กายภาพบำบัดในผู้ป่วยหลังการผ่าตัด

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยหลังการผ่าตัด
 

อ. พญ.พีรดา เอื้อเชิดกุล
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

       จากการศึกษาพบว่า หลังจากการผ่าตัดเต้านม หรือการผ่าตัดบริเวณรักแร้ คนไข้จะมีอาการปวด อาการชา หรืออาการไหล่ติด ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้ เช่น ไม่สามารถยกมือหวีผม ไม่สามารถไพล่มือไปข้างหลัง ติดสายเสื้อในไม่ได้ สวมเสื้อไม่ได้ รวมถึงการยกมือขึ้นสูง ก็ทำไม่ได้ ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

การออกกำลังกายหลังการผ่าตัด มีดังนี้

         1. การฝึกการหายใจ
         เนื่องจากหลังการผ่าตัด ปอดอาจยังขยายได้ไม่เต็มที่ จึงควรฝึกการหายใจ เพื่อให้ปอดสามารถรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

 

         1.1 วางมือบนหน้าท้อง 1 จุด และบนหน้าอกอีก 1 จุด
         1.2 ค่อย ๆ สูดหายใจเข้าลึก ๆ เอาลมหายใจเข้าท้อง จนท้องขยาย
         1.3 หลังจากนั้นอกขยาย ค้างไว้นิดนึงแล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ
         1.4 ทำ 5 ครั้ง ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง การฝึกการหายใจ สามารถฝึกได้เรื่อย ๆ และนำไปใช้ได้กับทุก ๆ การผ่าตัด

 

         2. การไอเพื่อขับเสมหะ

         เนื่องจากระหว่างที่ผ่าตัด คนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ อาจมีเสมหะ คนไข้ควรไอ เพื่อขับเสมหะ ซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดดีขึ้น โดยมีขั้นตอน ดังนี้
         2.1 นั่งหลังตรง โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
         2.2 เตรียมหมอนเล็ก ๆ หรือตุ๊กตา หรือผ้าห่มมาพับให้เป็นก้อน ๆ แล้วนำมาประคองบริเวณแผล เวลาไอ จะได้ไม่กระทบกระเทือนแผล
         2.3 หายใจเข้าลึก ๆ พยายามให้หายใจเข้าให้เต็มปอด
         2.4 เอามือประคองตัวหมอนหรือตัวผ้าตรงแผล
         2.5 หายใจออกไอจนกว่าเสมหะจะออกมา

 

         3. การลดอาการบวม มีขั้นตอนดังนี้
         3.1 นอนหงาย นำหมอนมาหนุนช่วงไหล่
         3.2 กำ-แบมือ 10 ครั้ง
         3.3 กระดกข้อมือขึ้น-ลง 10 ครั้ง
         3.4 งอ-เหยียดศอก 10 ครั้ง

 

         4. การลุกออกจากที่นอน มีขั้นตอน ดังนี้
         4.1 นอนชันเข่าทั้ง 2 ข้าง
         4.2 เอามือประคองแขนข้างที่ปวด เช่น ผ่าตัดข้างขวา ก็ประคองแขนขวาไว้ก่อน พลิกตัวไปทางด้านซ้าย ด้านขวาจะลอยอยู่ จึงไม่รู้สึกเจ็บ
         4.3 ค่อย ๆ เอาขาลงจากเตียงก่อนแล้วใช้แขนซ้ายดันตัวขึ้น
         4.4 ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาล อาจปรับเตียงขึ้น จะช่วยให้ลุกนั่งได้ง่ายขึ้น

 

 

         5. การออกกำลังกายท่าหนีบสะบัก มีขั้นตอนดังนี้
         5.1 นั่งหลังตรง
         5.2 หนีบให้สะบักเข้ามาหากัน จะเป็นการยืดเปิดอกมากขึ้น
         5.3 ทำ 5-10 ครั้ง 2-3 รอบต่อวัน

 

         6. การออกกำลังกายลดอาการไหล่ติด มีขั้นตอนดังนี้

         6.1 ยืดตัวตรง
         6.2 หมุนไหล่ ยกขึ้นแล้วค่อย ๆ ดันไปข้างหลังจนรู้สึกตึง
         6.3 ท่านอน ประสานมือไปด้วยกัน ยืดศอกตรงแล้วค่อย ๆ ยกขึ้น โดยไม่ต้องออกแรงข้างที่เจ็บ
         6.4 ท่านั่ง กางมือออกด้านข้างเท่าที่รู้สึกตึง
         6.5 ท่าไต่กำแพง หันหน้าเข้ากำแพง วางมือแตะกำแพง เหยียดศอกตรง ค่อยๆไต่มือขึ้นเท่าที่รู้สึกตึง
         6.6 ทำท่าละ 5-10 ครั้ง 2-3 รอบต่อวัน

 

 

         7. การนวด เพื่อลดการเกิดพังผืด มีขั้นตอนดังนี้
         7.1 นวดบริเวณแผลเป็น เมื่อหลังตัดไหมหรือแผลหายสนิทดีแล้ว โดยใช้ปลายนิ้ววางตรงแผล
         7.2 กดลงไปตรงแผลแล้วขยับเป็นวงกลม ซ้ายขวา หน้าหลัง ค่อย ๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ จนสุดความยาวของแผล นวดครั้งละ 5-10 นาที วันละ 2-3 รอบ

 

ในคนไข้บางรายอาจจะมีอาการปวดปลายประสาทบริเวณแผล แนะนำการแตะหรือนวดเบา ๆ บริเวณที่เจ็บ เพื่อลดความรู้สึกที่ไว ซึ่งจะช่วยคลายอาการลงได้

 

แหล่งข้อมูล
อ. พญ.พีรดา เอื้อเชิดกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล