โรคมะเร็งเต้านม (การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม)

โรคมะเร็งเต้านม (โดย รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา) 

การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมอย่างเดียวเพียงพอแล้วหรือ?

         เป็นที่ทราบกันดีในแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเต้านมว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอล แมมโมแกรม (Digital Mammogram) โดยส่วนใหญ่มักมีความคาดหวังว่าจะมีความแม่นยำสูงถึง100 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า...

         ความแม่นยำของการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมนั้น มีปัจจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างโดยเฉพาะ อย่างยิ่งความหนาแน่นของเนื้อเต้านมซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความแม่นยำนั้นลดลง  นอกเหนือจากนี้ยังมี  ในกรณีที่ผู้หญิงมีรอยผื่นบริเวณหัวนม (ดังรูป)  ซึ่งมักคิดว่าเกิดจากผื่นแพ้ เมื่อตรวจด้วยเครื่องดิจิตอล แมมโมแกรม อาจไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผื่นแพ้ที่เห็นนั้นเป็นรอยโรคของมะเร็งในระยะเริ่มแรก   ซึ่งจะรู้ผลโดยการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทาง

 

ภาพนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

         

         หรืออีกปัจจัยหนึ่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำใส ๆ หรือเลือดซึมออกจากหัวนมซึ่งเป็นอาการนำของโรคมะเร็งเต้านม  แต่การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมอาจจะมองไม่เห็นเท่าการตรวจร่างกายจากแพทย์ร่วมด้วย
         และในผู้ป่วยที่พบว่ามีก้อนอยู่บริเวณขอบฐานของเต้านมซึ่งสามารถคลำได้เอง การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมอาจจะหนีบไม่ถึงก้อนเนื้อนั้น และไม่สามารถดึงเต้านมให้เข้ามาอยู่ในฟิล์มได้ เนื่องจากก้อนเนื้อบางตำแหน่งอยู่ด้านในมากๆ หรืออยู่บริเวณขอบของฐานเต้านมมากๆ เป็นต้น

         สรุปได้ว่าการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมนั้นเป็นวิทยาการทางการรักษาที่ช่วยในการตรวจคัดกรอง ค้นหามะเร็งเต้านมได้จริง   หากแต่ความแม่นยำในผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว  เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ ควรตรวจร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง และอัลตราซาวด์ ก็จะเพิ่มความแม่นยำ และมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น 

         ปัจจุบันผู้หญิงไทยยังคงมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านม ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องดิจิตอล แมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ พร้อมตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง ปีละ 1 ครั้ง  หากมีอาการน่าสงสัยควรตรวจทุกๆ 6 เดือน ในกรณีที่มีความผิดปกติแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อไป  มะเร็งเต้านมรักษาได้ หากพบแต่เนิ่นๆ นะครับ