึก

              ประเภทที่ ๑ ศาลทหารในเวลาปกติ คือ ศาลทหารที่ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกสงคราม   โดยศาลทหารในเวลาปกติจะมีการพิจารณาพิพากษาคดีที่สามารถอุทธรณ์ และฎีกาได้ สามชั้น ศาลทหารในเวลาปกติ ประกอบด้วย ศาลทหารชั้นต้น  ศาลทหารกลาง  ศาลทหารสูงสุด

            ประเภทที่ ๒ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ คือ ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงครามหรือได้ประกาศใช้ กฎอัยการศึก อย่างเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน   ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติคงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศหรือคำสั่งนั้นได้ด้วย

              เมื่อภาวะการรบหรือสถานะสงครามหรือการใช้กฎอัยการศึกได้จบสิ้นแล้ว ศาลทหารก็ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาลหรือที่ยังมิได้ฟ้อง  แต่ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจสั่งโอนคดีหรือส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดียังศาลทหารแห่งอื่นได้ และให้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเช่นนี้มีอำนาจและหน้าที่ดังศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

              ประเภทที่ ๓ ศาลอาญาศึก เป็นศาลทหารอีกประเภทหนึ่งที่ได้แยกออกมาต่างหากจากศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ การตั้งศาลอาญาศึกจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้

              ๑. เมื่อมีการรบเกิดขึ้น โดยได้มีการกำหนดเขตยุทธบริเวณ

              ๒. ในเขตยุทธบริเวณดังกล่าว มีกำลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือมีเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร

              ๓. ผู้บังคับบัญชาของกองกำลังทหารที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือผู้บังคับบัญชาประจำเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นดังกล่าวตามข้อ ๒ หรือผู้ทำการแทนผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ได้ตั้งศาลอาญาศึกขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในยุทธบริเวณนั้น ๆ

 

อำนาจของศาลทหาร

ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีแก่บุคคลดังต่อไปนี้

๑. กลุ่มทหาร โดยแยกเป็น ๒ ประเภท คือ

              ๑.๑ ทหารประจำการ ได้แก่ ทหารที่รับราชการทหารเป็นอาชีพ ซึ่งมีทั้งทหารประจำการชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และทหารที่ไม่มียศที่เรียกกันว่า พลทหารอาสาสมัคร

              ๑.๒ ทหารกองประจำการ ได้แก่ ทหารเกณฑ์ หรือทหารที่สมัครเข้ากองประจำการ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร

          ๒. กลุ่มนักเรียนทหาร หมายถึง นักเรียนทหารที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม เช่น นักเรียนนายร้อย นักเรียนแพทย์ทหารวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรืออากาศ นักเรียนเตรียมทหาร ทั้งนี้นักเรียนทหารดังกล่าวหากมีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อพ้นเกณฑ์อายุก็จะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

          ๓. กลุ่มบุคคลที่มิได้เป็นทหาร แยกได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่

              ๓.๑ บุคคลที่เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน เป็นลูกจ้างในสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการโดยมาจำกัดพื้นที่ หรือความผิดอาญาอื่นโดยจำกัดพื้นที่เฉพาะในบริเวณที่          ตั้งหน่วยทหาร

              ๓.๒ บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น พยานที่ถูกศาลทหารออกหมายจับมาเพื่อเบิกความ

              ๓.๓ บุคคลที่เป็นเชลยศึกหรือชนชาติศัตรูในช่วงเวลาที่มีศึกสงคราม

          ทั้งนี้ ในสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงของการประกาศใช้กฎอัยการศึก  ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศหรือคำสั่งนั้นได้ด้วย

 

 

นายกฤตภาส  หอมกระแจะ  :  เรียบเรียง

นางสาวศรัญญา  โสดานิล   :   ตรวจทาน