สถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็ก

 

โรคมะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)หมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นโรคที่มีอัตราเกิดน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก คิดเป็นประมาณ 1ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ และเกือบทั้งหมด เป็นมะเร็งชนิดแตกต่างจากผู้ใหญ่(ไกรพิบูลย์, 2016)

สถิติโรคมะเร็งในเด็กของประเทศไทย พบอุบัติการณ์เป็น 21.7, 16.6 และ 10.2 ต่อประชากร 100,000 คน ในผู้ป่วยเด็กชายอายุระหว่าง 0-4 ปี, 5-9 ปี, และ 10-14 ปี ตามลำดับ และ 14.1, 10.5 และ 9.4 ต่อประชากร 100,000 คน ในผู้ป่วยเด็กหญิงอายุระหว่าง 0-4 ปี, 5-9 ปี, และ 10-14 ปี ตามลำดับ (Imsamran W, et al, 2015)

ชนิดของโรคมะเร็งในเด็ก ได้มีการแบ่งโดยใช้เกณฑ์ขององค์กรระหว่างประเทศ International Childhood Cancer Classification (ICCC)โดยแบ่งโรคมะเร็งทั้งหมดเป็น 12 ชนิด ข้อมูลจากชมรมโรคมะเร็งในเด็กแห่งประเทศไทย ได้จัดทำทะเบียนมะเร็งผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กของประเทศไทย โดยความร่วมมือของโรงพยาบาล/สถาบันที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งทั้งสิ้น 20 สถาบันทั่วประเทศ ได้ร่วมมือเก็บบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเด็กอายุระหว่าง แรกเกิดถึง 14 ปีได้ข้อมูลโรคมะเร็งในเด็ก จำนวน 2,792 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยใหม่ระหว่างปี 2546 ถึง 2548 (1,602 คนในเพศชายและ 1,190 คน ในเพศหญิง) อายุเฉลี่ยที่ 6.5 ปี (SD=0.13)(Wiangnon, et al, 2011)

อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในเด็กทุกชนิดที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปีรายละเอียดอยู่ในกราฟรูปที่ 1 โดยชนิดของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งที่พบบ่อย 3 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งสมอง โดยพบอุบัติการณ์เป็น 38.1คน, 6.4 คน และ 6.3 คนต่อประชากรล้านคนตามลำดับ โดยมีชนิดของโรคมะเร็งในเด็กที่พบน้อยที่สุดคือ โรคมะเร็งเยื่อบุผนังอวัยวะ ชนิด คาร์ซิโนมา โดยพบอุบัติการณ์เป็น 0.7 คน หรือประมาณ 1 คน ต่อประชากรล้านคน

 

         Figure 1: Age-adjusted Incidence Rates for childhood Cancer by ICCC Group, Age < 15 both Sexes, 2003- 2005, Thailand.

 

 

สำหรับสถิติโรคมะเร็งในโรงพยาบาลรามาธิบดี จากการจัดทำทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ซึ่งได้มีการอ้างอิงการจัดกลุ่มแบบ ICCC เช่นเดียวกัน พบสถิติผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งอายุระหว่างแรกเกิด ถึง 15 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างปี 2554-2558 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 472 คนพบเพศชายมากกว่าเพศหญิง เล็กน้อย โดยพบจำนวนผู้ป่วยเด็กชาย 271 คน(57.4%) และผู้ป่วยเด็กหญิง 201 คน (42.6%) อัตราการวินิจฉัยของเพศชายต่อเพศหญิง เป็น 1.3:1 มีอายุเฉลี่ยที่ 6.6 ปี (SD=4.51)

รูปที่ 2 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็ก แยกตามชนิดโรคของผู้ป่วยและกลุ่มอายุ จากรายงานสถิติ 5 ปีย้อนหลัง (2554-2558) พบจำนวนผู้ป่วยเด็กใหม่ของรามาธิบดีทั้งหมด 472 คน เป็นมะเร็งสมองมากที่สุด รองลงมาคือชนิด Germ cell tumors และ มะเร็งตา โดยพบเป็นจำนวน 128 คน(27.1 %), 57 คน(12.1%), และ 45 คน(9.5%), ตามลำดับ ชนิดของผู้ป่วยมะเร็งในเด็กที่พบน้อยที่สุด คือมะเร็งไต พบเป็นจำนวน 19 คน (4.0%)

Figure 2: Number of childhood cancer by ICCC group, age<15, both sexes< 15 both Sexes, 2003- 2005, Thailand.

 

 

รูปที่ 3 แสดงถึงชนิดโรคมะเร็งในเด็กแบ่งตามกลุ่มอายุ 0-4 ปี, 5-9 ปี และ 10-14 ปี พบว่าชนิดของโรคมีความแตกต่างกันตามกลุ่มของอายุ เรียงลำดับของชนิดโรคที่พบบ่อย 3 อันดับแรกมีดังนี้นี้กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี พบผู้ป่วยเด็กชนิด มะเร็งสมอง (brain tumor) (43 คน), มะเร็งตาชนิด retinoblastoma (41 คน) และ Sympathetics nervous system (22 คน) กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี พบชนิดมะเร็งสมอง (45คน), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (19คน) และมะเร็งกระดูก (19คน)สำหรับกลุ่มเด็กโต อายุระหว่าง 10-14 ปี พบชนิดมะเร็งสมอง (40คน), มะเร็ง Germ cell(35คน),และ Carcinoma (24คน),ตามลำดับ

 

 

 

Figure 3: Number of Cases of all Childhood Cancers by ICCC and Age Group, both Sexes

 

 

โรคมะเร็งในเด็ก เป็นโรคมะเร็งชนิดแตกต่างจากในผู้ใหญ่ อัตราการเกิดโรคต่ำกว่าในผู้ใหญ่มาก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในเด็ก ยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองพบบุตรของท่านมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ซีด เลือดออกตามที่ต่างๆ คลำได้ก้อนบนร่างกาย ปวดศีรษะมาก หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม มะเร็งเด็ก โดย  รศ.นพ.สามารถ ภคกษมา และ คู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง จากคุณวันเพ็ญ วันธารกูร

 

ผู้รวบรวมข้อมูล
นางสาวนิลทิตา ศรีไพบูลย์กิจ , รศ.สามารถ ภคกษมา  
หน่วยทะเบียนมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เอกสารอ้างอิง

พวงทอง ไกรพิบูลย์, (2013, July 15).มะเร็งในเด็ก. Retrieved from http://haamor.com/:
http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8...
Imsamran W, Chaiwarawattana A, Wiangnon S, Pongnikorn D (2015). Cancer in Thailand.
(Vol VIII, 2010-2012). National Cancer Institute, Thailand.
Wiangnon S1, Veerakul G, Nuchprayoon et al, (2011). Asian Pac J Cancer Prev.12 (9):2215-20.