หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

ทำเนียบแพทย์ประจำบ้านต่อยอด
สมัครแพทย์ประจำบ้านต่อยอด
คู่มือแพทย์ประจำบ้านต่อยอด
 
การประเมินผลแพทย์ประจำบ้านต่อยอด
การขอรับรองวุฒิบัตร สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ให้มีคุณวุฒิ “เทียบเท่าปริญญาเอก”
 

 

หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

วิสัยทัศน์

          เป็นหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อนุสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล อันดับหนึ่งของประเทศไทย

ค่านิยม

          หลักสูตรฯ มุ่งมั่นไปยังอนาคตข้างหน้าในฐานะผู้นำของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก เป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ค่านิยมที่จะทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ตามพันธกิจได้ ประกอบขึ้นเป็นอักษรย่อ RAPEM ที่อาจจะย่อมาจาก RAmathibodi Prehospital Emergency Medicine ได้แก่
          Resilience - มีความยืดหยุ่น พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถดำรงค์ตนได้อย่างมั่นคง
          Altruism - มีส่วนร่วมในการทำเพื่อส่วนรวม มีความเชื่อมั่นในองค์กร Expertise - มีความเชี่ยวชาญในทักษะของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
          Practical - ปฏิบัติได้จริง
          Empathy - มีความเห็นอกเห็นใจ
          Mastery - มีความเชี่ยวชาญในทักษะของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

พันธกิจ

          1. ผลิตวุฒิบัณฑิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ที่มีคุณลักษณะเชี่ยวชาญในด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ประพฤติตนตามมาตรฐานของสังคม และดำรงค์ตนได้อย่างมีสุข เป็นผู้นำของระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยได้
          2. บูรณาการเครื่องมือพัฒนาคุณภาพในทุกส่วนของหลักสูตร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหาหลักสูตร การบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัยในหลักสูตร ไปจนถึงการประเมิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่คาดหวัง

ผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร (Competency/ outcome base learning)

          ผลลัพธ์ของหลักสูตรมีหลักการได้มาเช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลและนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ จึงกำหนดให้แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน ดังนี้

          1.1. การบริบาลผู้ป่วย (patient care)
          1.1.1 ให้การวินิจฉัยและการรักษา เพื่อช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ตั้งแต่การรับรู้ถึงภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และสามารถรักษาเสถียรภาพของผู้ป่วย จนถึงการดำเนินการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบำบัดรักษาให้พ้นภาวะฉุกเฉิน หรือรับไว้เพื่อการบำบัดเจาะจงในโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย ในผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางอายุรกรรม อุบัติเหตุ และผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยภาวะอ้วน ผู้ป่วยตั้งครรภ์ (PC1)
          1.1.2 มีทักษะการทำหัตถการฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การดูแลทางเดินหายใจ และระบบการหายใจ การเปิดหลอดเลือด การดูแลบาดแผล รวมถึงการจัดการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัด โดยหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และตระหนักถึงผลลัพธ์และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น (PC2)
          1.1.3 ให้การอำนวยการตรงกับหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ควบคุม และแนะนำผู้มีประสบการณ์น้อยกว่าในปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพ ข้อกำหนดของบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน และทรัพยากรที่มีจำกัด (PC3)
          1.1.4 ให้การอำนวยการ และการดูแลในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยวิกฤตได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย อาทิ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตระหว่างโรงพยาบาล การเคลื่อยนย้ายทางอากาศ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ต้องใช้การใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal membrane oxygenation; ECMO) เป็นต้น (PC4)
          1.1.5 ให้การดูแลผู้ป่วยและกำกับฝูงชน ในสถานการณ์พิเศษที่หลากหลายได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม อาทิ ภาวะเจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร ภาวะสงคราม สถานการณ์อุบัติภัยหมู่ สถานการณ์ภัยคุกคาม (hazards) การรวมฝูงชน (mass gathering) และสถานการณ์ภัยพิบัติ (disaster) (PC5)

          1.2 ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (medical knowledge and skills & procedure skills)
          1.2.1 มีความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินและการดูแลรักษาภาวะฉุกเฉินวิกฤตที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตตั้งแต่นอกโรงพยาบาล ทั้งในภาวะอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุ (MK1)
          1.2.2 มีความรู้ด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และการอำนวยการทั่วไป (MK1)
          1.2.3 มีความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลในสถานการณ์พิเศษ เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยภาวะอ้วน การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในที่แคบหรือที่มืด การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศหรือทางน้ำ การดูแลผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร การดูแลผู้ป่วยในภาวะสงคราม การดูแลผู้เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล เป็นต้น (MK2)

          1.3 ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal and communication skills)
          1.3.1 มีทักษะการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ICS1)
          1.3.2 ทักษะการติดต่อสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่น อันได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ บุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น และประชาชนทั่วไป (ICS2)

          1.4. การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (practice-based learning and improvement)
          1.4.1 ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และสร้างองค์ความรู้โดยมีส่วนร่วมในงานวิจัย/ นวัตกรรม เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (PBL1)
          1.4.2 มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ปรับตัว และพัฒนาสมรรถภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม (PBL2)
          1.4.3 สามารถสะท้อนการกระทำที่ผู้ปฏิบัติสามารถมองเห็นตนเองภายใต้บริบทจากประสบการณ์ของตนเอง ด้วยวิธีการเผชิญ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติงานของตนเองทั้งที่ต้องการและจากการปฏิบัติจริง (reflective practice and commitment to personal growth) (PBL3)

          1.5 ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (professionalism)
          1.5.1 มีเจตคติที่ดีและความเป็นมืออาชีพในการทำงานในฐานะแพทย์อำนวยการปฏิบัติการฉุกเฉิน (PF1)
          1.5.2 มีความเมตตา กรุณา เคารพผู้อื่น มีความรับผิดชอบและยึดมั่นในหลักการทางเวชจริยศาสตร์ (PF2)
          1.5.3 มีความสามารถในการมองเห็นตัวเองและตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองผ่านการรับรู้และเข้าใจสภาวะต่างๆ และแสดงออกโดยการควบคุมตนเองได้เป็นอย่างดี (PF3)

          1.6 การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (system-based practice)
          1.6.1 มีความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย ให้การวิเคราะห์และบริหารจัดการในด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลนอกโรงพยาบาลได้ตามหลักประกันคุณภาพของประเทศ และของนานาชาติ (SBP1)
          1.6.2 มีความรู้เกี่ยวกับระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (emergency care system) และให้ความสัมพันธ์กับระบบบริการสุขภาพของประเทศและกองทุนรักษาประเภทต่างๆ ให้การบริหารระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ได้โดยเชื่อมโยงตั้งแต่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (emergency medical services) ต่อเนื่องถึงการดูแลผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน (emergency room) ไปยังการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมถึงระบบการส่งต่อและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (referral and interfacility transport systems) (SBP2)
          1.6.3 มีความรู้ความเข้าใจบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ในระบบการเตรียมพร้อม ตอบสนอง ฟื้นฟู และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณภัย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ และสามารถปฏิบัติการได้อย่างประสานสอดคล้อง (SBP3)
          1.6.4 ให้การกำกับดูแล ฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน (SBP4)