คำถามที่พบบ่อย

 

Q1  :       

จะได้เตียงวันไหน ?

A1  :        เนื่องจากโรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยมาใช้บริการจำนวนมาก แต่เตียงนอนมีจำนวนจำกัด เราจึงมีการบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยได้เข้านอนโรงพยาบาลได้เร็วที่สุด โดยมีการตรวจสอบเตียงว่างทุกวัน เพื่อบริหารจัดการเตียงตามลำดับการจอง พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเร่งด่วนของผู้ป่วยแต่ละราย โดยกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 7 วันหลังจากวันจอง มีการโทรแจ้งผู้ป่วยล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมความพร้อมสำหรับการมานอนโรงพยาบาล ในกรณีที่มีเตียงว่างเพิ่มเติมระหว่างวัน เพื่อลดการสูญเสียเตียงโดยเปล่าประโยชน์ จะโทรติดต่อ ผู้ป่วยที่มีความพร้อม และสามารถเดินทางมาได้สะดวกรวดเร็ว ให้เข้านอนโรงพยาบาลโดยทันท่วงที
   

Q2  :       

อยากมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้องทำอย่างไร?
A2  :        ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลอื่นมาแล้ว ควรนำเอกสารมาติดต่อดังนี้
   - ใบสรุปประวัติการรักษาจากแพทย์โรงพยาบาลเดิม
   - ผลอ่านชิ้นเนื้อ ( บล็อคไสลด์ชิ้นเนื้อ ถ้ามี )
   - ผลอ่าน พร้อม ฟิล์ม X-Ray Computer ( CT, MRI etc. )
   - ผลเลือด (ถ้ามี)
   - ยาที่ใช้ปัจจุบัน (ถ้ามี)
         1. ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติและยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
         2.  หากต้องการตรวจสุขภาพคัดกรองหรือค้นหามะเร็งให้ไปนัดตรวจที่แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว หรือ แผนกตรวจสุขภาพพรีเมี่ยม
   

Q3  :       

กรณีมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการผิดปกติขณะรับการรักษาจะทำอย่างไร ?
A3  :           - สามารถโทรสอบถามหน่วยประสานงานผู้ป่วยโรคมะเร็งในเวลาราชการ
   - หากมีอาการผิดปกติเร่งด่วนนอกเวลาราชการ ให้ไปรับการตรวจรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
 

Q4  :       

ถ้าต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีค่าใช้จ่ายสูงของกรมบัญชีกลาง ยาจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ?
A4  :           เราจะรวบรวมข้อมูลส่งไปที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งใช้เวลาในการรออนุมัติยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากตรงตามข้อบ่งชี้สามารถใช้ยาได้ เราจะแจ้งให้ท่านทราบพร้อมทั้งให้สมุดบันทึกระยะเวลาอนุมัติใช้ยา
   - หากประเมินพบว่ามีการตอบสนองต่อการรักษา จะได้รับการต่ออายุยาทุก 3 เดือน
 

Q4  :       

ข้อบ่งใช้โดยสังเขปของยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีค่าใช้จ่ายสูงมีอะไรบ้าง ?
         ในผู้ป่วยสิทธิ ข้าราชการกรมบัญชีกลาง / ข้าราชการอปท. มีข้อบ่งใช้ยา 6 ชนิดโดยสังเขปดังต่อไปนี้
 
A4  :           1.ยา Gefitinib หรือ Erlotinib ใช้ในมะเร็งปอด (ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก) ระยะแพร่กระจาย สามารถใช้เป็นการรักษาในขนานที่ 3 เมื่อไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหากผู้ป่วยมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป สามารถเป็นการใช้รักษาเป็นยาขนานที่ 2 เมื่อไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและ ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายเหมาะสม
 
     2. ยา Bevacizumab ใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่ากระจาย โดยสามารถให้เป็นยาขนานแรกร่วมกับยาเคมีบำบัดได้
 
     3.ยา Trastuzumab ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมชนิด HER-2 เป็นผลบวก
     - หากเป็นระยะแพร่กระจายสามารถให้เป็นยาขนานแรกร่วมกับยาเคมีบำบัดโดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
   - ผู้ป่วยที่เคยตอบสนองต่อ Trastuzumab ร่วมกับยาเคมีบำบัดและหยุดยาทั้งหมดไปแล้วเนื่องจากการรักษาครบสามารถกลับเข้ามาลงทะเบียนเพื่อขออนุมัติการใช้ยาใหม่ได้เมื่อมีการกลับคืนของโรคอีก โดยระยะการกลับคืนของโรดคต้องมากกว่า 1 ปี หลังจากได้หยุดยา Trastuzumab
   - หากเป็นระยะเริ่มต้น ต้องมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ด้วย
   - หากเป็นระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ก้อนมะเร็งต้องมีขนาดตั้งแต่ 2 ซม. ขึ้นไป และ ต้องมีผลย้อมฮอร์โมน (ER และ PR) เป็นลบทั้งหมด
 
     4.ยา Imatinib ใช้ในการรักษามะเร็งจิสต์ gastrointestinal stromal tumor (GIST) ระยะแพร่กระจายหรือโรคที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้
     - ต้องมีการตรวจผลชิ้นเนื้อ (ย้อมสีพิเศษด้วย KIT (CD117) ที่ให้ผลเป็นบวก)
 
     5.ยา Imatinib สามารถใช้เป็นยาขนานแรกในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronicmyeloid) leukaemia (CML)) ที่มีการตรวจพบ Philadelphia-chromosome หรือ BCR-Abl fusion gene product โดย RT-PCR หรือ Chromosome FISH
 
     6.ยาRituximabใช้ได้ผลเฉพาะผู้ป่วย Lympoma B cell type ที่มี CD-20เป็นผลบวก ต้องตรวจ CD-20ในผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยานี้ก่อนทุกราย หากไม่มีการตรวจย้อม CD-20 หรือตรวจพบว่า CD-20 negative ไม่สามารถใช้ยานี้ได้ ในผู้ป่วยสิทธิ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า / ประกันสังคม มีข้อบ่งใช้ยา 1 ชนิดโดยสังเขปดังต่อไปนี้ A4.7.ยา Trastuzumab ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมชนิด HER-2 เป็นผลบวก เฉพาะระยะเริ่มต้นที่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เท่านั้น
 
     7.ยา Trastuzumab ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมชนิด HER-2 เป็นผลบวกเฉพาะระยะเริ่มต้นที่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เท่านั้น