มะเร็งปอด กับการผ่าตัด

มะเร็งปอดกับการผ่าตัด (โดย นพ.สยาม ค้าเจริญ) 

 

การผ่าตัดมะเร็งปอด
 

         การผ่าตัดนั้น มีบทบาทสำคัญในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งปอดทั้งในด้านการให้การวินิจฉัย การรักษา และการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง

         "การวินิจฉัย" เมื่อผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติของภาพถ่ายรังสีที่สงสัยว่าอาจเกิดจากมะเร็ง ขั้นตอนต่อไปคือต้องได้รับการพิสูจน์ชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันคำวินิจฉัย โดยอาจกระทำได้ด้วยการใช้เข็มเจาะตรวจชิ้นเนื้อจากผนังทรวงอก หรือการส่องกล้องทางเดินหายใจเพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ในกรณีที่หัตถการทั้ง 2 อย่างนั้นทำไม่ได้ เช่น ก้อนเนื้องอกอยู่ลึก อยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงอันตราย หรือทำไปแล้วแต่ไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้เพราะชิ้นเนื้อที่ตัดออกมามีขนาดเล็กเกินไป การผ่าตัดทรวงอกเพื่อการวินิจฉัยสามารถทำได้ โดยมีแผลผ่าตัดแผลเล็กๆ บนทรวงอก ตัดเนื้อปอดพร้อมทั้งก้อนเนื้องอกออกมาเป็นรูปลิ่ม วิธีนี้สามารถให้คำวินิจฉัยได้ถูกต้องแม่นยำ เพราะได้ชิ้นเนื้อขนาดใหญ่

         "การรักษา" ในโรคมะเร็งปอดระยะที่ 1, 2 และในบางกรณีของระยะที่ 3 นั้น การผ่าตัดปอดที่มีมะเร็งออกทั้งกลีบ รวมทั้งการตัดต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก สามารถช่วยให้มีผลกลีบการรักษาที่ดีขึ้นอัตราการรอดชีวิตยาวนานขึ้น

         "การแก้ไขภาวะแทรกซ้อน" โรคมะเร็งปอดนั้น อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้นได้เช่น การไอเป็นเลือดรุนแรง การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ฝีในปอด ปอดแตก หรือน้ำท่วมปอดซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

         "ชนิดของการผ่าตัด" 

  • ตัดปอดแบบลิ่ม (wedge resection) เป็นการตัดเนื้องอกพร้อมกับเนื้อปอดข้างเคียงออกเป็นรูปลิ่ม
  • ตัดปอดแบบลิ่ม (wedge resection) เป็นการตัดปอดที่มีเนื้องอกออกทั้งกลีบ
  • ตัดปอดทั้งข้าง (pneumonectomy) เป็นการผ่าตัดปอดออกทั้งข้าง

         

"ชนิดของแผลผ่าตัด" แผลผ่าตัดแบบมาตรฐาน (standard thoracotomy) แผลผ่าตัดยาวประมาณ 20-25 ซม. บริเวณด้านหลังใต้กระดูกสะบักยาวไปตามช่องซี่โครงอ้อมไปด้านหน้าใต้ราวนม  เป็นแผลมาตรฐานที่สามารถผ่าตัดปอดได้ทุกชนิด ใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ กดเบียดอวัยวะข้างเคียงที่สำคัญ หรือมีพังผืดในช่องปอดมากๆผ่าตัดปอดแผลเล็กโดยใช้กล้องวิดิทัศน์ช่วยผ่าตัด (Videoassistedthoracoscopic surgery; VATS) แผลผ่าตัดขนาดเล็กยาวประมาณ 3-10 ซม. และมีรูเล็กๆ ขนาด 1 ซม. อีก 1-3 รู เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเลือกใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกขนาดไม่ใหญ่มาก และไม่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง ช่วยให้ปวดแผลน้อยลง ผู้ป่วยฟื้นตัวไวขึ้น หลีกเลี่ยงแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ และผลการรักษามะเร็งไม่ต่างจากแผลมาตรฐาน

"การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด" โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดี สามารถทนต่อการตัดปอดออกทั้งข้างได้ แต่ในรายที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรง ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัด และคำนวนหาปริมาตรปอดที่สามารถตัดออกได้อย่างปลอดภัยผู้ป่วยควรได้รับการฝึกกายภาพบำบัด การฝึกไอ ฝึกหายใจ ตั้งแต่ก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวรวดเร็วยิ่งขึ้นการผ่าตัดปอดโดยส่วนใหญ่ เสียเลือดไม่มากนัก แต่ในบางรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด 1-2 ยูนิต ดังนั้นผู้ป่วยควรเตรียมญาติมาบริจาคโลหิตไว้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เพื่อใช้หากจำเป็น

         "การนอนโรงพยาบาลและการพักฟื้นหลังผ่าตัด" ผู้ป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1 วัน เพื่อเตรียมตัว งดอาหารและน้ำดื่ม 8 ชม. ก่อนดมยาสลบ การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2-4 ชม.หลังผ่าตัด จะมีสายระบายทรวงอกเพื่อใช้ระบายน้ำ เลือด และลมที่อาจมีรั่วซึมออกมาหลังผ่าตัดได้ จากนั้นใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลต่ออีก 2-5 วัน ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ หลังจากพักผ่อนหลีกเลี่ยงการออกแรงหนัก 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติดังเดิม

         "ผ่าตัดเจ็บหรือไม่ เสี่ยงแค่ไหน ?" แผลผ่าตัดบริเวณทรวงอกนั้น ต้องขยับเขยื้อนระหว่างการหายใจตลอดเวลา ดังนั้นจึงเจ็บกว่าแผลผ่าตัดบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย แต่หากสามารถเลือกใช้การผ่าตัดแผลเล็กได้ ร่วมกับการใช้เครื่องบริหารยาระงับปวดด้วยตนเอง (PCA) หรือการฉีดยาชาในช่องเยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (Epidural block) ก็สามารถบรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดีและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วความเสี่ยงในการผ่าตัด ต้องประเมินตามสภาพร่างกาย ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก ปริมาตรของเนื้อปอดที่เหลืออยู่หลังผ่าตัดของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นรายๆ ไป โดยทั่วไปอัตราการตายต่ำกว่า 1 ใน 100
การผ่าตัดปอดเพื่อรักษามะเร็งนั้น ไม่ได้น่ากลัวหรืออันตรายอย่างที่หลายคนกังวล อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงในการรักษามะเร็งปอดระยะต้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับไปมีชีวิตที่ปกติดังเดิมได้อย่างรวดเร็ว