เมื่อเก่าก่อน |
ปี พ.ศ.2512 เริ่มมีการจัดตั้งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรามาธิบดีขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อให้การดูแลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ในขณะนั้นมีเพียงห้องว่างโล่งที่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งหอสังเกตอาการ 5 เตียง ห้องแยกโรคติดเชื้อ 2 เตียง และห้องผ่าตัดเล็ก 2 ห้อง
เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงได้มีการสร้างตึกปัจจุบันพยาบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2525 อันประกอบด้วยห้องฉุกเฉินรวมทั้งหอสังเกตอาการชายและหญิงอีกทั้งเด็กจำนวนรวม 42 เตียง
ปัจจุบันกาล |
2 ตุลาคม 2546 เริ่มมีการจัดตั้งเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินขึ้นอันทำให้มีการพัฒนางานสาขาฉุกเฉินนี้ก้าวไปไกลทั้งการบริหารจัดการ งานบริการ การศึกษา งานวิจัยเพื่อตอบสนองการดูแลที่เป็นเลิศ
ด้านการเรียนการสอน ได้มีการเริ่มฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเมื่อปี พ.ศ. 2546 และตามมาด้วยเริ่มฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเมื่อปี พ.ศ. 2547
ด้านบริการ มีการจัดทำโครงการทางด่วนพิเศษสำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มีการนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน จัดตั้งศูนย์รถพยาบาลสมบูรณ์แบบ รวมทั้งพัฒนาการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดหน้ากากแก่ผู้ป่วยหายใจล้มเหลว
ด้านนวัตกรรม มีการสร้างรถล้างท้องฉุกเฉิน ประดิษฐ์ลวดช่วยใส่ท่อหายใจและกล่องยาช่วยชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาพยาบาล
ห้องฉุกเฉินสามารถให้การบริการแก่ผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยพื้นที่ถูกแบ่งเป็นห้องกู้ชีพห้องเฝือก ห้องสังเกตอาการไม่เกิน1วัน และห้องผ่าตัดเล็ก อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ว่างล่างเพื่อให้สามารถบรรจุเตียงของผู้ป่วยได้อย่างไม่จำกัด ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน อันทำให้หลายครั้งทำให้ประสบปัญหาความแออัดของห้องฉุกเฉินอยู่ดี ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้ทำการจัดสร้างตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉินขึ้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2552
อนาคต |
มุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลใน ห้องฉุกเฉินให้ทันสมัย และขยายผลการดูแลรักษาไปสู่นอกโรงพยาบาลมากขึ้น
ผศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา
หัวหน้าภาค ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน