มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวและอาจใกล้มากขึ้นในอนาคต

มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวและอาจใกล้มากขึ้นในอนาคต

 

“1 ในผู้โดยสารขบวนรถไฟฟ้าแน่นๆแบบชั่วโมงเร่งด่วน จะเป็นมะเร็งเต้านมภายใน 2 ปี”

         คำกล่าวนี้อาจทำให้บางคนเห็นภาพมากขึ้นว่ามะเร็งเต้านมใกล้ตัวเรามากเช่นไร ไม่ได้หมายความว่าขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วจะกลายเป็นมะเร็งนะครับ แต่จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ รถไฟฟ้า 1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสารได้ 1,490 คน คำนวณกลับโดยสมมุติว่าในรถนั้นมีหญิงและชายเท่าๆกันและเทียบกับอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงไทยที่ประมาณ 40-60 รายต่อประชากรเพศหญิง 100,000 ราย รู้สึกใกล้ชิดขึ้นบ้างรึยังครับ
 

         นอกจากอัตราการเกิดโรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากทุกปีเรายังพบว่าอัตราการเกิดโรคสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบของสังคมเมือง ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่สามารถให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ได้ ดังนั้นการดูแลตัวเองและได้รับการตรวจอย่างเหมาะสมคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
 

         อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยเหตุว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิง ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษาจึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนสามารถกล่าวได้ว่าปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่รักษาให้หายได้มากกว่า 60-70%เลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นมะเร็งเต้านมระยะแรกสามารถรักษาหายได้ถึง 80-90% เราจึงควรสร้างความตระหนักให้ผู้หญิงบางส่วนเปลี่ยนทัศนคติจากความกลัวว่าตรวจแล้วจะพบโรคมะเร็ง เป็นตรวจเพื่อหาโรคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นมะเร็ง ถ้าได้จัดการเสียก่อนผลการรักษาย่อมดีกว่ารอไปรักษามะเร็งอย่างชนิดเทียบหน้ามือกับหลังมือเลยทีเดียว
 

         ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญข้อหนึ่งของการเป็นมะเร็งเต้านม แต่พบว่ามีเพียงประมาณ 10-15% เท่านั้นที่จะพบว่ามีประวัติครอบครัวเคยเป็นมาก่อน เพราะนอกจากพันธุกรรมแล้ว ผู้ป่วยอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้อีกนอกเหนือจากเรื่องเพศหญิงและอายุที่มากขึ้น เช่น ประวัติประจำเดือนมาเร็ว (ก่อนอายุ 12 ปี ), ประจำเดือนหมดช้า (หลังอายุ 55 ปี), มีลูกช้า (หลังอายุ 30 ปี), น้ำหนักเกิน, สูบบุหรี่ดื่มสุรา, ฮอร์โมนภายนอก, อาหารและสารเคมี อื่นๆอีกมากมายชนิดอ่านแล้วไม่อยากออกไปนอกบ้านเลยทีเดียวในเมื่อปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมได้ เช่นมีบุตรช้า ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งนอกจากดูแลสุขภาพตัวเอง กินอาหารให้ครบ5หมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ บลาบลาบลา ก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
 

         เมื่อไหร่ก็ตามที่พบความผิดปกติในเต้านม ได้แก่ คลำพบก้อน มีน้ำไหลออกทางหัวนม เต้านมผิดรูป ควรพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค

นพ.ภัทรเชษฐ คล้ายเคลื่อน
รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา
หน่วยศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี