ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ

 

ความโดดเด่นในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในช่วงที่เป็นคณบดี

                            หลังจากที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ ไปฝึกทางด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2506 อาจารย์ได้ทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 – 2508 และใน พ.ศ. 2508 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกัน พร้อมด้วย นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์พัชรีสาณ ชุมพล ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติและเพื่อนๆ ได้มีการปรึกษากันเกือบทุกวันเพื่อตั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ พยาบาล ห้องเรียน

                            การตั้งโรงเรียนแพทย์เป็นไปได้รวดเร็วดี หาผู้ร่วมงานได้มากพอสมควร มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานชื่อรามาธิบดีให้เมื่อ เดือนมิถุนายน 2508 มีหน้าที่ 2 หน้าที่เท่านั้น หน้าที่แรกคือ เรื่องการศึกษา และเรื่องกิจการโรงพยาบาลรามาธิบดี ในส่วนเรื่องการศึกษานั้น ให้จัดการศึกษา จัดตั้งแผนก ภาควิชา หน้าที่ที่ 2 คือเรื่องโรงเรียนพยาบาล ผลิตพยาบาล อนามัยผดุงครรภ์และพนักงานวิทยาศาสตร์

                            ในด้านการเรียนการสอนนั้นมีแนวคิดเน้นไปทางด้านวิชาการ และให้มีด้านอนามัยชุมชนในขั้นพื้นฐาน โดยคณะฯ ได้จัดตั้งโครงการหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชน และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ส่ง Dr. John Bryant ที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ มาแนะแนวทาง มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เปรม บุรี เข้าร่วมดำเนินการโครงการฯ

 

การก่อตั้งมูลนิธิรามาธิบดีและการย้ายศาลกรมหลวงชุมพร

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ เล่าว่าในระยะแรกของการก่อตั้งคณะฯ การจัดหางบประมาณยากมาก ทีมผู้บริหารจึงคิดตั้งมูลนิธิรามาธิบดีโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของคณะฯ ทั้งการศึกษา การดูแลรักษาผู้ป่วยในและนอกโรงพยาบาล อาจารย์ได้รับมอบหมายให้ศึกษาการจัดตั้งมูลนิธิฯ ผลสรุปว่ามีกรรมการมูลนิธิรามาธิบดี โดยคณบดีควรสวมหมวก 2 ใบ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯด้วยซึ่งจะได้รับทราบความต้องการของทุกภาควิชาเพื่อเสนอกรรมการ มีการระดมทุน ประชุมสองเดือนครั้ง อาจารย์ได้เชิญคุณนงนุช ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังสกาล่า เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และได้เชิญ หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา เป็นประธาน ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ช่วยเรื่องการดำเนินงานของคณะฯ ได้มาก โดยมอบเงินส่วนหนึ่งก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น อาคารออร์โธปิดิกส์ อาคารจอดรถ เป็นต้น

                           ในการย้ายศาลกรมหลวงชุมพรนั้นอาจารย์เล่าว่า เดิมเป็นศาลพระภูมิตั้งอยู่ที่มุมรั้วด้านหน้าคณะฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องสร้างอาคารจอดรถแต่ไม่มีพิธีการที่จะย้ายศาลจึงมีการเข้าฝัน ดังนั้นรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ ผู้อำนวยการในสมัยนั้นจึงให้ทำพิธีเข้าทรงและทราบว่าเป็นกรมหลวงชุมพรซึ่งเป็นเทพสถิตอยู่ และเชิญพราหมณ์มาย้ายศาลให้ตั้งตรงข้ามหอพักแพทย์จนทุกวันนี้

 

งบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียนรวมและการดำเนินงานห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและประวัติพระพุทธรังสี

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รจิต บุรี ของบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนรวม (อาคารบริหาร) ไว้แล้ว เป็นอาคารสูง 9 ชั้น แต่มีข้อห้ามก่อสร้างอาคารใกล้พระราชฐาน สูงเกิน 12 เมตร แม้ว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ ต้องการสร้างอาคารนี้เพื่อรองรับการเรียนการสอนและเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่าง ๆ คือ ศึกษาศาสตร์ ห้องสมุด ก็ตามแต่ก็ยังไม่ได้สร้าง อาจารย์ขอชะลองบประมาณเดิมไว้ 3 ปี จำนวน 50 ล้านบาท และได้ก่อสร้างในช่วงที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคณบดีและสูงได้เกิน 12 เมตร นอกจากนั้นอาจารย์ยังได้ปรับปรุงอาคารโรงเรียนพยาบาลซึ่งเดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมโล่งตรงกลาง โดยสร้างห้องเรียนตรงที่โล่งสูง 12 ชั้น

                           ในส่วนประวัติพระพุทธรังสีนั้น หลวงพ่อขอม วัดไผ่ล้อม (ปัจจุบันเป็นวัดไผ่โรงวัว) จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ป่วยหนัก นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีได้ขอให้นิมนต์มารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนานสองสัปดาห์ เมื่อหลวงพ่อขอมหายป่วยได้มอบพระพุทธรูปให้อาจารย์ 1 องค์ ขนาดสูงเท่าศอก โดยอาจารย์นำไปบูชาที่แผนกรังสีและได้ขอตั้งชื่อว่าพระพุทธรังสีซึ่งหลวงพ่อขอมเห็นด้วย

 

การก่อตั้งภาควิชารังสีวิทยา

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในสมัยแรกยังเป็นแผนกรังสีรวมถึงแผนกวินิจฉัย แผนกรักษา (Nuclear Medicine) โชคดีที่คณะฯ เป็นคณะแพทย์ใหม่และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี เก่งมากที่ทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าใจจุดประสงค์ของคณะฯ ในด้านความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ เช่น แผนกรังสีต้องทันสมัยที่สุด จึงอนุมัติให้จัดหาเครื่องฉีดสีเข้าเส้นเลือดในสมอง ได้ถึง 6 - 7 เครื่อง ซึ่งยังไม่เคยมีที่โรงพยาบาลอื่น ๆ

 

การบริหารและการศึกษาในสมัยเป็นคณบดี

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ เล่าว่าในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น มีพระราชกฤษฎีกา ระบุเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1 จัดการศึกษาของฝ่ายแพทยศาสตร์ และฝ่ายโรงเรียนพยาบาล 2 ดำเนินกิจการโรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งทีมบริหารและทีมผู้บุกเบิกได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนได้ถึง 45 - 47 หลักสูตร

                            อาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชารังสี ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2528 ในขณะเดียวกันได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี ในพ.ศ. 2525 และมีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคต่อมา ดังนี้ ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงสุวัธนา นนทะสุต พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532 รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงบุญช่วย สถาปัตยวงศ์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2536 ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2543 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงลักษณา โพชนุกูล พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2550 และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา พ.ศ.2550 – 2554 (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ แดงประเสริฐ พ.ศ. 2554 - 2562 และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน)

 

หลักการในการทำงานและการก่อสร้าง อาคารเรียนรวม

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ มีหลักการในการทำงาน โดยการร่วมปรึกษาและแก้ปัญหากับหัวหน้าแผนกต่างๆ ซึ่งมีจุดหมายเดียวกันในการบริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีโดยให้การสนับสนุนเต็มที่ อีกทั้งอาจารย์มอบอำนาจอย่างเต็มที่ให้แก่ทีมบริหารคณะฯที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ อาจารย์ทำงานเป็นทีม ในช่วงที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งคณบดีนั้นสามารถเก็บเงินสะสมให้คณะฯ ได้ถึง 200 กว่าล้านบาท

                            ในการก่อสร้างอาคารเรียนรวมนั้น ถึงแม้ว่าอาจารย์ประมูลไปแล้วก็ตามแต่ไม่สามารถขออนุมัติให้ก่อสร้างอาคารในเขตพระราชฐานเกินตามเกณฑ์ของระเบียบได้ โดยอาคารที่สร้างห้ามมีความสูงเกิน 12 เมตร ซึ่งมีอาณาเขตนับตั้งแต่เส้นแบ่งขีดกลางถนนเส้นพระราม 6 เข้ามาทางพระราชจิตรลดา

 

การช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ ให้ความเห็นว่าผู้บริหารในอดีตมีความสัมพันธ์กับผู้บริหารสำคัญในหน่วยงานราชการอื่น ๆ จึงช่วยให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเจริญขึ้นมาทุกวันนี้ โดยทุกคนทำด้วยความจริงใจ

 

การแก้ปัญหาที่ ENT

                            ในเรื่องของกรณีเรื่องผ่าตัดต่อมไทรอยด์นั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ ให้ความเห็นว่าทุกคนทำเพื่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำด้วยใจและอยู่ในหลักสูตรเหมือนกัน

 

เพิ่มเติมประเด็นอื่น ๆ

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ มีความเห็นว่า บุคลากรรุ่นหลังทุกคนมีความสามารถที่ทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีชื่อเสียงขึ้นมากและรวดเร็ว

 

ความคิดเห็นในการจัดตั้งโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ มีความเห็นในเรื่อง ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ว่าคณะฯ เคยมีการคิดกันแต่หาพื้นที่ไม่ได้เป็นงานที่ต้องทุ่มเท ดังนั้นจึงนับว่าดีมากและเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหอฯ ให้พยายามหาเงินและผู้สนับสนุน ซึ่งอาจารย์จะช่วยติดต่อสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาล สมาคมวิชาชีพเช่น สมาคมรังสีเทคนิค เพื่อให้หอฯ เจริญเติบโตต่อไป

 

การร่วมงานกับเวชศาสตร์ชุมชน

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ มีโอกาสร่วมกับโครงการเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเดินทางไปบ้างแต่ไปให้ความรู้การป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ชุมชน(Radiology Protection) เพราะโรงพยาบาลต่างๆ มีการจัดหาเครื่องเอกซเรย์กันง่ายขึ้นแต่อาจมีอันตรายถ้าไม่เรียนรู้การป้องกันรังสี และการตระหนักถึงเรื่องนี้อาจารย์ได้เพิ่มความรู้ทางนี้(Radiology Protection) ในหลักสูตรโรงเรียนบริหารโรงพยาบาลของคณะฯ ซึ่งมีผู้อำนวยการจากโรงพยาบาลจากชุมชนมาเรียนกันมาก

 

โรงเรียนผู้บริหารโรงพยาบาลและโรงเรียนรังสีเทคนิคร่วมกับ WHO

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ เล่าว่าโรงเรียนผู้บริหารโรงพยาบาลมีมาตั้งแต่สมัยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฏ์ พิชัยสนิธ ผู้อำนวยการคนที่ 2 ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ไปศึกษาทางด้านนี้และเห็นความจำเป็นสำหรับผู้อำนวยการที่เป็นแพทย์ควรมีความรู้ทางด้านบริหารด้วย

                            สิ่งที่น่าภูมิใจ คือการตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค โดยการสนับสนุนจาก W H O ซึ่ง WHO ชื่นชมในความสำเร็จมาก เป็นหลักสูตร 2 ปี นักเรียนมาจากต่างจังหวัด ปีแรกรับนักเรียนจำนวน 50 คน ในการเรียนนั้น ปี 1 ต้องเรียน Anatomy Physiology และ ปี 2 เป็นปฏิบัติ หลักสูตรนี้มีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจารย์นำมาดัดแปลง แต่ปัจจุบันปิดหลักสูตรนี้แล้ว