การดูแลตนเองหลังการรักษาด้วยรังสี

การดูแลตนเองหลังการรักษาด้วยรังสี

การรักษามะเร็งเต้านม

         การรักษามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบผสมผสานกันหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด ระยะของโรค และความเหมาะสมใน ผู้ป่วยแต่ละราย

                       1.การผ่าตัด ถือเป็นการรักษาหลัก
                       2.การรักษาด้วยยา เช่น การให้ยาเคมีบำบัด และยาต้านฮอร์โมน
                       3.การฉายรังสี ถือเป็นการรักษาเฉพาะที่เพื่อควบคุมโรค ป้องกันการเกิดซ้ำของโรค

การฉายรังสี

                       • จะใช้ในผู้ป่วยที่ตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกหรือบางส่วนของเต้านมออกไป
                       • รังสีจะไปกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่เป็นเนื้องอก หรือบริเวณอื่นในเต้านม
                       • ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่ตัดเต้านมทิ้ง ซึ่งก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่และกระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ซึ่งมีจำนวนมาก

         รังสีที่ฉาย คือ เอ๊กซเรย์พลังงานสูง ไม่ร้อน ไม่เจ็บ และไม่มีรังสีใด ๆ ตกค้างในตัวของผู้ป่วย และ รังสีไม่มีอันตรายกับคนรอบข้าง ไม่ว่าเด็กหรือคน ท้อง

การดูแลตัวเองระหว่างฉายรังสี

    1.ดูแลผิวบริเวณที่ฉายรังสีไม่ให้เกิดแผล
                   - สวมเสื้อผ้าหลวมๆ โปร่งๆ เพื่อลดการเสียดสี
                   - สามารถอาบน้ำได้แต่ห้ามฟอกสบู่ ห้ามขัดถู ห้ามทาแป้ง ให้ราดน้ำผ่านๆแล้วใช้ผ้านุ่มๆ ซับให้แห้งตรงบริเวณที่ฉายรังสี
    2.ผู้ป่วยควรอยู่ที่เย็นสบาย หลีกเลี่ยงการทำงาน หรือออกกำลังกายหนักๆ เพราะเหงื่อจะออกมาก ห้ามว่ายน้ำ
    3.หลีกเลี่ยงการโดนแดดจัด เพราะจะเกิดการระคายเคืองบริเวณผิวที่ฉายรังสี ถ้าจำเป็นต้องออกแดดควรสวมหมวก หรือใช้ร่ม
    4.สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ไม่ควรหนักมาก
    5.พักผ่อนให้เพียงพอ
    6.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่มีอาหารแสลง หรืออาหารที่ห้ามใด ๆ
    7.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
    8.ในรายที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สามารถรับประทานยาประจำได้ตามปกติ
    9.ถ้ามีไข้ ปวดศีรษะ เป็นหวัดสามารถรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงต้องแจ้งแพทย์ที่รักษาขอตรวจก่อนไปฉายรังสี
    10.ขณะรักษาห้ามตั้งครรภ์ เพราะรังสีมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ จึงต้องคุมกำเนิดแต่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิด ทั้งชนิดเม็ดหรือยาฉีด หรือแบบ ฝัง เพราะอาจส่งผลต่อมะเร็งเต้านมได้
    11.ถ้ามีอาการคัน ระคายเคือง ต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแล อาจให้ยาทาบริเวณที่ฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการ
    12.บางรายที่มีอาการเจ็บคอ ระคายคอจากหลอดอาหารอักเสบ ต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแล อาจให้ยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ และให้ รับประทานอ่อนๆ รสไม่จัด อาการดังกล่าวจะหายเป็นปกติภายหลังจากฉายรังสีครบ
    13.เนื่องจากผู้ป่วยจะรู้สึกตึงบริเวณหน้าอก หรือรักแร้ได้ตั้งแต่หลังผ่าตัด การบริหารแขนและไหล่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และควรทำทุกวัน

การดูแลตัวเองหลังฉายรังสี

    1.การดูแลผิวหนัง หลังฉายรังสีครบช่วงสัปดาห์แรก สีผิวจะคล้ำหรืออาจลอกเป็นแผลได้ เนื่องจากยังมีผลของรังสีอยู่ แพทย์อาจให้งด โดนน้ำ และนัดติดตามภายใน 1 สัปดาห์หลังฉายครบ (กรณีที่เกิดแผลหลังฉาย)
    2.ถ้าผิวไม่ระคายเคืองและไม่เป็นแผล สามารถอาบน้ำฟอกสบู่ได้ แต่ห้ามขัดถูแรงๆ
    3.หลังอาบน้ำใช้โลชั่น หรือครีมบำรุงผิวทา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการคัน
    4.นวดคลึงเบาๆ บริเวณที่ฉายรังสีโดยเฉพาะบริเวณรอยผ่าตัด เพื่อลดการเกิดพังผืดแข็ง ทำให้หน้าอกหรือเต้านมไม่แข็ง
    5.บริหารแขน และไหล่ตามคำแนะนำ เพื่อป้องกันไหล่ติดและลดการเกิดแขนบวม
    6.ในรายที่ผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การวัดความดันโลหิต และการเจาะเลือดแขนข้างที่ผ่าตัดเพื่อ ป้องกันแขนบวม
    7.ในรายที่แขนบวมให้บริหารและนวดแขน หรือสวมปลอกรัดแขน ระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่แขนข้างนั้นเพราะแผลจะหายยาก และมี โอกาสติดเชื้อง่าย
    8.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่มีอาหารที่ห้าม หรือแสลง แต่ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน มากเกินไป เพราะจะทำให้อ้วน และมีผลเสียต่อสุขภาพ
    9.ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านฮอร์โมน (ใช้ในมะเร็งชนิดที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงเท่านั้น) ต้องตรวจภายในปีละครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็ง ปากมดลูก ผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับยาต้านฮอร์โมน กลุ่มนี้ยาจะมีผลให้กระดูกบาง สามารถลดการเกิดกระดูกพรุน กระดูกหัก ด้วยการดื่มนม หรือรับประทานยาแคลเซียม ร่วมกับการออกกำลังกาย

ท่าบริหารเพื่อป้องกันไหล่ติด

    ท่าที่ 1. ยืนตัวตรง ยกแขนให้สุดแนบหูให้ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำอย่างน้อย 10 ครั้ง
    ท่าที่ 2. ยืนหันข้างผนัง ยกแขนให้สุดให้ลำตัวแขนแนบผนัง ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ อย่างน้อย 10 ครั้ง
    ท่าที่ 3. นอนราบไม่หนุนหมอน หรือยืดชิดผนัง มือ 2 ข้าง ประสานไว้ที่ท้ายทอยยืดแขนให้สูดพร้อมสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ทำค้างไว้ 5 วินาที งอข้อศอกเข้าหากันพร้อมหายใจออก ทำซ้ำอย่างน้อย 10 ครั้ง
    ท่าที่ 4. หมุนไหล่ทั้ง 2 ข้าง โดยยกมือ 2 ข้างแตะหัวไหล่ กางแขน 2 ข้าง ออกให้มากที่สุดพร้อมหมุนข้อศอกทั้ง 2 ข้างเป็นวงกลม โดย หมุนมาข้างหน้า 10 ครั้ง แล้วหมุนกลับ หลัง 10 ครั้ง
    ท่าที่ 5. กรณีที่แขนบวมตึง ยกแขนข้างที่บวมสูงขึ้น ใช้มืออีกข้างบีบไล่จากปลายมือลงมาถึงรักแร้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงเย็นจะ บวมมาก

 

 

พว.สุธีรา สิงห์เพชรส่อง
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล